ไม่มีอะไรยากเกินไป หากเราคิดว่าเราทำได้
 
     
 
ป่าชุมชนควรมีเนื้อที่เท่าไร?
แทนที่จะมาคำนึงแต่การจำกัดการใช้ประโยชน์ในรูปแบบป่าชุมชนแล้วกันคนออกไปเพื่อประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์นั้น น่าจะหันมาพิจารณาจัดการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมผสมผสานในแต่ละลุ่มน้ำ มีทั้งป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจผสมผสานกันไปจะดีกว่า
 

เนื้อที่ของป่ากลายมาเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันเพื่อหาข้อยุติกันอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารป่าไม้ยึดเอาพื้นที่ตามนโยบายป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศมาเป็นเป้าหมาย โดยเป็นป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 หรือ  81 ล้านไร่ ซึ่งในปัจจุบัน(ปี 2556) มีอยู่ 65 ล้านไร่ (ขาดไปเท่ากับ 16 ล้านไร่จึงจะครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้) จึงพยายามหาพื้นที่ป่าส่วนอื่น ๆ ที่สมบูรณ์มาประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ให้ครบ

อย่างไรก็ดี มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นจำนวนมากที่ได้รับการประกาศเป็นป่าชุมชน จึงได้รับการโต้แย้งถึงเหตุผลของการรักษาป่าที่ผ่านมานั้น ป่าเสื่อมโทรมในอดีตได้ฟื้นฟูขึ้นมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ด้วยการดูแลของชุมชน หรือว่าป่าได้ฟื้นฟูสมบูรณ์ได้ด้วยตัวของป่าเองแล้วชุมชนมาใช้ประโยชน์จากป่านั้น  หากเป็นประเด็นแรก จึงมีคำถามติดตามมาว่าควรแล้วหรือ? ที่จะนำป่าสมบูรณ์ซึ่งชุมชนช่วยกันดูแลรักษามาประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์แล้วจำกัดการใช้ประโยชน์ อย่างนี้ เท่ากับชุมชน “ทำคุณบูชาโทษ” หรือแม้ในประเด็นที่สอง การใช้ประโยชน์ป่าแล้วยังทำให้ป่าสมบูรณ์ขึ้นด้วยวิธีที่ยั่งยืน กลับถูกจำกัดพื้นที่การใช้ประโยชน์ให้ลดลง

 ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “ป่าชุมชนควรจะมีเนื้อที่เท่าใดจึงเหมาะสม เพื่อจะได้นำเอาพื้นที่ส่วนเกินมาประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ให้ครบตามเป้าหมาย ซึ่งสามารถหยิบยกเป็นข้อ ๆ เพื่อพิจารณาต่อไปได้ดังต่อไปนี้

  1. การจำแนกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจ เป็นคนละประเด็นกับการเป็นป่าชุมชน การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ควรสอดคล้องกับหลักการจำแนกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ทรัพยากรชีวภาพที่หายาก และพื้นที่อ่อนไหวในเชิงนิเวศ ที่ควรคุ้มครองปกกันจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดการทำลายป่า

  2. ตามหลักการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำนั้น พื้นที่อนุรักษ์(ร้อยละ 25) ควรครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ทั้งหมด บางส่วนของชั้นลุ่มน้ำที่ 2 3 และ 4 ซึ่งควรจะต้องพิจารณาปัจจัยความอ่อนไหวทางด้านนิเวศ ได้แก่ พื้นที่ซึ่งมีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นแนวเชื่อมต่อของระบบนิเวศที่กว้างขวาง ซึ่งสัตว์ป่าทั้งหลายใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อดำรงการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรมตามธรรมชาติ

  3. ควรหลีกเลี่ยงไม่นำพื้นที่ป่าชุมชนมาประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ เพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิของชุมชนในการใช้ประโยชน์ ยกเว้นในกรณีที่ป่าบริเวณนั้นเป็นรอยเชื่อมต่อของระบบนิเวศ หรืออยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1

  4. ส่วนใหญ่พื้นที่ป่าเศรษฐกิจซึ่งกำหนดให้มีร้อยละ 15 หรือ 49 ล้านไร่ จะอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 2 3 และ 4 ซึ่งตามสมรรถนะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการทำไม้ ในปัจจุบัน กรมป่าไม้ได้นำมาประกาศเป็นป่าชุมชนแล้วประมาณ 5.7 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ของพื้นที่ป่าเศรษฐกิจตามนโยบายนั้น  เป็นป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกบุกรุกและตกอยู่ภายใต้นโยบายการทวงคืนผืนป่า

  5. สำหรับประเด็นของการกำหนดขนาดพื้นที่ป่านั้น “ป่าชุมชน” กับ “ป่าใช้สอย” จะมีความแตกต่างกันในทางปฏิบัต กล่าวคือ ป่าชุมชนจะกำหนดขนาดพื้นที่ได้ยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับความเต็มใจและศักยภาพของชุมชน และยังอาจครอบคลุมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางแห่งได้อีกด้วย (แม้ว่าในทางกฏหมายยังมีข้อจำกัดอยู่) เนื่องจากป่าชุมชนนั้นเป็นการบำรุงรักษาป่าโดยอาศัยศักยภาพของชุมชน ไม่ใช่เป็นการใช้ประโยชน์แบบทำลาย

  6. ส่วนป่าใช้สอย นั้นอาจคำนวณความต้องการใช้สอยผลผลิตป่า จำนวนประชากรของชุมชน และความงอกเงยของทรัพยากรในป่าแต่ละปี มาเป็นปัจจัยในการคำนวณได้

  7. ในปัจจุบันนี้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีกฎหมายที่เข้มงวดมาใช้จัดการ ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และมติค.ร.ม.เรื่องการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ดังนั้น จึงใช้วิธีประกาศพื้นที่สงวนที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ให้มาเป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้ง ๆ ที่มีชุมชนอาศัยอยู่ ซึ่งนับว่ามีผลกระทบในเชิงสังคมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐควรมีนโยบายให้มีป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์บางแห่งได้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า

  8. ในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกบุกรุกจากนายทุนโดยปลูกพืชเชิงเดี่ยว ควรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นป่าชุมชนให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

  9. ในพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กที่มีชุมชนอาศัยอยู่ ควรกำหนดให้มีการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายในภูมิทัศน์ เพื่อให้ทรัพยากรป่าและพืชพรรณในแต่ละพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน สามารถเกื้อกูลกันและทำหน้าที่ได้ทั้งเชิงอนุรักษ์และเศรษฐกิจ



พื้นที่ลุ่มน้ำในประเทศไทย

ลำดับ

ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ

พื้นที่

ร้อยละของเนื้อที่ประเทศ

ตร.กม.

ล้านไร่

สมบูรณ์

สะสม

1

1A

85,463.70

53.41

 17

 17

2

1B

7,626.66

4.77

 1

 18

3

2

42,768.62

26.73

 8

 26

4

3

39,283.77

24.55

 8

 34

5

4

81,283.77

50.80

 16

 50

6

5

251,483.62

157.18

 49

 99

7

อ่างเก็บน้ำ

5,454.96

3.41

 1

 100

 

รวมเนื้อที่ประเทศ

513,365.10

320.85

100

-

ที่มา: http://www.ku.ac.th/kaset60/ku60/watershed.html




โดยสรุปแล้ว แทนที่จะมาคำนึงแต่การจำกัดการใช้ประโยชน์ในรูปแบบป่าชุมชนแล้วกันคนออกไปเพื่อประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์นั้น น่าจะหันมาพิจารณาจัดการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมผสมผสานในแต่ละลุ่มน้ำ ให้มีทั้งป่าป้องกันที่เป็นป่าปฐมภูมิ ป่าชุมชนที่มีการใช้ประโยชน์ไม้และของป่า สวนป่า วนเกษตร มีทั้งป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจผสมผสานกันไปอย่างสมดุลเพื่อให้ลุ่มน้ำมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีเศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืน

 


Last updated: 2017-10-10 00:36:14


@ ป่าชุมชนควรมีเนื้อที่เท่าไร?
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ป่าชุมชนควรมีเนื้อที่เท่าไร?
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,228

Your IP-Address: 35.175.212.5/ Users: 
1,226