อย่าพูดว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำ
 
     
 
พะยูงของกลางอยู่ที่ไหน...?
แต่มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกก็คือ ไม้พะยูงที่ยังหลงเหลืออยู่อีกมากตามหน่วยงานภาคสนามที่ค่อยๆ ทยอยกันตกเป็นของแผ่นดิน ทางรัฐบาลมีนโยบายอย่างไร
 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับของกลางในคดีป่าไม้  ซึ่งเราจะพบว่าองค์ประกอบมีทั้ง มีด ขวานเลื่อยมือ เลื่อยโซ่ยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เป็นต้น และสุดท้ายคือไม้ ในการจับกุมไม้พะยูงตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี เรายึดของกลางที่สำคัญและมีค่า 4 อย่างคือ เลื่อยโซ่ยนต์ รถยนต์ และไม้พะยูง เป็นจำนวนมาก ในครั้งนี้จะขอยกเอาของกลางไม้พะยูงมากล่าวเสียก่อน เพราะหากทิ้งไว้นานจะผุพังเสื่อมคุณภาพได้เร็วกว่าของกลางอย่างอื่น หากไม่รีบนำไปใช้ประโยชน์จะเสื่อมคุณค่าและเสียโอกาส ทางราชการที่มีหน้าที่ก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้เป็นกิจะลักษณะว่าจะนำไม้พะยูงที่ยึดมาได้นี้ไปทำอะไร พอทราบข่าวว่าจะไม่จำหน่าย แต่จะนำไปสร้างพิพิธภัณฑ์ แล้วข่าวก็หายเงียบไป.....?

                ไม้พะยูงของกลางที่จะนำไปใช้ได้นั้นต้องเป็นไม้พะยูงที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินแล้วเท่านั้น การที่ไม้พะยูงจะตกเป็นของแผ่นดิน มีใน 2 กรณีคือ ในคดีที่จับกุมมีตัวผู้ต้องหา อัยการสั่งฟ้องและศาลตัดสินให้ริบไม้ของกลาง กรณีที่ 2 ตกเป็นของแผ่นดินโดยอายุความ คดีใดที่จับไม้โดยไม่ได้ตัวผู้ต้องหาประกาศ 30 วัน ไม่มีเจ้าของมารับต้องทิ้งไว้จนครบ 5 ปี ไม้ของกลางจึงจะตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 ไม้ของกลางขณะนี้มีอยู่ 3 สถานที่ที่ดูแลรับผิดชอบ หนึ่งตกอยู่ตามหน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้ สองอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าและสามอยู่ในคลังสินค้าของกรมศุลกากร ดังที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นว่าไม้จะตกเป็นของแผ่นดินนั้นต้องอาศัยเวลาไม่ได้ตกเป็นของแผ่นดินพร้อมกันเสียทั้งหมด จะทยอยตกเป็นของแผ่นดินอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ดังได้กล่าวไว้แล้ว....!!

                ดังที่ได้รับข่าวสารตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะมีการนำไปใช้แต่ก็ผัดผ่อนเรื่อยมาจนถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ามาบริหารบ้านเมืองจึงได้รับฟังการแถลงข่าวของผู้ช่วยโฆษกกองทัพบกแถลงว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติเมื่อ 2 กรกฎาคม 2557 อนุมัติให้สร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าบริเวณหอประชุมกองทัพบก ถนนนครราชสีมา เขตเทเวศร์โดยใช้เวลา 4 ปี ในวงเงินงบประมาณ 2,455 ล้านบาท โดยมอบให้หน่วยงานสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตั้งงบประมาณ ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 นี้จะใช้งบกลางของรัฐบาล สำหรับงบปี 2558-2560 ให้บรรจุไว้ในงบปรกติของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป.

                เมื่อเราทราบวัตถุประสงค์ และสถานที่แล้วว่าจะใช้ทำอะไรเรามาดูว่าได้เริ่มต้นก่อสร้างไปอย่างไร อันดับแรกก่อนคือ แบบแปลน ได้รับข่าวสารว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุมกรมศิลปกร นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปกรหารือร่วมกับ พล.ต.จาตุรนต์ จารุเสน เจ้ากรมยุทโยธาทหารบกและผู้แทนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า ซึ่งจะสร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาและจะแสดงสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินโดยกรมศิลปกรได้ดำเนินการออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว...?

                คราวนี้เรามาดูว่าเมื่อการก่อสร้างพะยูงที่ยึดเป็นท่อนเป็นเหลี่ยมจะต้องมีการขนย้ายไปพักไว้เพื่อการแปรรูปให้ได้ขนาดตามที่ต้องการจะใช้ และไม้พะยูงได้เดินทางไปพักไว้แล้วหรือยังมาดูสัก 2 – 3 ตัวอย่าง

                1.เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 นายชาญณรงค์ เพชรดี หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อบ.14 (ห้วยยอดมน – ช่องเม็ก) ได้รับมอบหมายจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี กรมป่าไม้ ให้ตรวจสอบไม้พะยูงของกลางในคดีและการขนย้ายไม้ที่ตกเป็นแผ่นดิน รวม 3 คดีที่คดีถึงที่สุดแล้วได้ จำนวน 4,612 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร 48.996 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำส่งที่หมอนไม้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)  อู่บก ถนนพหลโยธิน ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีคณะทำงานรับมอบประกอบด้วย กองทัพบก กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมศุลกากร

                2.  เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี ได้ขนย้ายไม้พะยูงของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 387/2558 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ประกอบด้วยผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุนันท์ บุญมี ผู้ว่าราชการอำนาจเจริญ เป็นประธานในการขนย้ายไม้พะยูงของกลางจำนวน 14 คดี รวมไม้พะยูงได้ 347 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร 26.04 ลูกบาศก์เมตร จากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อจ.1 (อำนาจเจริญ) ไปยังหมอนไม้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) อู่บก ถนนพหลโยธิน ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งมอบให้กองทัพบกนำไปก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า ด้วยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 62-1234 กทม. โดยมีนายพรชัย สายกระสุน เป็นพนักงานขับรถ

                ยังมีของกลางจากจังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี อีกหลายรายจะไม่ขอกล่าวถึงที่ได้นำมาเป็นตัวอย่างข้างต้น เพื่อให้ทราบว่า การขนส่งไม้มีค่า และแพงที่สุดในโลกต้องมีความละเอียดรอบคอบเพราะก่อนที่จะนำไม้เคลื่อนที่ว่านี้เป็นไม้ถูกยึดตอกตีตรายึด เมื่อนำไปใช้อันดับแรกต้องตีตรา ป. “ปล่อย” เสียก่อน แล้วนำบัญชีไม้ไปขอออกใบเบิกทางที่สำนักงานทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ เจ้าหน้าที่จะเขียนใบเบิกทางตามบัญชีและออกมาประทับตรา “ต” ซึ่งเป็นตราตรวจ ในใบเบิกทางจะลดรายละเอียดผู้ขับขี่ เส้นทางสถานที่ลง และเมื่อลงแล้วคนขับต้องนำใบเบิกทางแจ้งเข้าด่านป่าไม้ปลายทาง การกำกับไม้เคลื่อนที่มีขบวนการที่รัดกุมมากหากปฏิบัติไม่ครบถ้วนเจ้าหน้าที่ละเลย อาจเป็นเหตุให้ไม้ถูกสวมและสูญหายได้ เนื่องจาการขนย้ายครั้งละจำนวนมาก ไม้จากทุกหนทุกแห่งที่ตกเป็นของแผ่นดินต่างเดินทางไปที่หมอนไม้ อู่บก ถนนพหลโยธิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะสถานที่นี้เป็นหมอนไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีโรงเลื่อยไม้ติดตั้งอยู่ มีศักยภาพที่จะแปรรูปไม้ได้และเป็นหน่วยงานของรัฐเชื่อถือได้ ตามข่าวไม้ที่เดินทางมารวมไว้ที่นี้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2558 มีไม้จำนวน 50,000 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร ประมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตร และโรงเลื่อยได้เริ่มดำเนินการแปรรูปไม้แล้ว ทุกขบวนการมีคณะกรรมการดูแลตรวจสอบ เศษไม้ และขี้เลื่อยก็เก็บรักษาไว้เพราะใช้ประโยชน์แทบทุกชิ้น เศษไม้ใช้ทำ ตะเกียบ พวงกุญแจเพราะเนื้อไม้ลายสวยงามมาก

                จากการข่าวทราบว่าอาคารพิพิธภัณฑ์ด้านนอกจะทำด้วยไม้สัก ภายในอาจจะบุด้วยไม้พะยูง การดำเนินงานตามที่ได้เล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง ไม้พะยูงของกลางไม่ได้หายไปไหนขณะนี้ได้กองเตรียมไว้เพื่อสร้างอนุสรณ์สถาน แต่มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกก็คือ ไม้พะยูงที่ยังหลงเหลืออยู่อีกมากตามหน่วยงานภาคสนามที่ค่อยๆ ทยอยกันตกเป็นของแผ่นดิน ทางรัฐบาลมีนโยบายอย่างไรรีบดำเนินการ เพราะหน่วยงานภาคสนามมีอัตรากำลังน้อยให้เฝ้าทองคำเขียว คนเฝ้าจะเป็นโรคจิตเสียก่อน เพราะมีโอกาสสูญหายได้หลายทาง ทั้งเกิดจากการรับมอบส่งงานเนื่องจากผลัดเปลี่ยนหัวหน้า และหายเนื่องจากถูกลักเล็กขโมยน้อยซึ่งเป็นไปได้ทั้งสิ้น รีบคิดหามาตรการนำไปใช้ประโยชน์ มิฉะนั้นไม้พะยูงจะหายรอบที่สอง ครั้งแรกหายจากป่า ครั้งที่สองหายจากในเมือง....????

 

 


Last updated: 2015-07-16 16:16:01


@ พะยูงของกลางอยู่ที่ไหน...?
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงของกลางอยู่ที่ไหน...?
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,466

Your IP-Address: 3.15.221.146/ Users: 
1,465