การหนีปัญหาเป็นสิ่งที่ดี แต่การเผชิญหน้ากับมันย่อมดีกว่า
 
     
 
จากความขัดแย้งในที่ดินของรัฐสู่การสถาปนาป่าชุมชน
การอนุญาตให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อปลูกสร้างสวนป่าเป็นนโยบายหลักของกรมป่าไม้ในการเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและเพิ่มพื้นที่ป่าปกคลุมให้ได้ร้อยละ 40 ตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2528
 

ย้อนกลับไปในทศวรรษ 2530 ข่าวความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวบ้านในเขตตำบลห้วยแก้วอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศซึ่งมีการนำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านในการปกป้องรักษาทรัพยากรป่าไม้จากการบุกรุกของนายทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม 2532

ประเด็นของเรื่องมีอยู่ว่า นางประเมิน ชินวัตร ซึ่งเป็นภรรยาของนายสุรพันธ์ ชินวัตร ซึ่งในขณะนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเพื่อไทย ได้รับสัมปทานให้เช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 235 ไร่จากกรมป่าไม้ เพื่อดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าในเขตพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ทั้งนี้ การอนุญาตให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อปลูกสร้างสวนป่าเป็นนโยบายหลักของกรมป่าไม้ในการเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและเพิ่มพื้นที่ป่าปกคลุมให้ได้ร้อยละ 40 ตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2528 โดยกรมป่าไม้ได้อนุมัติสัญญาเช่าพื้นที่ป่าดังกล่าวให้กับนางประเมินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2532 มีอายุการสัมปทาน 15 ปี ภายหลังได้รับอนุมัติโครงการจากกรมป่าไม้ บริษัทของนางประเมินได้ส่งคนงานเข้าไปในพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทาน โดยนำเครื่องจักรและรถแทรกเตอร์เข้าไปไถปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการสำหรับการปลูกต้นไม้ พร้อมทั้งล้อมรั้วพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทานจากกรมป่าไม้

การเข้ามาล้อมรั้วรอบพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทาน พร้อมด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่สำหรับการเตรียมพื้นที่ปลูกป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ออนที่อยู่ติดกับเขตหมู่บ้านห้วยแก้ว สร้างความกังวลและตกใจให้กับชาวบ้านห้วยแก้วเป็นอย่างมาก ชาวบ้านห้วยแก้วอ้างว่าพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นแหล่งเก็บหาของป่าเพื่อการยังชีพของพวกเขามาเป็นเวลานานตั้งแต่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตตำบลห้วยแก้ว พวกเขายังอ้างว่าได้อาศัยพื้นที่ป่าเป็นแหล่งเลี้ยงวัวควาย แหล่งไม้ใช้สอย แหล่งเก็บหาไม้ฟืน และเป็นพื้นที่ทำกินสิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดก็คือพื้นที่ที่เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์นั้นเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของหมู่บ้านซึ่งพวกเขาอาศัยน้ำจากป่าผืนนี้สำหรับการทำนาและเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ

การเริ่มต้นคัดค้านการเช่าพื้นที่ป่าของเอกชนของชาวบ้านห้วยแก้วซึ่งนำโดยครูนิด ไชยวันนะครูประจำโรงเรียนห้วยแก้ว เริ่มต้นขึ้นประมาณปลายเดือนมีนาคม 2532 โดยกลุ่มของชาวบ้านที่คัดค้านได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังสภาตำบลห้วยแก้ว (สถานภาพในขณะนั้น) และนายอำเภอสันกำแพง 2 เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินการของนายทุนที่เช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ดูเหมือนว่าการร้องเรียนของชาวบ้านไปยังเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นไม่นำไปสู่การยกเลิกสัมปทานป่า เพราะคนงานของนายทุนยังคงทำงานและเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านอ้างว่าการเตรียมพื้นที่ปลูกป่านั้นได้ตัดต้นไม้ใหญ่และมีการขุดดินเพื่อปรับพื้นที่ให้เรียบโดยใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ซึ่งดินที่ถูกขุดได้ไหลไปทับถมแม่น้ำที่ไหลไปยังพื้นที่เกษตรและหมู่บ้านทำให้แม่น้ำตื้นเขิน นอกจากนี้ ชาวบ้านที่คัดค้านยังสงสัยว่าเอกชนที่เช่าพื้นที่ป่าของรัฐต้องการปลูกสร้างสวนป่าจริงหรือ เพราะกล้าไม้ที่เตรียมไว้สำหรับการปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้ผล เช่น มะม่วง จึงเกิดกระแสข่าวลือท่ามกลางหมู่ชาวบ้านว่านายทุนต้องการจะปรับพื้นที่ป่าเพื่อทำรีสอร์ทและสนามกอล์ฟไม่ใช่การปลูกสร้างสวนป่าตามที่นายทุนได้ทำสัญญาไว้กับกรมป่าไม้ตั้งแต่ต้น

เมื่อการร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในระดับท้องถิ่นไม่เป็นผล ต่อมาชาวบ้านห้วยแก้วและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในระหว่างเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในเดือนพฤษภาคมและเดือนกันยายน 2532 ตามลำดับ โดยข้อเรียกร้องของชาวบ้านห้วยแก้วประกอบด้วย 1) ให้ยกเลิกสัญญาการเช่าป่าสงวนแห่งชาติของเอกชนในพื้นที่ตำบลห้วยแก้ว 2) ให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายปลูกสร้างสวนป่า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและ 3) ให้ออกกฎหมายป่าชุมชนเพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชนในการรักษาและคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าชาวบ้านห้วยแก้วจะยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับตั้งแต่ท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ แต่ดูเหมือนว่าคำสั่งการเพิกถอนและยุติการเช่าพื้นที่ป่าของเอกชนยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ คนงานของนางประเมินยังคงทำงานปกติในพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทาน เมื่อเห็นว่าการร้องเรียนตามแนวทางสันติไม่เป็นผล ในเดือนกรกฎาคม 2532 กลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาจึงตัดสินใจบุกเข้าไปยึดพื้นที่ป่าและขอร้องให้คนงานหยุดการปฏิบัติงานเตรียมพื้นที่ ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านและคนงานของบริษัทเอกชนที่เข้ามารับจ้างเตรียมพื้นที่ปลูกต้นไม้ในเขตป่าที่ได้รับสัมปทาน ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับนายทุนเช่าพื้นที่ป่าได้ถึงจุดตึงเครียดเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ. สันกำแพงออกหมายจับและควบคุมตัวแกนนำชาวบ้านสามคน ได้แก่นายทวีศิลป์ ศรีเรือง นายบุญช่วย แสนคำ และนายมนัส แสนปัญหา พร้อมทั้งแกนนำนักศึกษา คือนายวิเชียร อันประเสริฐ ในข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สินของนายทุน ตามข้อกล่าวหาที่นางประเมินชินวัตร แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านและนักศึกษาได้บุกเข้าไปยึดพื้นที่ป่าที่ตนเองได้รับสัมปทานจากกรมป่าไม้ และหลังจากชาวบ้านและนักศึกษาถูกจับเพียงวันเดียว ครูนิด ไชยวันนะซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้าน ก็ถูกยิงเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในบ้านของตนเองซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านห้วยแก้ว การจับกุมแกนนำชาวบ้านและนักศึกษา และการเสียชีวิตของครูนิด ทำให้สังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่มีกรมป่าไม้เป็น “พระเอก” ว่าเป็นระบบที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด


สำหรับเหตุผลที่ชาวบ้านห้วยแก้วรวมตัวคัดค้านการเช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของนายทุนนั้นตัวแทนชาวบ้านห้วยแก้วอธิบายว่าแท้จริงแล้วเหตุผลหลักในการคัดค้านครั้งนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัญญาการเช่าพื้นที่ป่าของนางประเมิน ชินวัตร กับกรมป่าไม้แต่อย่างใด แต่เหตุผลที่ชาวบ้านคัดค้านเพราะเห็นว่านายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าและทำลายป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านอ้างว่านายทุนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่ 235 ไร่ที่ได้รับสัมปทานจากกรมป่าไม้ และมีการบุกรุกพร้อมทั้งตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ในเขตป่าอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ติดกับพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ค่อนข้างมากและเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของหมู่บ้าน นอกจากนี้ ชาวบ้านห้วยแก้วได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการนิยามคำว่า “ป่าเสื่อมโทรม” ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่อ้างว่าอนุญาตให้เอกชนเช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมเพื่อทำการปลูกฟื้นฟูป่า ในขณะที่ชาวบ้านห้วยแก้วสังเกตว่าในพื้นที่ดังกล่าวยังมีต้นไม้ขึ้นอยู่จำนวนมาก และคนงานของบริษัทเอกชนได้ตัดต้นไม้เหล่านั้นออก เพื่อที่จะปลูกต้นไม้ที่เตรียมไว้


ในเดือนธันวาคม 2532 นายไพโรจน์ สุวรรณกร อธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น พร้อมด้วยนายไพรัตน์ เตชะรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในเขตตำบลห้วยแก้วที่อนุญาตให้เอกชนเช่าปลูกป่า ผลจากการตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจริงตามที่ชาวบ้านร้องเรียน อธิบดีกรมป่าไม้จึงมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการของเอกชนในพื้นที่ และสั่งการให้ยกเลิกสัญญาการเช่าป่าของนางประเมิน ชินวัตร โดยหลังจากการยกเลิกสัญญาอธิบดีกรมป่าไม้ได้ประกาศให้พื้นที่ป่าที่ให้เอกชนเช่าบวกกับพื้นที่ป่าที่อยู่ติดกันประมาณ 1,600 ไร่เป็นพื้นที่ทดลองโครงการป่าชุมชนห้วยแก้ว


Last updated: 2012-12-15 17:12:40


@ จากความขัดแย้งในที่ดินของรัฐสู่การสถาปนาป่าชุมชน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ จากความขัดแย้งในที่ดินของรัฐสู่การสถาปนาป่าชุมชน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,550

Your IP-Address: 18.97.14.80/ Users: 
1,549