หวังดีต่อตัวเอง หวังดีต่อผู้อื่น หวังดีต่อสังคม (3 ดี)
 
     
 
สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 4
ส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ว่าทางราชการต้องการที่จะจำหน่ายหลักฐานการแจ้งการถือครองที่ดิน ส.ค.1 ที่ยังค้างอยู่มานานแล้ว มันเป็นเอกสารที่ออกมาตั้ง 50 ปีควรจะมีอายุ
 

            เราได้ทราบจุดอ่อนของการออกเอกสารสิทธิในที่ดินป่าไม้ คือหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินหนึ่งจุดแล้ว  ต่อไปเมื่อมีการออกเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมายใครจะเป็นผู้เพิกถอน ซึ่งกฎหมายที่ดินได้บัญญัติไว้ในมาตรา 61 ซึ่งเขียนไว้ถึง 9 วรรค เรามาดูเพียงวรรคแรกก็พอ...!!

                มาตรา 61  “เมื่อปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ให้อธิบดีหรือรองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้”

                วรรคต่อไป เป็นขบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงว่า การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คราวนี้มีท่านที่ช่างสงสัยหากท่านอธิบดีหรือรองอธิบดีที่ได้รับมอบหมายไม่กล้าเพิกถอน อาจจะเนื่องมาจากคณะกรรมการสอบสวนคลุมเครือ หรือเกรงว่าผู้ถือสิทธิ์อ้างว่าได้ซื้อขายมาหลายทอดโดยสุจริตขู่จะฟ้อง  ฉะนั้นผู้อ่านมาดูว่าอำนาจหน้าที่ของอธิบดีจะเป็นอย่างไร  มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2507 ว่าไว้ “ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมที่ดินโดยเฉพาะ เมื่อความปรากฏว่ามีการออกโฉนด หรือจดทะเบียนผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นความจริง  โดยไม่ต้องให้ผู้เสียหายเสียเวลาไปฟ้องร้องต่อศาล  การใช้อำนาจของอธิบดีตามมาตรานี้  ย่อมอยู่ในดุลพินิจของอธิบดีว่าสมควรจะใช้หรือไม่  ไม่ใช่เป็นการกำหนดหน้าที่ให้อธิบดี จำต้องกระทำเมื่ออธิบดีไม่ใช้อำนาจดังกล่าวจึงไม่ผิดกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิด”

                พออ่านฎีกาฉบับนี้แล้วทำให้คิดไปต่างๆนานาว่า เมื่อไม่ใช่เป็นการกำหนดให้ทำเพียงให้ใช้ดุลยพินิจ ฉะนั้นเราคงฝากความหวังไว้กับท่านทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์เห็นจะไม่ได้แล้ว เราจะทำอย่างไร  มีผู้รู้บอกว่าให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชฟ้องเอง โดยฟ้องที่ตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมกันตรวจสอบและผู้ร่วมทำเอกสารสิทธิอันไม่ชอบ  มิใช่ฟ้องกรมหรืออธิบดี  ท่านผู้อ่านที่มีความรู้อ่านพบช่วยทำให้ความกระจ่างจะเป็นพระคุณยิ่ง...

                มาลองตั้งปุจฉาดูหากฟ้องเองเราจะแสวงหาข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานได้อย่างไร  เรามาดูก่อนดีกว่าว่า เมื่อมีการสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ท ติดต่อ หรือคาบเกี่ยว ในเขตอุทยานแห่งชาติเต็มไปหมดในตอน บุกรุกเข้าครั้งแรกบรรดาหัวหน้าอุทยานได้ทราบบ้างหรือไม่ว่าเขาเข้ามาถูกต้องอย่างไร  และทำไมเอกสารที่ผู้ยึดถือครอบครองส่วนใหญ่จึงได้กลายไปเป็นโฉนด  และเรารู้ได้อย่างไรว่าบางคนถือเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือว่าเราเห็นว่าใครเข้ามายึดถือครอบครองอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเราขอตรวจสอบทุกราย แล้วผู้ครอบครองจะยินยอมให้ตรวจหรืออย่างไร และการตรวจสอบจะล้วงลึกไปจนถึงการครอบครองก่อนปี พ.ศ.2497 ด้วยแล้ว  เรามีประจักษ์พยานอะไร  แม้นว่าเราจะนำภาพถ่ายทางอากาศแปลตีความว่า ก่อนปี พ.ศ.2497 และหลังปี พ.ศ.2497  พื้นที่จะยังไม่ได้ทำประโยชน์ เป็นพยานทางนิติวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว  พยานบุคคล  พยานวัตถุไม่มีสนับสนุน  พยานผู้เชี่ยวชาญในการตีความเพียงคนเดียว  หากมีการต่อสู้ศาลท่านเชื่อก็ดีไป  แต่ก็เอาใจช่วยนะ  ที่ทุกท่านยังมีความพยายามจะคืนผืนป่าให้กับประเทศชาติ...?

                เราเห็นจุดอ่อนทางฝ่ายที่ดินแล้วมาดูทางป่าไม้บ้าง ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 12 ใจความว่า “บุคคลใดอ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่กระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น”...

                คำร้องดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ส่งต่อไปยังคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ชักช้า...

                ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  ที่ยกข้อความมาทั้งมาตราเพื่อจะได้ให้ทราบว่าเมื่อมีการแจ้งแล้ว จึงได้มีการสอบสวนตามคำร้องนั้น ย้อนเวลาไปในปี พ.ศ.2518 ผู้เขียนบรรจุเข้ารับราชการใหม่ยังเดินไปเดินมาอยู่ในสำนักงานป่าไม้เขตฯ ว่างงาน หัวหน้าฝ่ายสงวนและรังวัดเห็นจึงเรียกไปสอบถามว่า จะให้ไปสอบสวนสิทธิเกี่ยวกับที่ดินว่างหรือไม่ จึงตอบว่า ว่าง หัวหน้าฝ่ายจึงออกคำสั่งให้ไปร่วมสอบสวนสิทธิที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าโนนลาน ท้องที่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ มีกำหนด 2 เดือน ไปเบิกจ่ายที่สำนักงานป่าไม้จังหวัด ในตอนนั้นยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวคิดว่าออกปฏิบัติงานท้องที่สบายกว่าอยู่สำนักงานป่าไม้เขต อย่างน้อยก็มีเบี้ยเลี้ยง หารู้ไม่ว่า ไปทำงานท่ามกลางปรัศนีที่เต็มสมองไปหมด คณะกรรมการของเรามี ปลัดอำเภอ ที่ดินอำเภอ ป่าไม้อำเภอ และป่าไม้เขต คือตัวเรา เมื่อไปถึงจังหวัด ป่าไม้อำเภอซึ่งใกล้เกษียณแล้ว ท่านพาไปทำเรื่องยืมเงินทดรองราชการ งานนี้ทางราชการให้จ้างคนงานได้ 2 คนถ้าจำไม่ผิด วันแรกพักแรมอยู่ที่บ้านป่าไม้อำเภอ 1 คืน รุ่งเช้าทีมงานพร้อมเข้าพื้นที่ คณะกรรมการที่ไปมีแต่สูงวัยมีเราคนเดียวที่ยังหนุ่มอยู่ จึงต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่รังวัดที่ดิน พอตกเย็นกินอาหารเสร็จแล้วต้องมานั่งกรอกแบบสอบถาม พวกเราพักตามศาลาวัด และย้ายหมู่บ้านไปเรื่อยเกือบจะรอบเขตป่าสงวนแห่งชาติ  บรรดาผู้สูงวัยอาทิ ปลัดอำเภอและที่ดินอำเภอ มักจะขอตัวไปเคลียร์งานที่สำนักงาน   มียืนพื้น 2 คน คือป่าไม้อำเภอและตัวแทนป่าไม้เขต เพราะทุกคนคิดว่าป่าไม้เป็นเจ้าของเรื่อง ผู้เขียนเคยถามกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มีอายุมากแล้วว่าในสมัยมีการแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 นั้นเขาปฏิบัติอย่างไร ท่านกำนันได้เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อน ท่านนายอำเภอจะเรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านไปประชุมชี้แจงเรื่องการแจ้งสิทธิในที่ดินและแจกแบบฟอร์มของ ส.ค.1 มาให้ฉบับหนึ่งมี 2 ตอน ให้เจ้าของที่ดินที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ได้กรอกแบบฟอร์ม แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเขียนไม่ค่อยเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องเขียนให้ ไม่ได้ออกไปดูพื้นที่ อาศัยการสอบถามจากราษฎร เขาให้เวลา 6 เดือน หลังจากนั้นก็รวบรวมส่งอำเภอ ทางอำเภอจะจัดการลงรับและประทับตราประจำตำแหน่งนายอำเภอ ที่รอยต่อซึ่งเป็นรอยปรุ แล้วฉีกมา 1 ฉบับให้นำมามอบให้ราษฎร ผู้เขียนจึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมราษฎรที่นำเอกสาร ส.ค.1 มาอ้างส่วนใหญ่ทิศข้างเคียงจะจดป่าเกือบทุกด้าน   คงมาจากการสอบถามของผู้กรอกแบบ ฟอร์ม ทางราชการให้เวลา 2 เดือน เกือบจะไม่เสร็จ ได้แบบสอบถามเป็นตั้งใหญ่ แล้วมาสรุปรายงานจังหวัดและรายงานเขต พอรายงานไปกรมได้หลายเดือนกรมสั่งให้ลงรูปแปลงที่อ้างสิทธิลงในแผนที่แผ่นใหญ่ จำไม่ได้ว่ามาตราส่วนเท่าใด โชคดีที่ตอนทำได้สะเก็ดแปลงที่ดินเคร่าๆไว้ ไม่อย่างนั้นคงต้องลาราชการไปทำใหม่ งานนี้เข็ดจนตาย แต่ก็ได้ประสบการณ์มาไม่น้อย ตั้งแต่นั้นก็ไม่เข้าใกล้ฝ่ายสงวนและรังวัดอีกเลย...

                ที่เล่ามานี้แสดงให้เห็นว่าเราได้เคยสร้างหลักฐานของป่าสงวนแห่งชาติในอดีตไว้แต่คิดว่าหลักฐานเช่น แบบสอบถามที่มีรายละเอียดเช่น จำนวนเนื้อที่ สภาพพื้นที่มีหลักฐานอะไรบ้าง และมีรูปภาพที่ดินโดยสังเขปปรากฏอยู่ หากจำไม่ผิด คิดว่าแบบสอบถามคงถูกทำลายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่บัญชีแสดงรายการแจ้งการอ้างสิทธิ หรือว่าบางเขต บางจังหวัดคงหายไปแล้วก็เป็นได้ นี่คือจุดอ่อนอีกประการหนึ่งที่ยกมาให้พิจารณา ดังที่ได้ประมวลจุดอ่อนของเอกสารในอดีตมาแสดงให้เห็นว่าการออกเอกสารสิทธิโฉนด หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในภายหลัง จึงน่าจะมีปัญหาที่มีแนวโน้มไปในทางมิชอบด้วยกฎหมาย และในตอนหลังปี พ.ศ.2551-2553 ด้วยแล้วจะเห็น ส.ค.1 ระบาดเพื่อขอออกเอกสารสิทธิโฉนด หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มากขึ้นผิดหูผิดตา มารู้เอาภายหลังว่ามีสาเหตุที่มาคือ “ตามประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการออกโฉนดที่ดินโดย มาตรา 8 ได้กำหนดให้ผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับ ( 1 ธันวาคม 2497 ) โดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และยังไม่ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้รีบนำหลักฐาน ส.ค.1 มายื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ. บังคับใช้ภายใน วันที่   6 กุมภาพันธุ์ 2553  ทั้งนี้หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ที่มายื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยอาศัยหลักฐานการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องนำคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าเป็นผู้ซึ่งได้ทำประโยชน์และครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย...

                ส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ว่าทางราชการต้องการที่จะจำหน่ายหลักฐานการแจ้งการถือครองที่ดิน ส.ค.1 ที่ยังค้างอยู่มานานแล้ว มันเป็นเอกสารที่ออกมาตั้ง 50 ปี ควรจะมีอายุมิใช่ยังมีชีวิตตามมาหลอกมาหลอนเจ้าหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน เมื่อมีกฎหมายที่ดินออกใหม่ในปี พ.ศ.2551 จึงเป็นจังหวะที่จะได้จำหน่าย ส.ค.1 ที่หลงเหลือ  ไม่นำมออกเอกสารสิทธิเกือบ สองแสนฉบับ  ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ที่ดินมีราคาแพง เช่นที่มีทิวทัศน์สวยงาม    ซึ่งไม่พ้นอุทยานแห่งชาติที่ดังๆ มาทยอยกันออก บางรายขอคัดฉบับที่ตนทำสูญหายและยื่นคำขอออกโฉนดในวันเดียวกันเลยก็มี เจ้าหน้าที่บริการให้ด้วยความประทับใจอย่างน้อยได้ยื่นก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553      ไว้ก่อนก็พอแล้ว จะนัดรังวัดวันใดค่อยว่ากันอีกที นี้คือสาเหตุหนึ่งของ ส.ค.1 บิน ส.ค.1 บวม หรือ ส.ค.1 แปลงร่างแล้วแต่ใครจะให้ฉายา...

                เหล่าทหารกล้าของเราที่กรมส่งกำลังบำรุงไป 100 คน คงทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นว่าเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร 3 เครื่อง ตั้งไว้รอถ่ายเอกสารจากที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง เอาใจช่วยจะคอยรอดูผลสำเร็จ แต่ผู้เขียนไปอ่านพบในเว็ปไซต์ของกรมที่ดินว่า “กรมที่ดินยืนยันการออกโฉนดที่ดิน 98415 และ98417 บริเวณหาดฟรีดอมเป็นการดำเนินงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากกรมป่าไม้พิจารณาแล้วมีความจำเป็นต้องเพิกถอน ให้กรมสามารถดำเนินการฟ้องร้องให้มีการเพิกถอนเองได้ รายละเอียดตามรายงานการประชุมกรมที่ดินครั้งที่ 6/2555 วันพุธที่ 27 มิถุนายน 2555 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 กรมที่ดิน  สนใจก็ไปหาอ่านดู...

                ก่อนจบตอนนี้ขอให้ตระหนักถึงจุดอ่อนที่สำคัญชิ้นโตก็ว่าได้คือ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องแน่นอนทั้งในแผนที่และในพื้นที่จริง เพราะกรมป่าไม้ซึ่งดูแลป่าสงวนแห่งชาติในสมัยก่อน 3 – 4 ปี จะส่งเงินมาให้ทำการซ่อมแนวเขตในสมัยก่อนใช้เสาไม้แก่นล่อน ต่อมาใช้เสาคอนกรีต พอหนักเข้าบางคนมักง่ายเอาไปวางทิ้งไว้ หรือบางคนแย่กว่านั้นโยนทิ้งน้ำ คนตรวจงานต้องไล่ตามจี้ตลอดเวลา หากแนวเขตสับสนเมื่อใด เป็นฟ้องคลุมเครือแน่นอน สำหรับเรื่องพยานนิติวิทยาศาสตร์ ได้ข่าวว่าส่งผู้เชี่ยวชาญ แปลภาพถ่ายทางอากาศลงไปช่วย เพียงแต่เราหาแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ก่อนปี พ.ศ.2497 และหลังปี พ.ศ.2497 ให้ได้ คงเป็นพยานที่มีน้ำหนัก ซึ่งผู้เขียนเคยเรียนแปลภาพถ่ายทางอากาศเบื้องต้น     ได้เอาแว่น 2 ตา มีขาตั้งวางบนภาพถ่ายทางอากาศ เราจะเห็นเรือนยอดของต้นไม้ลอยขึ้นมาเป็นภาพ 3 มิติ อาจารย์บอกว่าคนแปลภาพถ่ายเก่งสามารถบอกได้ถึงชนิดไม้ ถ้าเราใช้เทคนิคซูมภาพประกอบได้จะเยี่ยมยอดมาก เวลาศาลท่านซักจะได้อธิบาย ละเอียดชัดเจน ขอเอาใจช่วยทีมงานทุกคน ขอจบตอนนี้เพียงเท่านี้...?                    


Last updated: 2015-02-28 09:34:31


@ สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 4
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 4
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,209

Your IP-Address: 18.97.14.84/ Users: 
1,208