ทำมากก็ผิดมาก ทำน้อยก็ผิดน้อย ไม่ทำก็ไม่ผิด
 
     
 
สู้ภัยโควิด
ชาวป่าไม้และประชาชนทุกระดับ ต้องร่วมกัน..."สู้ภัยโควิด"... โดยการมี"น้ำใจ"ให้กัน และนำ"เศรษฐกิจพอเพียง"มาประยุกต์ใช้กันอย่างจริงจัง...
 

.ประเทศชาติอนาถนักจากโควิด
ที่ก่อพิษสร้างภัยอย่างใหญ่หลวง
ทุกชนชั้นพารันทดหมดทั้งปวง
จะเลยล่วงนานแค่ไหนก็ไม่รู้ 

.ผลกระทบที่หนักหนาเศรษฐกิจ
หลากชีวิตต้องตกงานพลันหดหู่
หลายอาชีพยับเยินนักยากฟื้นฟู
ยามกินอยู่ย่ำแย่ไปในครอบครัว 

.เริ่มมากคนลำเค็ญเป็นหนี้สิน
ด้วยว่าสิ้นรายได้หมดไปทั่ว
ทั้งรายจ่ายมีทุกวันคอยพันพัว
หนทางตัวรอดพ้นภัยอย่างไรกัน 

.อีกไม่นานพาลผลร้ายในสังคม
คนทุกข์ตรมสิ้นทางไปให้คิดสั้น
ขโมยโจรปล้นชิงฆ่าน่าดุดัน
ถึงทางตันคนไม่เกี่ยงแม้เสี่ยงตาย 

.อาจวิกฤติขึ้นทุกวันพารันทด
คนทั้งหมดจะระกำระส่ำระสาย
แม้ผู้ดีมีเงินนักรวยมากมาย
ต้องวุ่นวายเผชิญทุกข์สิ้นสุขกัน 

.หากทุกคนอยากอยู่รอดอย่างปลอดภัย
ต้องร่วมใจรวมพลังกันสร้างสรรค์
เอื้ออารีมีน้ำใจหมายแบ่งปัน
เลิกคิดฝันสบายอยู่เพียงผู้เดียว 

.สังคมไทยแข่งขันกันมากนัก
ไร้ตระหนักต่างอยู่ไปไร้แลเหลียว
แบ่งชั้นชนคนพาแห้งแล้งมากเทียว
ต่างนักเชียวเช่นโบราณด้าน"น้ำใจ"

.อีกทุกคนปรับวิถีทางชีวิต
"เศรษฐกิจพอเพียง"ยึดเคียงไว้
ปรัชญาดีที่พ่อหลวงทรงห่วงใย
จึงพาไทยคลายวิกฤติโควิดภัย

 

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com

แรงดลใจ: มีความศรัทธาต่อ "ศาสตร์พระราชา" ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เกษตรทฤษฎีใหม่" และ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประชาชนชาวไทยได้เป็นอย่างดีและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง จากประสบการณ์ พบว่า หลายคนยังคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่แนวพระราชดำริทั้ง 2 เรื่องนี้ มีจุดเน้นที่ต่างกัน และมักมีมุมมองไปว่าการดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแค่การทำการเกษตรเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว"เกษตรทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็ก ออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ที่เน้นปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียง ต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี กับทั้งมีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบโดยมีถึง 3 ขั้นตอน

ส่วน"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลางและการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน  โดยที่ความพอเพียงประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อมๆ กันดังนี้

   1.ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

   2.ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

              3.การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

    โดยมีเงื่อนไขการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้ง"ความรู้"และ"คุณธรรม"เป็นพื้นฐาน ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ได้ประกาศว่าได้ยึด"เศรษฐกิจพอเพียง"ในหลายด้าน แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า มีการดำเนินการที่ตอบสนองน้อยมาก เนื่องจากตกหลุมพรางที่เน้นเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น จึงไม่เกิดความสมดุลและยั่งยืนในสังคม เชื่อว่าในภาวะที่ประเทศชาติต้องการคลายพิษภัยจากไวรัสโควิด-19ในครั้งนี้ ควรได้กำหนดเป็นวาระของชาติในการนำ"เศรษฐกิจพอเพียง"มาประยุกต์ใช้ในทุกระดับอย่างจริงจัง



Last updated: 2021-08-25 11:08:33


@ สู้ภัยโควิด
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สู้ภัยโควิด
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
465

Your IP-Address: 18.97.14.80/ Users: 
464