จงมองผู้ใต้บังคับบัญชาว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถอยู่เสมอจงหาความสามารถของเขาให้พบ
 
     
 
มารป่าไม้
เมื่อไรหนอที่...มารป่าไม้... ในเมืองไทยของเราจะมีน้อยที่สุด เพื่อคนอื่นในสังคมจะได้อยู่กันอย่างมีความสุขมากขึ้น
 

•คือสังคมต้นไม้หลายเผ่าพันธุ์

ไผ่เถาวัลย์พืชชั้นล่างสร้างคุณค่า

เอื้อประโยชน์แก่มนุษย์สุดคณนา

ต่อเนื่องมายาวนานนับล้านปี

 

•ให้อาหารพร้อมพรั่งทั้งห้าหมู่

ได้กินอยู่เติบโตไปได้เต็มที่

มีพลังสร้างงานสืบพันธุ์ดี

หลากรสมีเจือจานทั้งหวานคาว

 

•หนุนที่อยู่ไว้พำนักพักอาศัย

ที่ปกป้องผองภัยให้เกินกล่าว

ทั้งเครื่องมือเครื่องใช้หลายเรื่องราว

เกื้อชีวีที่ยืนยาวอย่างมั่นคง

 

•ใช้ทำผ้านับเนื่องเครื่องนุ่งห่ม

สิ้นอับอายได้ชื่นชมสมประสงค์

อีกบรรเทาหนาวร้อนผ่อนคลายลง

ชีพยิ่งยงอยู่สนุกสุขสบาย

 

•เป็นยาใช้ช่วยรักษาอาการโรค

พาพ้นโศกหมองเศร้าทุเลาหาย

ทั้งกินทาถูนวดเจ็บปวดคลาย

ยืดความตายต่อไปอีกหลายปี

 

•แหล่งที่อยู่อาศัยให้สัตว์ป่า

มวลนกกาได้หากินในถิ่นที่

เอื้อส่ำสัตว์มวลหมู่จุลินทรีย์

พาระบบนิเวศดีที่เกิดคุณ

 

•ป้องกันภัยรักษาสิ่งแวดล้อม

ให้พรั่งพร้อมอยู่สบายใจอบอุ่น

ปรับธาตุดินน้ำลมไฟให้สมดุล

ผลต่อรุ่นลูกหลานสืบนานไป

 

•ให้ประโยชน์เอื้อเฟื้ออย่างเหลือล้น

ยังมีคนอัปรีย์ที่ทำได้

บุกทำลายเผาโค่นจนบรรลัย

พวกเหล่ามารผลาญ "ป่าไม้"ไม่รู้คุณ

•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

แรงดลใจ:

เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยของสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่าประเด็นการวิจัยทั้งหมดมุ่งหวังผลในด้านการนำไปใช้ประโยชน์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปปรับใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธารในภาคเหนือที่ถูกทำลายและเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกพืชเกษตรที่ปัจจุบันเน้นการปลูกข้าวโพด(อาหารสัตว์) โดยผู้วิจัยเกือบทั้งหมดเป็นนักวิจัยหน้าใหม่ซึ่งคาดว่าจะเป็นพลังสำคัญในการจรรโลงทรัพยากรป่าไม้ต่อไป  ทั้งนี้ขอให้กำลังใจในการมุ่งมั่นสร้างงานวิจัยป่าไม้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

            ประเด็นหนึ่งที่อภิปรายกันอย่างกว้างขวางก็คือความห่วงใยต่อพื้นที่ป่าไม้บนเขาสูงชันที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของประเทศได้ถูกทำลายกันอย่างกว้างขวางในทุกจังหวัด มีการใช้สารเคมีในรูปแบบปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเพื่อผลผลิตการเกษตรในพื้นที่อย่างมโหฬาร ก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมากมาย ทั้งที่เห็นเป็นรูปธรรม ก็คือ สภาพป่าหัวโล้นที่พื้นที่มีการกัดเซาะหน้าดินอย่างรุนแรง  การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงที่ผ่านมา การขาดแคลนเนื้อไม้เพื่อการใช้สอยฯลฯ  กับทั้งยังมีภัยที่หลายคนยังไม่คำนึงถึงก็คือการปนเปื้อนมลพิษในน้ำที่มีผลต่อเนื่องไปยังบริเวณพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเชื่อว่าในระยะยาวคงปรากฏวิกฤติภัยที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งผลเสียหายต่อสุขภาพของผู้คนที่อาจเผชิญกับการเจ็บไข้ได้ป่วยในรูปแบบของโรคภัยต่างๆมากขึ้นอย่างแน่นอน

            เท่าที่ผ่านมาได้มีโอกาสสนทนากับบุคลากรป่าไม้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่หลายครั้งเนื่องจากออกไปปฏิบัติงานเป็นระยะๆ  รวมทั้งจากการประชุมข้างต้น พอสรุปได้ว่าปัจจุบันยังไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่เป็นระบบและน่าพึงพอใจอย่างแท้จริง เท่าที่ผ่านมาได้แต่เพียงกล่าวถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ดูสวยหรูผ่านช่องทางสื่อหลายด้าน แต่ในทางปฏิบัติผู้มีอำนาจทั้งนักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงของประเทศมักเกรงกลัวต่อความเสียหายต่อคะแนนนิยมที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งในอนาคต จึงทำให้บรรยากาศที่แท้จริงของการทำงานป่าไม้ค่อนข้างวังเวง การแก้ปัญหาป่าไม้ที่ถูกต้องมิใช่เป็นเพียงรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ป่าไม้แต่เพียงฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนต้องมีจิตสำนักที่เห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้อย่างแท้จริงนั่นเอง


Last updated: 2018-06-08 14:42:21


@ มารป่าไม้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ มารป่าไม้
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
972

Your IP-Address: 3.142.197.212/ Users: 
970