ผู้ที่ประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ทำความฝันให้เป็นความจริงได้อยู่เสมอ
 
     
 
วิสัยทัศน์ของเด็กน้อย
ข้าพเจ้าลืมบอกชื่อเสียงเรียงนามเด็กน้อยคนนั้น ชื่อเล่นว่า “ลิเก” บัดนี้เติบใหญ่ไม่เจอกันนาน แต่ได้ข่าวมาพักหนึ่งว่าได้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้
 

 

ขณะนี้หน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังคัดสรรผู้ที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง  ถ้าเป็นกฎหมายเก่าก็ เป็น ซี 9 และเมื่อวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม ปีนี้ได้พบกับผู้ใต้บังคับบัญชาเก่ามาเยี่ยมที่สุรินทร์ และได้แจ้งให้ทราบว่า ได้สมัครเข้าคัดเลือกเป็นผู้บริหารระดังสูงแล้ว ผู้เขียนก็บอกไปว่าสมควรแล้วเพราะคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ ในด้านการงานนั้นความสามารถนับว่าเหลือเฟือ ถ้าเป็นทางด้านวิชาการแล้ว หาก ย.โยง ได้ฉายาว่าคัมภีร์ลูกหนัง น้องคนนี้คงจะได้ฉายาว่า “คัมภีร์ ป่าชุมชน – ป่าบุ่ง – ป่าทาม แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ผลงานข้อเขียนทางวิชาการเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการป่าไม้ หากจะเอาคุณสมบัติที่กระทรวงกำหนดมาปรับ เช่น วุฒิการศึกษา การเข้ารับการฝึกอบรม การดูงานที่สำคัญ ประสบการณ์หรือการปฏิบัติงานพิเศษ ความสามารถพิเศษ เครื่องอิสริยาภรณ์ ผลงานที่สำคัญทางด้านวิชาการพิเศษและด้านบริหาร ไม่เคยต้องคดีอาญา คดีปกครองและถูกสอบวินัย ยังเหลือแต่เพียงว่า คณะกรรมการจะให้แสดงวิสัยทัศน์อย่างไรก็แล้วแต่ท่าน คุณสมบัติที่กล่าวมาเต็มพิกัด อุปนิสัยใจคอเป็นคนซื่อตรง อ่อนน้อมถ่อมตน จึงคาดว่ามาถึงยุครัฐบาลนี้ที่ต้องการคนซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสตรวจสอบได้ ไอ้น้องคนนี้คงจะมีโอกาสติดหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้แน่ จะรอดู.....????

จากวันนี้ทำให้นึกย้อนไปในอดีตเมื่อประมาณปี พ.ศ.2535-2536 ข้าพเจ้ากลับเข้ามาปฏิบัติงานยังสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานีดังเดิม เนื่องจากทางกรมป่าไม้ได้มีการหยุดทดลองการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาป่าไม้ การกลับมาครั้งนี้มาอยู่ในสังกัดเดิม คือฝ่ายปลูกสร้างสวนป่าซึ่งมี พี่มนัส ดอนสกุล เป็นหัวหน้าฝ่าย   การกลับมาครั้งนี้มาพบกับเพื่อนร่วมงานที่ย้ายมาจากที่อื่นเพิ่มขึ้น ท่านหัวหน้าฝ่ายออกจะเป็นคนเฉื่อยชาไปบ้าง เพราะท่านเห็นโลกมามาก และเป็นลูกชายคนเดียวของเจ้าของโรงสีอำเภอพิบูลมังสาหาร เมื่อจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ก็ไปต่อปริญญาโทที่ประเทศฟิลิปปินส์ จบจากยูพี กลับมารับราชการเหมือนเดิมเนื่องจากลาเรียนด้วยเงินส่วนตัว ท่านจึงอาจก้าวหน้าช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่น เป็นคนถ้าชอบใครแล้วถึงไหนถึงกัน หากไม่ชอบอาจจะตึงๆ สักหน่อย ก็เป็นวิสัยมนุษย์ธรรมดาทั่วไป เราเป็นกบไม่มีโอกาสเลือกนายอยู่แล้วในความเป็นจริง ฝ่ายปลูกสร้างสวนป่าของเราคิดว่าทุกท่านที่รับราชการกรมป่าไม้คงทราบดีถึงโครงสร้างและงานที่ต้องปฏิบัติเป็นงานปลูกสร้างสวนป่าและบำรุงสวนเดิม  สำหรับข้าพเจ้านั้นบรรจุครั้งแรกที่ฝ่ายป้องกันรักษาป่า ในตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี ไปเอาซี 4 ที่เชียงราย ฝ่ายจัดการป่าไม้ ไปเป็นหัวหน้าหน่วยจัดการป่าไม้ที่ ชร.9 อ.แม่สวย จ.เชียงราย 2 ปี ขอย้ายกลับมาที่ป่าไม้เขตอุบลราชธานี บรรจุใหม่ในฝ่ายปลูกสร้างสวนป่า ในตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 5 จำได้ว่าในตอนนั้นจะขึ้นซี 6 แต่เลขที่ตำแหน่งที่ครองเป็นอัตรา 3 - 5 จึงจำเป็นต้องหาเลขที่ไปถึงซี 6 ได้ พอดีมีเลขอยู่แต่เป็นเลขที่ คุณประลอง ดำรงค์ไทย ครองอยู่ จึงขอแลกเปลี่ยนตำแหน่งเนื่องจากในตอนนั้นคุณประลองมีตำแหน่ง นักวิชาการป่าไม้ 3 โตไม่ทัน จึงยกตำแหน่งให้รุ่นพี่ เราทำบันทึกแลกเปลี่ยนตำแหน่งกัน และข้าพเจ้าไปสอบซี 6 ถึง 5 ครั้ง จึงได้บรรจุ และต้องขอขอบคุณ ท่านประลอง ดำรงค์ไทย ซึ่งขณะนี้ทราบว่าท่านดำรงตำแหน่งเป็น รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดีใจด้วยนะ หลังจากไปอยู่สำนักงานพัฒนาป่าไม้ กลับมาดังได้เกริ่นไว้เบื้องต้น ก็มาพบเด็กน้อยย้ายมาจากที่ใดจำไม่ได้ รูปร่างสูงใหญ่ปานกลาง  จึงได้เพื่อนร่วมงานอีกคน น้องคนนี้มีอัธยาศัยไมตรีดี ขยัน แต่เป็นที่ประหลาดใจว่าทำไมหัวหน้าฝ่ายจึงไม่ชอบ พี่มนัสฯ หัวหน้าฝ่าย หากจับทางถูกยืมเงินแสนไม่คิดเงินดอกเบี้ย น้องเลยมาป้วนเปี้ยนอยู่กับข้าพเจ้า ถือว่าเป็นความโชคดีของข้าพเจ้าที่มีคนมาคอยช่วยงานข้าพเจ้า แม้จะอยู่ฝ่ายมานานแต่ไม่เคยไปทำหน้าที่หัวหน้าสวนป่าแม้แต่สวนเดียว  อยู่ฝ่ายตลอด มีหน้าที่ในการเป็นทั้งหัวหน้างานปลูกป่าภาครัฐ และหัวหน้างานปลูกป่าภาคเอกชน มีหน้าที่พิจารณาแผนงานประจำปี และพิจารณาแผนงานประจำเดือน กรองงานให้หัวหน้าฝ่าย พอสิ้นเดือนก็ออกไปตรวจรับรองงานประจำเดือนของทุกสวนป่าที่สังกัด ว่าปลูกหรือจัดทำงานตามกิจกรรมประจำเดือนตามที่ได้เสนอครบถ้วนดีหรือไม่อย่างไร แล้วมาเสนอเพื่อสวนป่าจะได้ใช้เป็นหลักฐาน เพื่อขออนุมัติเบิกเงินต่อไป บางครั้งสวนป่าใดที่หัวหน้ามีปัญหาการเงินกับคนงานก็จะไปเป็นประธานคณะกรรมการจ่ายเงิน และรวบรวมรายงานที่กรมส่งให้ตรงตามกำหนด  เมื่อได้น้องใหม่มาช่วยงานก็เบาลง แต่ก็มีบางส่วนที่ คุณวิสูตร  อยู่คง  จากกลุ่มงานวิชาการ มาขอไปร่วมงานป่าชุมชน  การจัดอบรมแทบทุกหลักสูตร ไม่ว่า ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ราษฎรอาสาสมัครดับไฟป่า ป่าชุมชน และแม้กระทั่งออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ที่เราเรียกย่อว่า  “หน่วยมุท” และติดตามไปดูงานป่าบุ่ง ป่าทาม งานอะไรก็ตามที่กลุ่มงานวิชาการขอแรงมาไม่เคยขัด นอนตามวัด ตามหมู่บ้าน เรียกว่าใครชวนไปทำอะไร    ไม่เคยขัด จึงทำให้เรามีประสบการณ์ในหลายด้าน จะว่าไปก็คือ รู้ เหมือนเป็ด.....

เรามาว่าเรื่องน้องที่มาอยู่ด้วยกันต่อดีกว่า มีอยู่วันหนึ่งไอ้น้องได้มานั่งปรึกษาว่า....!?

                “พี่ทศ ผมถามหน่อยเถอะว่าหัวหน้าท่านเป็นคนยังไง ผมไปเสนออะไรแกก็ไม่เอาสักอย่าง บ้างครั้งยังไม่ทันได้ดูว่าผมเสนออะไร ปฏิเสธเสียก่อนแล้ว พี่อยู่มานาน อธิบายให้ผมฟังบ้างสิ”

ข้าพเจ้าจึงตอบไปว่า....

                “เล่าไปเหมือนเอาเรื่องเจ้านายมานินทาเสียมารยาท คุณคอยสังเกตดูว่าแกชอบอะไร แต่ผมว่าคุณอยู่สักพักคงจะเข้าใจ เอาเป็นว่าคุณมีอะไรจะเสนอว่ามา”

                ไอ้น้องเมื่อข้าพเจ้าเปิดโอกาสรีบรายงานทันที...

                “เวลาผมเสนองานสวนป่าไม่ว่าจะเป็นสวนไหน ทำไมต้องแนบเรื่องเดิมไปทั้งหมด บางสวนมี 2 – 3 แฟ้ม มันหนาเกินไป ป่าไม้เขตท่านไม่มีเวลาดูเรื่องเดิมเป็นแน่”

ข้าพเจ้าจึงตอบไปว่า...

“เรื่องแฟ้มงานของเรามันไม่เป็นระเบียบมานานแล้ว บางทีเด็กเก่าก็เห็นปีนี้มีแปลงปลูกใหม่ตั้งแฟ้มขึ้นมาใหม่ เพราะพวกเราไม่ค่อยได้อ่านระเบียบสารบรรณ จึงไม่มีการคัดเลือกเอกสารเก่าที่ไม่สำคัญที่มีอายุเกิน 10 ปี แล้วขอทำลาย คุณดูในตู้เหล็กเอกสารเก่าเต็มไปหมด บางแฟ้ม 20 ปีก็มีให้เห็น เอาเป็นว่าคุณอยากจะจัดทำอะไรก่อน”

ไอ้น้องนั่งมองตาข้าพเจ้าเหมือนไม่แน่ใจ ข้าพเจ้าจึงบอกไปว่า เสนอมาเลยตอนนี้ในฝ่ายผมอาวุโสรอง ลูกพี่ไม่ว่าอะไรหรอก เด็กน้อยจึงเสนอว่า....

“ผมอยากจะจัดทำทะเบียนสวนป่าทั้งหมดของเราให้อยู่ในเล่มเดียว โดยอธิบายว่าจะนำสมุดสีน้ำเงินที่โตกว่าสมุดเบอร์ 2 ถ้าเป็นขนาดในปัจจุบันก็เท่ากระดาษ เอ 3 มาลงแผนที่สวนป่าของแต่ละสวนไว้ในแผ่นเดียวกัน โดยรวมทุกแปลงปลูก เนื้อที่ ชนิดไม้ที่ปลูก ข้อมูลสวนป่าแต่ละท้องที่ไว้เป็นหมวดหมู่ เวลาเราต้องการข้อมูลสวนป่าไม่ว่าเรื่องอะไร เปิดเล่มนี้เล่มเดียวรู้ทันที ไม่ต้องค้นแฟ้มในตู้ให้กระจุยกระจาย รูปแปลงสวนป่าจะพยายามย่อโดยใช้มาตราส่วน ให้พอที่จะบรรจุลงในสมุดได้”

 พอข้าพเจ้าได้ฟัง ข้าพเจ้านั่งฉงนสนเท่ห์ไปสักครู่ ไอ้น้อง ซี 3 หรือ ซี 4 (จำไม่ได้แล้ว) ซึ่งนั่งตรงหน้ามีความคิดเสนอมาได้อย่างไร ไอเดียนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝัน แต่การปฏิบัตินั่นไม่ง่ายเลย จึงถามเพื่อให้ยืนยัน ได้รับคำตอบว่าทำได้ถึง 2 ครั้ง ขอเวลา 1 เดือน สำหรับข้าพเจ้าแล้วจะเสร็จเมื่อไหร่ไม่สนใจ ที่แน่นอนต้องทำและทำให้ได้ จึงบอกอนุญาตไป ขาดเหลืออะไรให้บอก ช่วยเต็มที่....???

หลังจากวันนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ใคร่ได้สนใจอะไรมากนัก แต่บางครั้งก็เห็นไอ้น้องวิ่งค้นหาแผนที่และง้วนอยู่กับงานที่รับปาก เวลาผ่านไป 20 กว่าวัน ตอนเช้าข้าพเจ้าเดินเข้าไปนั่งประจำที่ เห็นสมุดสีน้ำเงินวางอยู่ที่โต๊ะ ที่ปกเขียนข้อความว่า “ทะเบียนสวนป่าในเขตควบคุมของสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานี” จึงนั่งเปิดดูหน้าแรก เป็นสารบัญ มีลำดับที่ ชื่อสวนป่า ท้องที่ตั้งของสวนป่า ไล่จากสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร (ในตอนนั้นยังไม่ได้คุมพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร) ทุกสวนป่ามีข้อมูลที่สำคัญ เช่นปลูกปีใด  เนื้อที่เท่าใด ปลูกชนิดไม้อะไร สวนเดิมที่ยังมีเงินบำรุงมีอยู่เท่าใดและที่หมดเงินบำรุง รวมทั้งสิ้นมีจำนวนเท่าใด บางแปลงที่มีปัญหาก็ลงสีเพื่อเน้นให้เห็นเด่นชัด สมุดเล่มนี้เป็นคัมภีร์สวนป่าที่เทียบได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราในยุคปัจจุบัน ได้รวบรวมข้อมูลไว้เป็นหมวดหมู่ เพียงแต่มีขนาดโตกว่าแผ่นดิสก์ประมาณ 10 เท่า และหลังจากได้เปิดดูและตรวจเรียบร้อยแล้วก็เรียกไอ้น้องมาพบแล้วบอกว่า...!?

                “ผมตรวจดูเรียบร้อยแล้วสมบูรณ์ดี ข้อมูลเป็นหมวดหมู่แผนที่ก็อยู่ในมาตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นเอกสารทางราชการ คุณบันทึกเสนอป่าไม้เขตมาก็แล้วกันว่าตามที่คุณได้เสนอขอจัดทำและทางฝ่ายได้อนุญาตให้จัดทำ และงานก็เสร็จสิ้นแล้ว จึงเรียนมาเพื่อขอใช้เป็นข้อมูลในการปฏิบัติงานต่อไป บันทึกเสร็จมาผ่านผมก่อน”

                ไม่ถึงครั้งชั่วโมงบันทึกจากผู้จัดทำก็มาวางตรงหน้า ข้าพเจ้าไม่รอช้าเสนอป่าไม้เขต ผ่านหัวหน้าฝ่ายปลูกสร้างว่าขอใช้เอกสารที่จัดทำขึ้นใหม่ เป็นข้อมูลสวนป่าและได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว เห็นควรแจ้งให้ทุกฝ่ายในสำนักงานป่าไม้เขตทราบ เพื่อเป็นการประสานงาน พอหนังสือผ่านหัวหน้าฝ่าย ท่านไม่ว่าอะไร       ลงนามกำกับ พอถึงป่าไม้เขตท่านลงนาม... “ชอบ–ดำเนินการ”

                หลังจากนั้นสมุดเล่มนี้ ได้ถูกขอยืมไปใช้ไม่ว่าจะเป็นบรรดาหัวหน้าสวนป่า หรือฝ่ายอื่นที่ต้องการข้อมูลก็จะมาขอยืมไปใช้หากเป็นสินค้าก็ขายดิบขายดี เพราะสะดวก ถูกต้อง ข้อมูลครบในเล่มเดียว หลังจากนั้นไม่นานนักข้าพเจ้าถูกแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าฝ่ายเพาะชำกล้าไม้ และไอ้น้องได้ย้ายจากสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานี ไปแล้ว แต่ทว่าสมุดสีน้ำเงินเล่มนั้น ยังใช้อยู่ตราบจนมีการแบ่งแยกออกเป็น 3 กรม สมุดสีน้ำเงินเล่มนั้นก็ถูกส่งมอบให้กรมป่าไม้รับไปพร้อมสวนป่า...

                จากวันนั้นถึงวันนี้ ข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีการคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งเท่าที่ทราบหากตำแหน่งสูงกว่าระดับ 8 จะต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์  จึงทำให้นึกถึงเด็กน้อยที่เคยอยู่กับข้าพเจ้า เหตุการณ์พฤติกรรมในตอนนั้นจะถือเป็นวิสัยทัศน์ได้หรือไม่ ถ้าได้แสดงว่าไอ้หนุ่มของข้าพเจ้าก็ได้แสดง “วิสัยทัศน์” ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กอยู่ เพราะสิ่งที่คิดสิ่งที่ทำเป็นการคาดหวังที่สามารถทำได้ตามกำหนดเวลา มันเป็นฝันที่เป็นจริง ข้าพเจ้าลืมบอกชื่อเสียงเรียงนามเด็กน้อยคนนั้น ชื่อเล่นว่า “ลิเก” บัดนี้เติบใหญ่ไม่เจอกันนาน แต่ได้ข่าวมาพักหนึ่งว่าได้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้ แต่ปัจจุบันไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชื่อเสียงเรียงนามคือ ท่านรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา .....???

 


Last updated: 2016-01-04 23:09:01


@ วิสัยทัศน์ของเด็กน้อย
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ วิสัยทัศน์ของเด็กน้อย
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,256

Your IP-Address: 18.97.14.86/ Users: 
1,255