อย่าเพิ่งท้อแท้ในสิ่งที่ยังไม่พยายาม และอย่าเพิ่งหมดหวังในสิ่งที่ยังไม่เริ่มต้น
 
     
 
เสือไฟ(ป่า)
เห็นใจชาวเสือไฟ ที่มีหน้าที่ในการควบคุมและดับไฟป่าเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นภารกิจที่หนักหน่วงและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ที่ผ่านมาพบว่าชาวเสือไฟหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่กับทั้งบางรายถึงขึ้นสูญเสียชีวิตไป
 

 

•เข้าทำงานเสือไฟด้วยใจรัก

หมายปกปักรักษาผืนป่าไม้

ให้ยืนยงคงมั่นสืบนานไป

รอดพ้นภัยไฟป่าเข้าราวี

•เช้าจวบค่ำตระเวนไพรไม่ย่นย่อ

เลิกหวั่นท้อเหนื่อยก็ทำตามหน้าที่

สอดส่องไปจ้องท่าทุกนาที

พบอัคคีเกิดที่ไหนไปจู่โจม

•ฝ่าแดดร้อนพงพีที่แห้งแล้ง

เน้นหาแหล่งเสี่ยงไฟไหม้ลุกโหม

พื้นที่ป่าถูกถางไว้ให้เสื่อมโทรม

เหงื่อถั่งโถมถ้วนทั่วทั้งตัวไป

•การกินอยู่ข้าวปลาทั้งอาหาร

ทุกทุกด้านทนเอาง่ายเข้าไว้

ได้พืชพรรณของป่าสมุนไพร

พออาศัยกินเพื่ออยู่หมู่พวกเรา

•นอนกลางป่าเปลี่ยนไปไม่เคยเน้น

ต้องจัดเวรแบ่งกันหลับคลายอับเฉา

หากมีเหตุแจ้งไฟให้บรรเทา

พร้อมบุกเข้าดับไฟได้ทันที

•จะยอดเขากลางไพรไกลสุดตา

ริมหน้าผาสูงเพียงใดไปถึงที่

สำลักควันสู้เปลวไฟไม่รอรี

เข้าโจมตีจนไฟราดับคามือ

•หวังผืนป่าคงมั่นจวบวันหน้า

เพื่อสัตว์ป่าอยู่อาศัยได้ยึดถือ

สิ่งแวดล้อมสดใสให้ระบือ

นั่นก็คือผลงานอันภูมิใจ

•วอนทุกคนร่วมใจกันไว้เถิด

อย่าให้เกิดไฟป่าดีกว่าไหม

เราสูญเสียผืนป่ามาเท่าใด

ทั้งเสือไฟที่ตายลับเพราะดับเพลิง

•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

แรงดลใจ :

หลังจากจบการศึกษาวนศาสตร์ ในปี พ.ศ.2524 ได้มีโอกาสทำงาน เป็นลูกจ้างชั่วคราวกรมป่าไม้อยู่ 3 เดือน โดยได้รับมอบหมายให้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยทางด้านไฟป่าที่ศูนย์ควบคุมไฟป่าภาคเหนือ ดอยสุเทพ เชียงใหม่ (ต้องขอขอบคุณพี่อภินันท์ ปลอดเปลี่ยว วนศาสตร์รุ่น 21 พี่วันชัย ปานนาคะพิทักษ์ วนศาสตร์รุ่น 36 พี่นพดล   ทรงพรและพี่ปริญญา นิลหยก วนศาสตร์รุ่น 42 และพี่วนศาสตร์อีกหลายท่านที่ให้ความเอื้อเฟื้อและเมตตาเป็นอย่างดีในสมัยนั้น) จึงได้เห็นโทษของไฟป่าที่ก่อให้เกิดความเสียหายในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้นกว่าสมัยตอนเรียนที่เน้นเพียงภาคทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังไม่มีโอกาสสัมผัสการดับไฟป่าในสถานการณ์จริง เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ถึงช่วงการเกิดไฟป่า ที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งราวเดือนธันวาคมเป็นต้นไปจนถึงวาระที่มีฝนตกมาตามฤดูกาล

อย่างไรก็ตามหลังจากบรรจุรับราชการที่สำนักงานป่าไม้เขตสระบุรี ได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสวนป่าคลองไทร และสวนป่าปางหัวช้าง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2525 นับว่าได้มีโอกาสสัมผัสการดับไฟป่าเป็นอย่างดี โดยที่ไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ดับไฟป่าเฉพาะ หากมีไฟป่าเกิดขึ้นก็ใช้การตัดกิ่งไม้สดซึ่งมักเป็นพวกไม้กระถินยักษ์ในการตบสู้ไฟ เพื่อให้ไฟดับ ซึ่งก็ได้ผลดีพอควร แต่นับว่าเป็นการเสี่ยงภัยเป็นอย่างมาก นอกจากการสำลักควันและเผชิญกับความร้อนแล้วบางครั้งเกิดลมพัดย้อนกลับทำให้เปลวไฟลวกไหม้ผิวหนังและผม จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่ดับไฟป่าแล้วเสื้อผ้าแทบไหม้เพราะลมหวนกลับรุนแรงและมีหญ้าที่เป็นเชื้อเพลิงอยู่มาก หลังจากนั้นก็ตั้งปณิธานว่าขอไปทำงานป่าชายเลนดีกว่า เพราะนอกจากถนัดแล้วยังไม่อยากบาดเจ็บหรือตายจากไฟป่า

เห็นใจชาวเสือไฟ ที่มีหน้าที่ในการควบคุมและดับไฟป่าเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นภารกิจที่หนักหน่วงและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ที่ผ่านมาพบว่าชาวเสือไฟหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่กับทั้งบางรายถึงขึ้นสูญเสียชีวิตไป ทั้งที่คนเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นเพียงพนักงานราชการ และบางส่วนเป็นพนักงานรับจ้าง ในลักษณะการเหมาจ่าย(ซึ่งทางราชการคิดขึ้นมาเพื่อหลบความรับผิดชอบในการประกันสังคม)  ที่เฉลี่ยแล้วได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 300 บาท อันเป็นเงินค่าจ้างที่แสนน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบปฏิบัติงาน รวมทั้งไม่น่าจะมีสวัสดิการอย่างอื่นตอบแทนให้ ไม่ทราบว่าทางราชการได้มีการจัดทำประกันภัยให้หรือไม่ หากไม่มีควรต้องมีการดำเนินการให้ทุกคน แม้ต้องเสียงบประมาณบ้างก็ตาม เพื่อไม่เอาเปรียบคนเหล่านี้มากเกินไปนั่นเอง

 

 

 


Last updated: 2017-03-11 16:45:59


@ เสือไฟ(ป่า)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ เสือไฟ(ป่า)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,055

Your IP-Address: 18.97.14.86/ Users: 
1,054