รู้จักให้...ในสิ่งที่คนอื่นอยากได้
 
     
 
รอดมาได้...เพราะไม่โลภ
จะว่ามีการเล่นตุกติกนอกกติกา ก็ไม่เห็นเรียกประชุมหัวหน้าฝ่ายเพาะชำกล้าไม้ของเขต คงจะเป็นกรณีที่เขานินทาก็ได้ว่ากันเงินไว้แล้วไม่มีใครไปวิ่ง
 

กริ้งๆๆ...เสียงโทรศัพท์มือถือโนเกีย 101ซึ่งใหญ่เทอะทะอยู่เบาะข้างตัว เพื่อความปลอดภัยจึงจอดรถข้างทางซึ่งอยู่ห่างประตูทางเข้าสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานีประมาณ 300 เมตร เท่านั้น เสียงที่ดังจากลำโพงมีแววตื่นเต้น ระคนร้อนใจดังขึ้นว่า...

“ฮัลโหล...ฮัลโหล นั้นมึงหรือเปล่าไอ้ทศ”

ข้าพเจ้าจำเสียงได้ ตอบไปว่า...

“ใช่ครับ ผมทศนารถ มีธุระอะไรไม่ทราบ”

เสียงตามสาย คราวนี้รู้สึกว่าจะฉุนโวยวายออกมาว่า...

“เออใช่มึงก็ดีแล้ว อย่ามัวเล่นลิ้น ตอนนี้พ่อมึงรอที่ทำงานแล้ว”

ข้าพเจ้าเริ่มจำเสียงได้ว่าเป็นเจ้าวุฒิ รุ่นเดียวกันประจำอยู่กรมป่าไม้ คงมีเรื่องไม่ดีหรือเหตุด่วน  เหตุร้ายเป็นแน่เพื่อนถึงได้โวยวายถึงขนาดนี้ จึงได้สอบถามได้ความว่า วันนี้เวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินในท้องที่ป่าไม้เขตตั้งอยู่จะเข้าตรวจสอบการเพาะชำกล้าไม้ ทุกเขตพร้อมกันทั่วประเทศพร้อมกัน ในตอนแรกได้ยินใจสั่นอยู่เหมือนกัน แต่ตั้งสติได้จึงสงบ  ตลอดเวลาทำงานมีแต่ตรวจสอบคนอื่นมาโดนตัวเองเล่นเอาใจแทบกระเจิง ข้าพเจ้านั้นหลังจากไม่ได้เป็นหัวหน้าสำนักงานพัฒนาป่าไม้แล้วก็กลับมาสังกัดเดิมคือ ฝายปลูกสร้างและบำรุงป่าพอดีกับกรมจัดอัตรากำลังให้ใหม่จึงต้องย้ายไปอยู่ที่ฝ่ายเพาะชำกล้าไม้ เลขที่ตำแหน่งลงเป็นหัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้สุรินทร์ การทำงานป่าไม้หน่วยงานที่ไม่อยากเข้าไปทำเลยคือฝ่ายปลูกสร้างและบำรุงป่า และฝ่ายเพาะชำกล้าไม้ แต่พระเจ้าชอบเล่นตลก  ตอนอยู่ฝ่ายปลูกสร้างสวนป่าก็ต้องขอร้องหัวหน้าฝ่าย ไม่ขอเป็นหัวหน้าสวนป่า ขอทำงานในสำนักงาน จึงต้องทำงานปลูกป่าภาคเอกชน พอกรมป่าไม้จัดอัตรากำลังใหม่ก็หนีไม่พ้น หัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้สุรินทร์ จึงเดินทางไปรับงานอยู่ได้ 2 เดือน ท่านเขตเรียกเข้าพบและแจ้งว่าจะแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายเพาะชำกล้าไม้  เพราะหัวหน้าตัวจริงไปช่วยราชการกรมป่าไม้ จึงตกลงรับปากท่าน สถานีเพาะชำกล้าไม้ในสังกัดมีอยู่ 4 สถานี คือ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษและสุรินทร์ ทำงานมาได้ปีเศษ  โดนเข้าให้จนได้เป็นการเข้าตรวจแบบสายฟ้าแลบ ไม่มีข่าวระแคะระคายออกมาเลย  รวบรวมสมาธิตั้งสติขับรถเข้าไปยังสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานี จอดรถใต้ร่มไม้แล้วเดินตรงไปยังห้องฝ่ายเพาะชำกล้าไม้ ซึ่งขณะนี้ยังเช้าอยู่แต่มีคนพลุกพล่านไปหมด  จึงเดินหลบหลีกสมาชิกเข้าไปนั่งโต๊ะทำงานหัวหน้าฝ่าย...!!

ห้องฝ่ายเพาะชำกล้าไม้คับแคบ กว้างเพียง 4 x 8 เมตรเท่านั้น จึงวางโต๊ะรับแขกไม่ได้ ทุกคนในห้องจึงต้องนั่งตามเก้าอี้ของหัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้ และพนักงานธุรการ พอข้าพเจ้านั่งเรียบร้อยแล้ว มีชายรูปร่างผอมบางเข้ามาขอพบ ข้าพเจ้าจึงให้เจ้าหน้าที่จัดเก้าอี้มาไว้ตรงหน้า 2 ตัว และเชิญอาคันตุกะผู้มาเยือนนั่งทั้งสองที่นั่ง ก่อนจะกล่าวอะไรผู้นั่งตรงหน้าพูดขึ้นก่อนแนะนำตัวว่า...!!

“คณะของผมเป็นเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เขต 3 นครราชสีมา  ได้รับคำสั่งให้มาตรวจการปฏิบัติงานเพาะชำกล้าไม้ของสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานี”

ก่อนที่เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะพูดต่อจึงได้ถามไปว่า...

“มาเพียง 3 คนเท่านั้นหรือ?”

ได้รับการอธิบายว่าชุดหนึ่งจะมีอัตรากำลัง 4 นาย มีหัวหน้าซึ่งมีตำแหน่งเป็นข้าราชการ ระดับ 8 และผู้ช่วย ที่นั่งเล่าในขณะนี้ ระดับ 7 มีสมาชิกระดับ 3 จำนวน 2 นาย ข้าพเจ้าจึงแลกเปลี่ยนข้อมูลไปว่า ฝ่ายเพาะชำกล้าไม้ ของสำนักงานป่าไม้เขตอุบลราชธานีมีอัตรากำลัง จำนวน 6 คน แต่งตั้ง 4 คน ให้ไปทำหน้าที่หัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้  มีข้าพเจ้าและเจ้าหน้าที่ธุรการ ประจำฝ่าย 1 คน และได้สอบถามคณะตรวจสอบว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้าง ทางผู้ตรวจว่าได้ประสานขอจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้แล้ว และจะมาทบทวนว่ากรมส่งแผนงานและงบประมาณมาให้ตรงกันหรือไม่ อันดับแรกจำนวนกล้าไม้เป้าหมายที่ให้เพาะชำประจำปีงบประมาณ จำนวน 1,200,000 กล้า รวมเป็นเงิน 2,400,000 บาท ค่าใช้สอย 100,000 บาท ค่าสาธารณูปโภค 20,000 บาท ถูกต้องหรือไม่ และเมื่อต้นเดือนนี้ วันที่ 1 กรกฎาคม กรมป่าไม้ โอนเงินมาให้เพาะชำกล้าไม้ 1,400,000 บาท โดยเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 700,000 กล้า เมื่อได้ข้อมูลตรงกัน ข้าพเจ้าจึงถามว่า...!?

“คณะของคุณต้องการจะตรวจกิจกรรมอะไร?”

ผู้ช่วยหัวหน้าชุดบอกว่า...

“ทางเราก็คงตรวจสอบว่ามีการเพาะชำกล้าไม้จริงหรือไม่ ถ้าเพาะจริงครบถ้วนตามแผนงานและได้แจกจ่ายไปตามแผนงานถูกต้องหรือไม่อย่างไร?”

เมื่อทราบวัตถุประสงค์แล้วข้าพเจ้าจึงแจ้งไปว่า...

“ถ้าอย่างนั้นเราไปตรวจกันเลย จะได้ไม่เสียเวลา เพราะหัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้ มาพร้อมกันแล้วทุกคน จะสุ่มหรือจะตรวจทุกสถานีได้เลยผมไม่ขัดข้อง”

ผู้มาตรวจรีบบอกว่า ไม่ต้องไป เพราะตอนเดินทางมาได้แวะเข้าตรวจที่ สถานีเพาะชำกล้าไม้สุรินทร์และสถานีเพาะชำกล้าไม้ศรีสะเกษแล้ว และมีข้อสงสัยที่ผิดสังเกตอยู่ เพาะชำกล้าไม้ผิดชนิดไม่ตรงตามแผนงาน ข้าพเจ้าจึงแจ้งไปว่า...

“เรื่องผิดชนิดนี้ไม่ผิดปรกติแต่อย่างใด”

เจ้าหน้าที่ที่นั่งข้างๆผู้ช่วยฯสวนออกมาว่า...

“ทำไมจะไม่ผิด อย่างน้อยก็ผิดไปตามแผน”

ข้าพเจ้าจึงย้อนถามไปว่า...

“หนุ่มแล้วคุณว่าราชการเสียหายหรือไม่”

คราวนี้เด็กหนุ่มกำลังไฟแรงไม่ตอบ ข้าพเจ้าจึงอธิบายให้ฟังว่าทางราชการกำหนดให้เพาะชำกล้าไม้ไว้แจกจ่าย บางครั้งเราไม่สามารถหาเมล็ดพันธุ์ได้ทันจึงต้องเพาะชำชนิดอื่นทดแทน เพราะค่าใช้จ่ายที่ทางการตั้งให้เราเท่ากันทุกชนิด คือต้นละ 2 บาท ต้นทุนเท่ากันทุกกล้าถือว่าทุกสถานีเพาะชำกล้าไม้ครบ สถานีละ 300,000 กล้า ถือว่าได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน  รู้สึกว่าผู้ช่วยฯเห็นด้วย แต่เจ้าหนุ่มยังไม่หายข้องใจถามว่า...

“แล้วที่กรมป่าไม้ส่งเงินมาเพิ่มให้เพาะอีก 700,000 กล้าอยู่ไหน จะได้ไปตรวจ”

คราวนี้ผู้อาวุโสของผู้ตรวจสอบต้องเตือนผู้ใต้บังคับบัญชาว่าให้ไล่ไปทีละเรื่อง ข้าพเจ้าเห็นว่าถึงเวลาอาหารเที่ยงแล้ว เชิญคณะกรรมการไปทานอาหาร ปรากฏว่าได้รับการปฏิเสธ ว่าจะไปหากินเอง โดยจะแวะไปรับหัวหน้าใหญ่ที่ไปธุระในเมือง ข้าพเจ้าพร้อมหัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้ทั้ง 4 คนจึงได้พากันไปจัดการเรื่องท้องแล้วมาเริ่มกันใหม่..?

ภาคบ่ายมีการสอบถามต่อในเรื่องงบเพิ่ม ว่าทำไมกรมป่าไม้ส่งงบประมาณมาให้ ทางเขตขอไปหรืออย่างไร ข้าพเจ้าตอบเพียงว่า เขตไม่ได้ขอไปกรมส่งมาให้เอง ส่วนเรื่องว่าทำไมจึงส่งมาให้ไปถามกรมป่าไม้เอง เพราะไม่ทราบเหตุผล สถานีเพาะชำกล้าไม้ เคยได้รับงบประมาณแต่ละสถานี บางปีก็ 300,000 กล้า ปีที่น้อยที่สุด 200,000 กล้า    ส่งมาให้เพียงเพื่อสถานีเพาะชำกล้าไม้ เลี้ยงตัวได้และทำให้ประชาชนที่มาติดต่อขอรับกล้าไม้ไม่เสียเที่ยวที่ได้มา คิดว่าจะวกเข้าเรื่องปิดคดีเสียที เจ้าหนุ่มคนเดิมยังติดใจถามว่า...

“ที่เพาะเพิ่มอยู่ที่ไหน จะไปตรวจ”

ข้าพเจ้าจึงตอบไปอย่างเนือยๆว่า...

“ไม่ต้องไปให้เหนื่อยหรอก เพราะผมส่งเงินกลับหมดแล้ว”

คราวนี้ผู้เป็นหัวหน้าถามบ้าง...

“หัวหน้าเก็บหลักฐานไว้หรือเปล่า ผมขอสำเนาด้วย”

ข้าพเจ้าจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ธุรการไปประสานการเงินขอใบโอนเงินกลับกรมป่าไม้ ซึ่งไม่ถึง 15 นาที เจ้าหน้าที่เอาใบโอนเงินเป็นกระดาษบางสีเหลือง สีฟ้า สีชมพู มาให้จึงให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจ(สตง.)แล้วสั่งให้ไปถ่ายเอกสารมามอบให้และถามว่าจะตรวจกล้าไม้ของสถานีเพาะชำกล้าไม้อุบลราชธานีหรือไม่  ปรากฏว่าทีมงานยุติพอใจ จึงได้ทำบันทึกตรวจสอบร่วมกัน พอเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)กลับไปแล้ว สำหรับข้าพเจ้าแล้วเหมือนยกภูเขาออกจากอก  คณะที่มาตรวจนี้ไม่ได้เข้มงวดอะไรมากนัก...!!!

เมื่อทุกคนกลับไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าดูเวลายังไม่เลิกงานจึงนั่งอยู่จึงเอนพนักพิงเหยียดขาแล้วหลับตาพักผ่อนสมอง แล้วเหตุการณ์ในวันที่ 1 กรกฎาคม ก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเจ้าหลิ่ม (นายเกียรติพล ชาครตระกูล) หัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้สุรินทร์ วิ่งโร่ถือหนังสือราชการมาหนึ่งฉบับ เข้ามาในห้องขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งคุยกับคุณสมโภชน์ หัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้อุบลราชธานี และคุณธีระพันธุ์ หัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้ศรีสะเกษ  เนื่องจากไปกินข้าวกลางวันด้วยกันเหตุเพราะภาคเช้าของวันนั้นเป็นวันประชุมประจำเดือนจึงพร้อมหน้าพร้อมตา  พอเจ้าหลิ่มนั่งลงก็พูดกับสมโภชน์ว่า...

“เราสบายแล้วพี่โภชน์ กรมส่งกล้าไม้มาให้อีก 700,000 กล้า พี่เอาไป 250,000 กล้า พวกผมแบ่งกันคนละ 150,000 กล้า ลงตัวพอดี”

สมโภชน์ได้ยินรีบปรามรุ่นน้องว่า...

“หนังสืออะไร เอามาให้หัวหน้าฝ่ายดูก่อน”

เจ้าหลิ่มรีบขอโทษแล้วยื่นหนังสือกรมส่งแผนและงบประมาณมาให้เพาะชำกล้าไม้เพิ่ม 700,000 กล้า เป็นเงิน 1,400,000 บาท จริงตามที่เจ้าหลิ่มร้องอย่างดีใจ ซึ่งมันเป็นธรรมดาของบรรดานักเพาะชำกล้าไม้อาชีพ ยิ่งให้เพาะกล้าไม้จำนวนมากเท่าใดยิ่งชอบ  ไม่มีเกี่ยงและไม่คำนึงถึงศักยภาพของตนและหน่วยงาน  ต้องการปริมาณไว้ก่อน คุณภาพไว้คุยกันทีหลัง มันเป็นเช่นนี้มานมนานแล้ว แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว  กลับคิดตรงกันข้าม  การเพาะชำกล้าไม้ของเราเน้นจำนวนไม่เน้นคุณภาพ คนมารับไปปลูกมันจะรอดตายกี่เปอร์เซนต์ มันเป็นการทำงานที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม งบประมาณพวกนี้ส่งมาล่าช้า  กว่าจะส่งก็ปลายเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคม  นี้นับว่าเร็ว  บางปีส่งมาให้เดือนมีนาคม และอายุกล้าไม้เพียง 4 เดือน มันจะแข็งแรงพอที่จะสู้โลกภายนอกได้อย่างไร กล้าไม้อายุ 4 เดือนยังไม่แกร่งพอ  บางคนเข้าใจผิดคิดว่ากล้าไม้ที่ลำต้นอวบสูงได้มาตรฐานจะเป็นกล้าไม้ที่นำไปปลูกแล้วจะเจริญเติบโตดี หารู้ไม่ว่าคนเพาะชำบางคนเลี้ยงด้วยปุ๋ยเคมีทำให้ลำต้นและใบสวยงาม หารู้ไม่ว่าเป็นต้นไม้ที่อวบน้ำ เมื่อนำไปปลูกซึ่งต้องเจอแดดลม ย่อมคายน้ำที่อยู่ในลำต้นทำให้เหี่ยวเฉาตายลงในที่สุด และอีกสาเหตุหนึ่งที่งบประมาณมักจะมาปลายปีงบประมาณเนื่องจากทางส่วนกลางกันงบไว้มากไม่ยอมปล่อยออกมา  ไม่ทราบเหตุผลอะไร บางคนกล่าวร้ายส่วนกลางหาว่า  ไว้ให้คนที่อยากได้ไปวิ่งแล้วจะได้เรียกเปอรฺเซนต์  ช่วงที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายเพาะชำกล้าไม้ ไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้  กล้าไม้ที่ส่งมาเพิ่มให้นี้สำหรับข้าพเจ้าแล้วเริ่มมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรกับมัน เนื่องจากส่งมาผิดฤดูกาล จึงบอกสมาชิกบรรดาหัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้ว่าขอประชุมหารือเรื่องนี้หน่อย ทุกคนลากเก้าอี้หันหน้าเข้าหากัน...

 ข้าพเจ้าเริ่มก่อนคนแรก...

“ใครมีความเห็นอย่างไร เสนอมาเปิดเสรี”

เจ้าหลิ่มคนแรกเสนอ...  “ผมว่าเราแจกจ่ายตามสถานีเพาะชำกล้าไม้ โดยให้พี่โภชน์มากว่าทุกคน เพราะเป็นสถานีใหญ่ พวกผมควรแบ่งเท่าๆกัน”

พอสิ้นเสียงของหัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้สุรินทร์  ธีรพันธ์ หัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้ศรีสะเกษเอาบ้าง...

“สถานีผมมีค่าใช้จ่ายสูง ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ผมขอแบ่งจากพี่โภชน์สัก 50,000 กล้าก็จะดี”

พอสิ้นเสียงธีระพันธุ์ทุกคนเงียบสักพัก  ข้าพเจ้าจึงถามขึ้นว่า...

“แล้วสมโภชน์และกิตติชัย ละว่าอย่างไร?”

ทั้งคู่ตอบพร้อมกัน...  “แล้วแต่พี่ทศ”

ข้าพเจ้าพูดขึ้นว่า... “กรมส่งเงินเพาะชำกล้าไม้มาให้เพิ่มครั้งนี้ผมไม่สบายใจอยู่หลายข้อ ทำไมจึงส่งมาให้ทั้งๆที่เราไม่ได้ขอ จะว่ามีการเล่นตุกติกนอกกติกา  ก็ไม่เห็นเรียกประชุมหัวหน้าฝ่ายเพาะชำกล้าไม้ของเขต คงจะเป็นกรณีที่เขานินทาก็ได้ว่ากันเงินไว้แล้วไม่มีใครไปวิ่ง  หากกอดไว้ใช้ไม่หมดก็จะมีความผิดจึงผ่องออกมา และอีกอย่างที่สำคัญมันผิดฤดูกาลหากเราเพาะชำกล้าไม้กันจริงๆ เวลามีเพียง 2 เดือน พร้อมทั้งกิจกรรมแจกกล้าไม้ให้หมด มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าหากเรารับทำแล้วรายงานว่าเสร็จสิ้นเรียบร้อยตามแผน มันเหมือนกับเรารายงานเท็จ มีใครร้องเรียนเราตายลูกเดียว ผมจึงมีความเห็นว่าเราส่งคืนงบประมาณให้กรมเพื่อจะได้จัดส่งให้เขตไหนที่เขาทำได้จะดีกว่า”

พอสรุปความเห็น เจ้าหลิ่มโวย...

“พี่จะคืนทำไม ใครๆเขาก็ทำทั้งนั้น”

สถานีเพาะชำกล้าไม้ศรีสะเกษก็คัดค้านเช่นกัน ว่าทำได้ ข้าพเจ้าจึงสอบถามสถานีเพาะชำกล้าไม้อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ ทั้งสองเห็นตามข้าพเจ้า จึงสรุปว่า ส่งงบประมาณคืน เล่นเอาเจ้าหลิ่มหน้าแดงโกรธ เดินออกจากห้องไปอย่างหัวเสีย ข้าพเจ้าได้แต่ส่ายหน้า...

จากการประชุมในครั้งนั้นข้าพเจ้าจึงถือหนังสือเข้าหาท่านป่าไม้เขตอุบลราชธานี ชี้แจงว่าจะคืนเงิน โชคดีที่อธิบายแล้วท่านเข้าใจเห็นด้วยจึงให้ทำการโอนเงินกลับกรมป่าไม้โดยเร็ว...

จิตที่ล่องลอยกลับคืนมาอยู่กับปัจจุบัน เรื่องราวที่ทำให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบไม่พบว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบมาจากเราไม่โลภ  สุจริตจริงใจ คือเกราะกำบังป้องกันศาสตราวุธหรือภัยพิบัติที่ทั้งปวงได้เป็นอย่างดี  เฉกเช่นมีผนังทองแดงกำแพงเหล็กไว้ป้องกันด้วยประการเช่นนั้นแล...?

 


Last updated: 2015-07-05 07:54:22


@ รอดมาได้...เพราะไม่โลภ
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ รอดมาได้...เพราะไม่โลภ
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,437

Your IP-Address: 18.216.121.55/ Users: 
1,436