หมั่นใช้เวลาในการทบทวนตนเองว่าทำอะไรถูก ทำอะไรผิดไปบ้าง
 
     
 
สายใยวนศาสตร์
ทราบว่าช่วงนี้มีน้องนิสิตวนศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้มีความพยายามในการขอให้ยกเลิกการวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตร ที่ได้ดำเนินการอยู่มาอย่างยาวนาน แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ...โดยส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่าควรว่ารักษาการวิ่งประเพณี...นี้ต่อไป
 

  

•ฝากปุจฉามาถึงน้องวนศาสตร์

ไยมัวขลาดหวาดหวั่นกันเหลือที่

จึงได้คิดละทิ้งเลิกสิ่งดี

ประเพณีวิ่งสิบห้ากิโลเมตร

•เราสืบทอดนานมากจากรุ่นหนึ่ง

ด้วยคำนึงงานป่าไม้ในทุกเขต

หวังอดทนเข้มแข็งแกร่งปานเพชร

ให้สมเจตน์เปี่ยมค่าวนกร

•งานป่าไม้ใช่เหยาะแหยะแค่ในเมือง

ต้องครบเครื่องกล้าหาญอาจารย์สอน

การกินอยู่สู้ไปไร้อาทร

เจอหนาวร้อนแดดฝนต้องทนไป

•วิ่งวนศาสตร์คนทั่วไปได้รู้จัก

เอกลักษณ์ยากใครเปรียบหรือเทียบได้

พากล่าวขวัญยอมรับกับน้ำใจ

จึงเกรียงไกรแม้ฝรั่งต่างชาติชม

•ทั้งยังช่วยเชื่อมโยงกันฉันน้องพี่

สามัคคีมีพลังที่สร้างสม

วนศาสตร์หนึ่งเดียวเราเกลียวกลม

สร้างสังคมพวกเราชาวพนา

•ทุกวันนี้คนทั่วไปได้พร่ำบอก

ชวนกันออกกำลังหวังถ้วนหน้า

นโยบายรัฐบาลท่านสั่งมา

วอนจงอย่าหลงผิดคิดเลิกทำ

•หากน้องวิ่งไม่ได้ให้คิดเปลี่ยน

อย่ามาเรียนวนศาสตร์อาจชอกช้ำ

เหนื่อยแค่นี้ทนไม่ไหวใจระกำ

ช่างน่าขำเจองานป่าจะว่าไง

•จากหัวใจรุ่นพี่ที่เรียกร้อง

ขอเถิดน้องวนศาสตร์มุ่งมาดใหม่

สืบทอดวิ่งประเพณีนี้ต่อไป

สร้างสายใยสัมพันธ์เราชาว วน.

•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

แรงดลใจ :

ทราบโดยบังเอิญว่าช่วงนี้มีน้องนิสิตวนศาสตร์กลุ่มหนึ่ง (ซึ่งน่าจะมีไม่มาก) ได้มีความพยายามในการขอให้ยกเลิกการวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตร ที่ได้ดำเนินการอยู่มาอย่างยาวนาน แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง  ว่าทำไมบรรดาน้อง ๆ เหล่านี้จึงได้มีความคิดเห็นเช่นนั้น ทางผู้บริหารคณะวนศาสตร์กำลังรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากนิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่าของคณะ เพื่อข้อสรุปที่เหมาะสม ในการพิจารณาดำเนินการต่อไป

อันที่จริงแล้วการวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตรของคณะวนศาสตร์ ได้เริ่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะเมื่อปี พ.ศ. 2479 (ในช่วงแรกนั้นคือโรงเรียนป่าไม้จังหวัดแพร่ ที่สอนระดับอนุปริญญา หลักสูตร 2 ปี) ซึ่งได้ดำเนินการสืบเนื่องจนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน กรุงเทพฯ) ในปี พ.ศ.2499 ทั้งนี้ได้กำหนดให้นิสิตชั้นปีที่ 1-3 ทุกคนต้องวิ่งประเพณีร่วมกัน โดยเฉพาะนิสิตชั้นปีที่ 1 ต้องมีการวิ่งทดสอบ 12 กิโลเมตร ก่อนอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2520 ที่คณะวนศาสตร์ได้เริ่มรับนิสิตหญิง จำนวน 19 คน(วนศาสตร์ รุ่น 43) เข้ามาเรียนเป็นปีแรก ทางรุ่นพี่ได้มีแนวคิดที่จะให้นิสิตหญิงวิ่งในระยะทางเพียงครึ่งหนึ่งของที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มนิสิตหญิงได้มีข้อสรุปร่วมกันในการยืนยันต่อการวิ่งในระยะทางที่กำหนดไว้ คือ ทั้ง 12 และ 15 กิโลเมตร เช่นเดียวกับการวิ่งของนิสิตชาย จึงทำให้ไม่เกิดการเหลื่อมล้ำระหว่างเพศและสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันระหว่างนิสิตวนศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเป็นอย่างยิ่ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิ่งประเพณีมีส่วนดีในหลายๆ ด้าน  ทั้งในขณะที่กำลังเป็นนิสิตเรียนที่คณะและเมื่อจบออกไปทำงานในหน่วยงานต่างๆทุกแห่ง แม้แต่ในส่วนกลาง ภูมิภาค และงานภาคสนาม นอกจากนี้ยังเป็นสายใยที่เชื่อมโยงระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องของชาววนศาสตร์ ให้แน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น แม้บางคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนและมีวัยที่ต่างกันมากก็ตาม เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างบรรยากาศการทำงานป่าไม้ของชาววนศาสตร์ร่วมกันอย่างคาดไม่ถึง

โดยส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่าควรว่ารักษาการวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตร (รวมทั้งการวิ่งทดสอบ 12 กิโลเมตร) นี้ต่อไป โดยการประกาศกำหนดเป็นเงื่อนไขที่สำคัญให้ทุกคนได้ทราบโดยทั่วกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ ยกเว้นนิสิตที่มีเหตุผลเป็นพิเศษ เช่นมีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการวิ่ง การประสบอุบัติเหตุในขณะเรียน เป็นต้น กับทั้งพยายามชี้ให้นิสิตได้ทราบและเข้าใจร่วมกันถึงประโยชน์และความจำเป็นของการวิ่งที่กำหนดไว้

 

 



Last updated: 2017-01-21 11:14:06


@ สายใยวนศาสตร์
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สายใยวนศาสตร์
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,929

Your IP-Address: 18.97.14.86/ Users: 
1,928