ช่วยตัวเราเองก่อนแล้วคนอื่นก็จะมาช่วยเรา
 
     
 
"ยี่สาร"สรรค์ค่า อาบป่าชายเลน
หวนคิดถึงชีวิตวัยเด็กที่บ้านเกิด ให้รู้สึกซึ้งเหลือเกินกับ ..."ยี่สาร"สรรค์ค่า อาบป่าชายเลน... ความสุขที่อยากกลับไปสัมผัสอีกครั้ง...
 

.นานเหลือเกินเหินห่างร้าง"ยี่สาร"
ทนทำงานเคร่งเครียดไปในเมืองหลวง
เจอเล่ห์เหลี่ยมเหลือล้นเหล่าคนลวง
เลวทั้งปวงสิ่งแวดล้อมพร้อมพิษหนัก 

.หวนความหลังครั้งเด็กมาสนานสนุก
มีความสุขในถิ่นฐานบ้านที่รัก
พร้อมพ่อแม่ญาติพี่น้องปรองดองนัก
พาใฝ่ภักดิ์ป่าชายเลนเน้นทรงจำ 

.พายเรือน้อยลอยล่องท่องชมป่า
ชอุ่มตาหลากพรรณไม้ให้เลิศล้ำ
แข่งสีสันผันรูปทรงพงสูงต่ำ
เหล่าสัตว์น้ำดำว่ายเล่นเห็นเพลินใจ 

.แว่วนกกายินหลายหมู่ดังกู่ก้อง
ชะนีร้องปองคู่เคียงสำเนียงใส
ประสานเสียงสัตว์หน้าดินอยู่กินไป
ดนตรีไพรกล่อมอารมณ์สายลมโชย 

.ฟุ้งหอมหวลมวลพฤกษาป่าชายเลน
กล้วยไม้เด่นลอยลมมาพาใจโหย
แดด-น้ำ-ดินเคล้ากลิ่นให้คลายอ่อนโรย
ฝนปรายโปรยได้สูดดมชื่นชมพา 

.อากาศเย็นลมละลิ่วต้องผิวเนื้อ
คลื่นพายเรือน้ำกระจายพลิ้วใส่หน้า
ใต้ร่มไม้ให้ร่มรื่นชื่นอุรา
ทอดกายาสัมผัสน้ำชุ่มฉ่ำไป 

.หมู่ต้นจากออกผลรอบโคนเกลื่อน
กระตุ้นเตือนคว้ามีดมาเตรียมท่าไว้
ผ่าลูกปลิ้นกินเนื้อหวานสำราญใจ
อร่อยนักอยากชวนใครได้ลิ้มลอง 

.อีกไม่นานคิดการณ์ไว้ได้สมจิต
ใช้ชีวิตคืน"ยี่สาร"บ้านหอห้อง
สู่ความสุขสิ่งเคยมีที่หมายปอง
ถิ่นแม่กลองคลองเลอค่าป่าชายเลน

 

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com

แรงดลใจ:เมื่อ 13 กรกฎาคม 2564 ได้เข้าร่วมเสวนาออนไลน์ เรื่อง "แนวทางการพัฒนารูปแบบการอาบป่าในบริบทของการท่องเที่ยวในประเทศไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมข้อมูลโครงการวิจัย ที่รศ.บำเพ็ญ เขียวหวานและตัวเองได้รับเกียรติให้เป็นที่ปรีกษา มีนักวิจัยประกอบด้วย รศ. ดร.รชพร จันทร์สว่าง อ.ดร.สุธิดา มณีอเนกคุณ และอ.ดร.รสิกา อังกูร จาก มสธ. และคุณทิพวัน ถือคำ จากภาคเอกชน การวิจัยครั้งนี้ได้รับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยวิชาการ ประจำปี 2563 ของ มสธ. โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ1)เพื่อวิเคราะห์ความหมายและคุณค่าของการอาบป่าที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว 2)เพื่อถอดบทเรียนและพัฒนารูปแบบการอาบป่าเพื่อการท่องเที่ยว และ 3)เพื่อเสนอแนะแนวทางส่งเสริมรูปแบบการอาบป่าเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทย

การเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ"อาบป่า(Forest Bathing)"เกินการคาดคิด โดยครั้งแรกตั้งเป้าหมายเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ไว้เพียง 30 ท่าน แต่พอถึงวันจริงมีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณเกือบ 100 คน จากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนจากหลายชุมชน ที่ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันมีคุณค่าอย่างมากมาย ที่นักวิจัยกำลังเร่งรีบนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อตอบวัตถุประสงค์การวิจัยที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เมื่องานวิจัยแล้วเสร็จ น่าจะได้มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพื่อผู้ที่สนใจที่มีจำนวนมากได้นำไปพิจารณาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม เนื่องจากองค์ความรู้ทางด้านการอาบป่าในประเทศไทยยังค่อนข้างมีจำกัด ด้วยเป็นช่วงเริ่มต้นดำเนินการในบ้านเราเมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว คนไทยเรามีประสบการณ์ในการอาบป่ามานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจัง จนเมื่อแนวคิดนี้เริ่มขยายตัวมากขึ้น จึงมีผู้ตื่นตัวขึ้นบ้าง จากประสบการณ์ของตัวเองเนื่องจากเรียนและทำงานด้านป่าไม้มากว่า 40 ปี คิดว่าเคยได้รับความสุขผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า คือมองเห็น ฟังเสียง ดมกลิ่น ผิวสัมผัส และการกิน จากองค์ประกอบของระบบนิเวศป่าไม้ในหลายท้องถิ่นอย่างมากมาย เมื่อครั้งแรกได้ยินคำว่าอาบป่านี้ได้ทบทวนและตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้มากยิ่งขึ้น เคยพยายามใช้คำว่า"เสพป่า"เพราะเห็นว่าน่าสื่อสารและครอบคลุมความหมายได้ดีกว่า แต่ได้รับการยอมรับในวงแคบ ผลพวงจากการเสวนาน่าทำให้กิจกรรมด้านการอาบป่าขยายตัวมากยิ่งขึ้น กับทั้งทำให้หวนคิดถึงตัวเองที่ใฝ่ฝันถึงบรรยากาศอันมีความสุขจากระบบนิเวศป่าชายเลนมาแต่แรกเกิดทีเดียว ที่บ้านยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม



Last updated: 2021-07-17 07:38:06


@ "ยี่สาร"สรรค์ค่า อาบป่าชายเลน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ "ยี่สาร"สรรค์ค่า อาบป่าชายเลน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
603

Your IP-Address: 3.88.60.5/ Users: 
602