ไม่มีใครมาลิขิตชีวิตเราได้นอกจากตัวเราเอง
 
     
 
ปากมูน
คำว่า ปาก มักจะใช้ชื่อของสายน้ำสายเล็กเป็นชื่อ เช่น ปากมูน บริเวณแม่น้ำมูนไหลลงแม่น้ำโขง
 

                มูน  ภาษาอีสาน ตามสารานุกรม อีสาน – ไทย – อังกฤษ  ของ ดร.ปรีชา พิณทอง ได้ให้ความหมายของมูนไว้ว่า มูน หมายถึง มาก มั่งคั่ง มั่งมี

                มูล  ตามพจนา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้หลายอย่าง เช่น โคน ราก เหง้า ต้น มวล ทั้งหมดทั้งสิ้น

                แม่น้ำมูน จะใช้อักษร ล หรือ น สะกดจึงจะถูกต้อง คงต้องให้ผู้รู้ (จริง ๆ) ถกเรื่องกันต่อไปว่าจะใช้อักษรใดสะกดกันแน่ ในที่นี้ขอใช้คำว่า แม่น้ำมูนไปก่อน

                ปาก หมายถึงบริเวณที่ แม่น้ำสองสายมาบรรจบรวมกัน ในภาคอีสานมีบริเวณที่แม่น้ำสองแห่งมารวมกันมากมาย เช่น ปากมูน ปากเซ ปากคาด ปากเหือง ปากกระดิ่ง ปากมูน ตั้งอยู่บริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูนไหลรวมกับแม่น้ำโขง ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มแม่น้ำมูน มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายชาม พื้นที่สูงอยู่บริเวณเทือกเขาทางทิศตะวันตก และใต้ลาดลงเป็นที่ราบตอนกลาง ในบริเวณสองข้างแม่น้ำมูนเขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษที่เรียกกันว่า ทุ่งกุลา และสูงขึ้นบริเวณด้านทิศตะวันออก แถบอำเภอศรีเมืองใหม่ โขงเจียม สิรินธร บุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเทือกเขาภูพานที่กั้นภาคอีสานออกเป็น 2 ลุ่มน้ำใหญ่ คือลุ่มน้ำมูนตอนล่างของภาค และลุ่มน้ำสงคามตอนบนของภาค ลากผ่านจากจังหวัดอุดรธานี ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ สู่จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณปากมูนเป็นบริเวณที่ปริมาณน้ำ 2 ใน 3 ของภาคอีสาน กัดเซาะเขาหินทรายปลายของเทือกเขาภูพานเป็นแม่น้ำ เพื่อระบายน้ำจากภาคอีสานตอนกลางและล่าง สู่ลำน้ำโขง บริเวณที่แคบสุดของลำน้ำมูน อยู่ที่จุดชมวิวของอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ มีความกว้างประมาณ 250 เมตร แต่ความลึกยังไม่ทราบว่าลึกเท่าใด บริเวณคอขวดนี้ มีอิทธิพลทำให้เกิดลักษณะภูมินิเวศที่เรียกว่า ป่าทามของลุ่มน้ำมูนตอนกลาง ลุ่มน้ำมูนเป็นลุ่มน้ำที่มีปริมาณน้ำมากเป็นอันดับสองรองจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงฝนตกของภาคอีสาน ปริมาณน้ำทั้งหมดจะต้องไหลผ่านบริเวณคอขวดของลำน้ำ บริเวณปากมูนแห่งนี้ ถ้าเกิดการหนุนสูงของลำน้ำ จากแม่น้ำโขงด้วยแล้ว ปริมาณน้ำอันมหาศาลไหลลงแม่น้ำโขงไม่ได้ ก็จะเกิดการเอ่อท่วมของน้ำในบริเวณลุ่มน้ำมูนตอนกลางเป็นปกติ ทำให้เกิดผืนป่าทามที่ยิ่งใหญ่ของลำน้ำมูนตอนกลาง ที่พืชพรรณมีลักษณะพิเศษ ที่ทั้งทนแล้งและทนน้ำท่วมเป็นเวลานาน ได้อย่างน่าอัศจรรย์

                การใช้คำว่า  ปาก  มักจะใช้ชื่อของสายน้ำสายเล็กเป็นชื่อ เช่น ปากมูน บริเวณแม่น้ำมูนไหลลงแม่น้ำโขง  ปากเซ บริเวณที่ลำเซโดน ไหลลงแม่น้ำโขง มากกว่าที่จะใช้ชื่อแม่น้ำสายใหญ่กว่า ในการตั้งชื่อ


Last updated: 2013-04-26 07:40:15


@ ปากมูน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ปากมูน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,422

Your IP-Address: 18.97.14.84/ Users: 
1,421