จะทำอะไรให้สำเร็จ ต้องคิดว่าจะสำเร็จก่อน
 
     
 
บทบาทสหประชาชาติกับภาวะโลกร้อน
เป้าหมายสูงสุดของอนุสัญญาคือ การรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
 

จากความเข้าใจถึงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และความเสี่ยงของผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี พ.ศ. 2531 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) ร่วมกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization, WMO) ได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change, IPCC) เพื่อประเมินความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศและผลกระทบต่างๆ ตลอดจนกลยุทธ์ในการตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าว

ในปี พ.ศ. 2533 การประชุมสภาพภูมิอากาศโลกที่มีประเทศต่างๆ เข้าร่วม 137 ประเทศ รวมทั้งประชาคมยุโรปได้เรียกร้องให้เร่งรัดการเจรจาเพื่อร่างสนธิสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนกระทั่งเดือนธันวาคม พ.ศ. 2533 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้เห็นชอบให้มีการเจรจาจัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change, UNFCCC) โดยการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee) เพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยได้จัดทำร่างอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเปิดให้มีการลงนามรับรองอนุสัญญาฯ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา ที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 3-14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2537 หลังจากที่มีประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันครบ 50 ประเทศ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ จนถึงปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วจำนวน 192 ประเทศ

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีทั้งหมด 26 มาตรา เริ่มต้นด้วยการยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและตระหนักถึงความเสี่ยงของผลกระทบที่จะตามมา ยอมรับว่าประเทศพัฒนาแล้วได้ก่อให้เกิดปริมาณการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเป็นส่วนใหญ่ และรับทราบว่าการวิเคราะห์ที่ผ่านมายังมีความไม่แน่นอนและจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาความรู้ต่อไปอีก นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงระดับการพัฒนาของประเทศที่แตกต่าง ซึ่งจะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป้าหมายสูงสุดของอนุสัญญาคือ การรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย การรักษาระดับดังกล่าวต้องดำเนินการในระยะเวลาอันเพียงพอที่จะให้ระบบนิเวศปรับตัวโดยไม่คุกคามต่อการผลิตอาหารของมนุษย์ หลักการที่สำคัญของอนุสัญญาฯ สรุปได้ดังนี้

  1. หลักการป้องกันไว้ก่อน ภายใต้หลักการนี้ กิจกรรมที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศจะต้องมีการจำกัด หรือห้ามดำเนินการ ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายจริงก็ตาม เนื่องจากหากรอให้มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะมากเกินแก้ไขได้ หลักการนี้ จึงให้โอกาสในการควบคุมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงล่วงหน้า เช่น การกำหนดให้มีการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับการปลดปล่อยในปี พ.ศ.2533
  2. หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง ภายใต้หลักการนี้ทุกประเทศภาคีอนุสัญญาฯ มีพันธกรณีในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการแบ่งประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ ประเทศในภาคผนวกที่ 1 (Annex I counties) และประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non Annex I countries) โดยประเทศในภาคผนวกที่ 1 มีพันธกรณีในการลดการปลดปล่อยให้อยู่ในระดับการปลดปล่อยในปี พ.ศ. 2533 ในขณะที่ประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 สามารถดำเนินการได้หากมีความพร้อม
  3. หลักการสื่อสารด้านข้อมูลข่าวสาร ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความโปร่งใส ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าต้องมีการจัดทำรายงานแห่งชาติภายใต้อนุสัญญาฯ ซึ่งมีเงื่อนไขในเรื่องของความสมบูรณ์ของเนื้อหา และระยะเวลาที่แตกต่างกันระหว่างประเทศในภาคผนวกที่ 1 และนอกภาคผนวกที่ 1
  4. หลักการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยกว่า เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนามีโอกาสเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ดังนั้น หลักการนี้ต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ความสะดวก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องเป็นส่วนเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่ให้อยู่เดิม ปัจจุบัน อนุสัญญาฯ ได้ใช้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินนโยบายถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สะอาดให้กับประเทศกำลังพัฒนา

องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในอนุสัญญาฯ คือที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change, COP) มีหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ มีประสิทธิภาพสูงสุด ตามมาตรที่ 7 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กำหนดให้มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคี (COP) เป็นประจำทุกปี เว้นแต่ที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีจะมีมติเป็นอย่างอื่น ซึ่งนับจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ ได้มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีไปแล้วจำนวน 14 ครั้ง โดยการประชุมครั้งสุดท้ายได้จัดให้มีการประชุมในระหว่างวันที่ 2-12 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ณ เมือง Poznan ประเทศโปแลนด์ 

โครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนั้นยังได้มีการจัดตั้งองค์กรย่อยขึ้นอีกสององค์กรย่อย ได้แก่ องค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice, SBSTA) และองค์กรย่อยเพื่อการอนุวัติ (Subsidiary Body for Implementation, SBI) และยังได้กำหนดองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นกลไกทางการเงิน คือ กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility, GEF)


Last updated: 2011-02-06 21:02:27


@ บทบาทสหประชาชาติกับภาวะโลกร้อน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ บทบาทสหประชาชาติกับภาวะโลกร้อน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,686

Your IP-Address: 18.119.107.161/ Users: 
1,685