เราห้ามคนคิดไม่ดีกับเราไม่ได้ แต่เราทำให้เขาคิดกับเราดีขึ้นได้
 
     
 
เรดด์กลไกระดับโลกเพื่อลดการทำลายป่า
ควรเร่งหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 

จากการตื่นตัวด้านภาวะโลกร้อนและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคนทั่วโลก  ทำให้ปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมาในการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 11 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศคานาดา ได้มีการเสนอแนวคิดให้เพิ่มเรื่องของการทำลายป่าเข้าไปในกลไกการพัฒนาที่สะอาด แต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนักในด้านมาตราการและการนำไปปฏิบัติ  จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550  คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC- Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้รายงานว่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องมาจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในเขตร้อนสาเหตุเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด  แนวคิดดังกล่าวมีความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 13 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคม โดยกำหนดให้เป็นกลไกเพิ่มเติมซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกลไกการพัฒนาที่สะอาด ที่เรียกว่า REDD


REDD (Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Countries) คือ กลไกที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา ภายหลังจากการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 13  ได้ข้อสรุปว่าควรเร่งหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังให้ผลประโยชน์ร่วมที่มีผลต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย  ประเทศภาคีสมาชิกยังให้การรับรองว่ามาตรการที่กำหนดขึ้นนั้น จะต้องคำนึงถึงความสำคัญและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นคือ ต้องเป็นการดำเนินการด้วยความสมัครใจ  ต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ส่งเสริมมาตรการการจัดการป่าอย่างยั่งยืน  ดังนั้นจึงมีการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับ REDD เพื่อให้ได้แนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจน

ประเด็นเกี่ยวกับ REDD ที่ยังต้องศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. ประเด็นด้านเทคนิควิธีการ (Methodological Issues) เป็นประเด็นที่ต้องมีการศึกษาค่อนข้างมาก ประกอบด้วยหลายประเด็นย่อย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการติดตามตรวจสอบ และประเมินผล ได้แก่ รูปแบบของ REDD คำนิยามของป่า และวิธีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
  2. ประเด็นด้านการสร้างแรงจูงใจ (Positive Incentives) เนื่องจาก REDD เป็นกลไกเกี่ยวกับการลดการทำลายป่า ซึ่งย่อมส่งผลต่อการดำรงชีวิตของชุมชน จึงจำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจที่มากเพียงพอให้ชุมชนเกิดความต้องการรักษาป่า ซึ่งอาจเป็นการให้เงินตอบแทน หรือ การใช้กลไกทางการตลาด
  3. ประเด็นด้านนโยบาย (Policy Approach) เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายป่าไม้ของแต่ละประเทศ ที่จะส่งเสริมให้กลไก REDD สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินการของ REDD ในระหว่างประเทศภาคีสมาชิกยังมีความแตกต่างกัน เนื่องจากความแตกต่างของสภาพการณ์ของการทำลายป่าของแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. RED (Reducing emissions from deforestation) เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมโทรมของป่า เนื่องจากมีความเห็นว่าความเสื่อมโทรมของป่านั้นจำแนกได้ยาก และการใช้ประโยชน์หรือการทำไม้จากป่าธรรมชาตินั้น ไม่ได้ทำให้ป่าเสื่อมโทรมเสมอไป หากมีการจัดการที่ดี ประเทศที่สนับสนุนรูปแบบนี้คือ ประเทศบราซิล
  2. REDD (Reducing emissions from deforestationa and degradation) เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า เนื่องจากความเสื่อมโทรมของป่าเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบในรูปแบบนี้
  3. REDD+ (Reducing emissions from deforestation and degradation and enhancement of carbon stocks) เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการเก็บกักคาร์บอนด้วยการปลูกป่า เป็นข้อเสนอของกลุ่มประเทศที่มีการทำลายป่าน้อยแต่มีการเพิ่มพื้นที่ป่ามากขึ้น เช่น ประเทศอินเดีย และประเทศจีน



Last updated: 2015-01-02 09:47:12


@ เรดด์กลไกระดับโลกเพื่อลดการทำลายป่า
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ เรดด์กลไกระดับโลกเพื่อลดการทำลายป่า
 
     
     
   
     
Untitled Document



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,275

Your IP-Address: 52.207.218.95/ Users: 
2,274