ช่วยตัวเราเองก่อนแล้วคนอื่นก็จะมาช่วยเรา
 
     
 
ไม้เครือ (1)
ในป่าที่ไม่พบไม้เครือคงจะมีแต่ป่าปลูก ที่มีระบบการจัดการอย่างเข้มข้นเท่านั้น ที่จะไม่เห็นไม้เครือขนาดใหญ่ ในสวนป่าที่ปลูกพืชชนิดเดียว ถ้าไม่มีระบบการจัดการ ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ ไม้เครือก็จะเจริญเติบโตขึ้นเป็นจำนวนมาก
 

หลายท่าน  คงจะได้รับทราบข่าวสิ่งแวดล้อม  เรื่องหนึ่ง  ที่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป  ข่าว  เถาวัลย์  ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ภาษาอีสานเรียก  เถาวัลย์  ว่า  ไม้เครือ  ขึ้นปกคลุมต้นไม้ขนาดใหญ่    ทำให้ช้างป่า  สัตว์ป่าสำคัญ  คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย  ไม่สามารถ  เดินทางไปมาในป่าได้สะดวก  อาหารช้างน้อยลง  จนกระทั่งนักวิชาการจาก กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  คุณชิงชัย  วิริยะบัญชา       คุณภานุมาศ  ลาดปาละ  และคุณวัฒนา  ศักดิ์ชูวงศ์  ได้เข้าไปศึกษาและทดลองตัดเถาวัลย์  เมื่อปี          พ.ศ.  2553 – 2555  จากการศึกษาของคณะนักวิชาการชุดนี้  พบว่า  หลังจากตัดไม้เถาวัลย์ออกแล้ว  ในปีถัดมา  เถาวัลย์ที่ถูกตัดก็แตกหน่อใหม่ขึ้นอีก  และมีจำนวนหน่อที่แตกใหม่  มีจำนวนมากกว่าหน่อเดิมที่ถูกตัดออกไปอีก

ในอีกมุมมองหนึ่ง  เถาวัลย์ในป่าหรือที่เรียกต่อไปนี้ว่า  ไม้เครือ  เป็นพืชที่อยู่เคียงคู่กับป่า  ในป่าธรรมชาติ  พบว่า  มีไม้เครือขึ้นอยู่  มากบ้าง  น้อยบ้าง  ในป่าที่ไม่พบไม้เครือคงจะมีแต่ป่าปลูก  ที่มีระบบการจัดการอย่างเข้มข้นเท่านั้น  ที่จะไม่เห็นไม้เครือขนาดใหญ่  ในสวนป่าที่ปลูกพืชชนิดเดียว  ถ้าไม่มีระบบการจัดการ  ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ  ไม้เครือก็จะเจริญเติบโตขึ้นเป็นจำนวนมาก  เช่นเดียวกับป่าธรรมชาติถ้าพื้นสวนป่าแห่งนั้นไม่เกิดไฟไหม้เป็นประจำ  ไม้เครือหลากหลายชนิดเป็นอาหารทั้งของคนและสัตว์  เช่น  เครือคุยหรือ   หมากยาง ( Willughbeia edulis )  ที่คนอีสานคุ้นเคย  เครือตาปลาหรือเถาวัลย์เปรียง( Derris scandens )  เครือไม้คดคดงองอ  ที่พวกเรามาทำกระเช้าของขวัญ  มอบให้กันในโอกาสต่างๆ  นมวัว ( Anomianthus dulcis )  นมควาย  ( Melodorum hahnii )  พีผ่วน  ( Uvaria rufa )  ไม้เครือในวงศ์กระดังงา  ที่ลูกสุกเป็นอาหารของสัตว์ป่า  เครือกอฮอหรือบอระเพ็ด  ( Tinospora crispa )  เครือไส้ตัน  ( Aganosma marginata )    เครือเขาแกบหรือรางแดง  ( Ventilago denticulata )  เป็นสมุนไพร  ที่คนอีสานใช้ประโยชน์มาเป็นเวลาช้านาน  ไม้เครือหลายชนิด  ถูกนำมาจากป่าและปรับปรุงพันธุ์จนกลายเป็นไม้ประดับที่สำคัญ  เช่น  เล็บมือนาง           ( Quisqualis indica )  ที่ให้ทั้งกลิ่นและดอกสีสวยสด  สายหยุด  ( Desmos chinensis )  เครือลิ้นแฮด          ( Tetracera loureiri )  หรือที่เรียกกันว่า  รสสุคนธ์  ก็เป็นไม้เถาว์ที่เกิดขึ้นในป่า สะบ้ายักษ์ (Entada rheedii)  บริเวณอุทยานแห่งชาติผาแต้ม  ที่  จังหวัดอุบลราชธานี  โฆษณาให้  หนุ่มสาวไปกอด  เพื่อให้ความรักมั่นคง  ยืนยาว  เช่นกับลำต้นของ  ต้นสะบ้ายักษ์  ต้นนี้

ต้นไม้ทุกชนิด  มีบทบาทหน้าที่ตามธรรมชาติ  ที่แตกต่างกันออกไป  ทุกต้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ  มนุษย์ได้นำเอาไม้เครือ  มาใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย  จากการทดลองตัดเพื่อศึกษาของนักวิชาการ  พบว่า   ไม้เครือที่ถูกตัดเหล่านี้  ไม่ตาย  แต่กลับเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

 เพื่อความทันสมัย  นายมักเลาะ  ได้สังเกตลักษณะไม้เครือของภาคอีสาน  ทั้งพูดคุยกับผู้คนที่อาศัยใกล้ป่าหรือใช้ประโยชน์จากไม้เครือ  นักวิชาการมีความรู้ด้านต้นไม้  พบว่า  ในภาคอีสาน  ก็มีปรากฏการณ์การปกคลุมของไม้เครือ  เหล่านี้เช่นกัน  ไม้เครือบางชนิด  พอขึ้นปกคลุมไม้ใหญ่  ก็มีผลต่อการอยู่รอดของต้นไม้หลักในป่า    แต่หลายชนิดเป็นเพียงไม้อิงอาศัย  ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อ  ไม้ใหญ่ที่เกี่ยวพันอยู่แต่อย่างใด

นายมักเลาะ  แบ่งประเภทของไม้เครือ  เอาเอง  โดยไม่ต้องอ้างข้อมูลทางวิชาการใดๆ  ทั้งสิ้นเป็น  2  ประเภท  ได้แก่  ไม้เครือพัน  และไม้เครือพาด

ไม้เครือพัน  หมายถึง  ไม้เครือที่เจริญเติบโต  ด้วยการเลื้อยพันรอบต้นไม้  ขึ้นไปรับแสงแดดด้านบน  พบส่วนใหญ่ในป่าที่มีต้นไม้หลัก  ขึ้นอยู่ห่างๆ  เป็นป่าโปร่งหรือป่าที่มีไฟไหม้ผืนป่าเป็นประจำ  เช่น  ป่าเต็งรัง  ไม้เครือประเภทนี้  ได้แก่  เครือซูด  ( Parameria laevigata )  เถาว์เอ็นอ่อน  ( Cryptolepis buchanani )  ชะเอมเครือ  ( Albizia myriophylla )  ไม้เครือจะพันรอบลำต้น  ในช่วงเริ่มแรกมีขนาดเล็ก   อ่อนแนบไปกับลำต้นของไม้หลัก  เมื่อมีอายุมากขึ้น  ขนาดของลำต้นก็เจริญเติบโตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  จนรัดลำต้นของต้นไม้เป็นรอยกิ่ว  ลำต้นประเภทนี้  มักจะไม่มีหนาม  หรือมือเกาะ  แต่สามารถเลื้อยพันรอบต้นไม้สูง  ไปด้านบน  หรือมีรากขนาดเล็กเกาะลำต้นของต้นไม้ขึ้นไป  การเวียนรอบต้นไม้  ส่วนใหญ่มักจะเวียนขวา ( ทวนเข็มนาฬิกา )  ลำต้นของไม้ที่เครือพัน  ขนาดของลำต้นไม่ใหญ่มาก  เปลือกจะขรุขระ  แตกเป็นร่อง  ทำให้สะดวกต่อการพาดพัน  เช่น  ลำต้นของไม้พะยอม  เต็งหรือรัง  พบน้อยในไม้ที่ลำต้นขนาดใหญ่  เปลือกเรียบและลื่น  เช่น  ไม้ยางนา  ไม้ตะแบก

ไม้เครือพาด  หมายถึง  ไม้เครือ  ที่เจริญเติบโตขึ้นไปรับแสงแดดด้านบน  ด้วยการพาดไม้ชนิดอื่นขึ้นไปรับแสงแดดด้านบน  พบในป่าดิบแล้งที่มีโครงสร้างป่าหลายชั้น  ที่เรือนยอดของแต่ละชั้น  จะลดหลั่นกันไปตั้งแต่พื้นดินจนถึงยอดไม้  ไม้เครือประเภทนี้จะมีมือจับ  หนาม  หรือขอเกี่ยว  พันเกี่ยวไม้รอบข้างค่อยๆสูงขึ้นไปจนถึงยอดไม้  โดยส่วนโคนต้น  ที่ติดกับดินกับเรือนยอดของไม้เครือจะอยู่ห่างกันมาก  บางชนิดห่างกันถึง  100  เมตร  ไม้เครือประเภทนี้  ได้แก่  สะบ้ายักษ์  ( Entada  rheedii )  กระไดลิง   (Bauhinia scandens )  มะขามเครือ   ( Dalbergia darlaensis )  พีผ่วน  ( Uvaria rufa )  ตีนตั่ง   (Anomianthus dulcis )  เครือเขาน้ำ    ( Tetrastigma leucostaphyllum )  รสสุคนธ์    ( Tetracera loureiri )  คนธา  ( Harrisonia perforata )  เครือเล็บเหยี่ยว ( Ziziphus oenoplia )  หมากยาง   ( Willughbeia edulis )  เป็นต้น  จากการสังเกต   เมื่อเดินเข้าไปในป่า  พบว่าจำนวนของไม้เครือพาด  มีมากกว่าไม้เครือพันหลายเท่าตัว

นายมักเลาะ  มีคำถามอยู่ในใจว่า  ในจำนวนไม้เครือทั้งหมดทั้งไม้เครือพาดและไม้เครือพัน            ไม้เครือประเภทใด  ที่ส่งผลกระทบต่อต้นไม้หลักในป่ามากที่สุด  จึงเดินเข้าไปในป่าที่มีต้นไม้หลายต้นหักโค่นลง  พร้อมกับไม้เครือที่มีขนาดใหญ่  ที่พบ  ขณะนี้  มีไม้เครือที่พาดพันจนทำให้ไม้หลักขนาดใหญ่หักโค่นลงมีอยู่     3  ชนิด  ได้แก่  เครือสะบ้ายักษ์  เครือหนามกระจาย  และชะเอมเครือ  จึงค่อยๆ  สังเกตการณ์การเจริญเติบโตของไม้เครือทั้ง  3  ชนิด  อันเป็นเครือ  ประเภทเครือพาด  การเจริญเติบโตของเครือประเภทนี้  เมื่อเลื้อยพาดพันไปถึง  เรือนยอดด้านบนของต้นไม้หลัก  ใบจะเจริญคลุมเรือนยอดของต้นไม้หลักทั้งหมด  จนต้นไม้หลัก   ไม่สามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารจากแสงแดดได้  ค่อยๆ อ่อนแอลงจนในที่สุดก็ตายลง  ไม้ใหญ่ที่ตายเพราะใบของเครือคลุม  ได้แก่  ไม้เขล็ง  นี่  เป็นข้อมูลเบื้องต้นจากการเข้าไปเรียนรู้อยู่ในพื้นที่ป่าจริงๆ  อาจจะเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่ง  ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน  ขอเชิญชวนผู้สนใจได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม  เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ถูกต้องต่อไป 


Last updated: 2013-07-21 16:56:29


@ ไม้เครือ (1)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ไม้เครือ (1)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
5,478

Your IP-Address: 3.149.251.155/ Users: 
5,477