การทำงานเป็นทีมได้ดี ต้องไม่กังวลว่าคนอื่นทำน้อยกว่าเรา
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (17)
ไม้พะยูงนั้นชอบขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง ในประเทศไทยขึ้นมีอยู่มาก จะเห็นอยู่ที่ภาคตะวันออกในเทือกเขาดงพญาเย็น อีสานตอนบนเป็นเทือกเขาภูพาน อีสานตอนล่างจะเป็นเทือกเขาพนมดงรัก
 

ในตอนที่ผ่านมาเราได้พูดถึงผู้ต้องการไม้ว่ามีประเทศอะไรบ้าง พ่อค้าในไทยได้มีวิธีการแสวงหาไม้ จัดส่งไปในลักษณะใด กล่าวถึงโทษของผู้ที่ลักลอบตัดไม้หรือรับซื้อและทราบว่าว่าโทษทางป่าไม้เรามีหนักเบาแค่ไหน ตลอดจนการต่อสู้คดี และเห็นว่าศาลท่านลงโทษไปอย่างไร…

คราวนี้เรามาดูพื้นที่ที่มีไม้พะยูงขึ้นอยู่ และถูกลักลอบตัดมีที่ใดบ้าง ดูการลักลอบตัดฟันย้อนหลังไปไม่นานนัก…

พวกเราทุกท่านคงพอจะทราบแล้วว่า ไม้พะยูงนั้นชอบขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง ในประเทศไทยขึ้นมีอยู่มาก จะเห็นอยู่ที่ภาคตะวันออกในเทือกเขาดงพญาเย็น อีสานตอนบนเป็นเทือกเขาภูพาน อีสานตอนล่างจะเป็นเทือกเขาพนมดงรัก ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงอีสานตอนล่างเสียก่อน เพราะเป็นแหล่งที่การลักลอบตัด หรือถูกโจมตีเป็นด่านแรก ต้นตอของไม้เราได้กว่าถึงไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ และไม้ในป่าสงวนไปมากแล้วระหว่างปลายปี 2549 จนมาถึงตลอดทั้งปี 2550 ทั้งกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯต่างจับกุมไม้ไม่เว้นแต่ละวัน ในตอนนั้นการขนส่งทางถนนจะใช้รถบรรทุกสิบล้อหรือ รถตู้คอนเทนเนอร์ และก็เป็นช่วงที่ทั้งสองกรม เจ้าหน้าที่ต่างอ้างว่าไม้ที่ออกมามากไม่ได้มาจากเขตควบคุมของตน ถ้าเป็นกรมป่าไม้ก็จะอ้างว่ามากจากป่าอนุรักษ์ ถ้าเป็นกรมอุทยานฯก็ว่าตนเองดูแลพื้นที่ของตนดีอยู่แล้ว ไม้จะออกจากป่าเศรษฐกิจคือป่าสงวน หรือไม้ในที่ดินของชาวบ้าน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับ ผู้เขียนซึ่งสังกัดกรมอุทยานฯ คิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ควรจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้ตนพ้นผิด เรามาช่วยกันทำงานดีกว่า ผู้อ่านจะเห็นผู้เขียนจับกุมไม้ในโกดัง และนอกเขตป่ามาแล้วทั้งๆที่สังกัดกรมอุทยานฯ  เพราะไม่ต้องการให้เกี่ยงกัน ใครเจอก็จับ ถ้าไม่กล้าก็สนธิกำลังกันก็ได้...

แต่ต่อจากนี้จะพาไปดูแหล่งไม้ที่ถูกลักลอบตัดในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งบางท่านก็มีความเห็นว่าไม่น่าจะนำมาเปิดเผย ผู้เขียนคิดว่าถ้าหากเราไม่กล้าเผชิญกับความจริงแล้วจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร ผู้เขียนเข้าใจถึงหัวอกคนที่เป็นหัวหน้าทุกหัวหน้าดีว่าไม่อยากให้ใครมาตรวจสอบตัวเองเพราะกลัวว่าหากไปพบว่าในพื้นที่ควบคุมของตนมีการลักลอบตัดฟันไม้มาก หรือถูกบุกรุกเป็นรายใหญ่ เกรงว่าจะถูกย้ายแต่ไม่ใช้ความกลัวพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยออกตรวจลาดตระเวนเพื่อพิสูจน์ทราบให้อัพเดทอยู่ตลอดเวลาการอ้างเรื่องภารกิจมาก จึงทำให้คนที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รู้จักพื้นที่แต่ในแผนที่หรือ เพาเวอร์พอยท์ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำไว้จึงรู้พื้นที่เฉพาะบ้านพัก ที่ทำการ และโรงอาหาร ทำตัวเหมือนตำรวจท้องที่กลัวกองปราบมาจับบ่อน - จับโสเภณีในท้องที่ของตน แล้วก็ว่าเขามาจับผิดไม่เคยมองตัวเองว่าดูแลพื้นที่ของตัวเองแล้วหรือยัง…!!?

ผู้เขียนจะพาไปดูพื้นที่ที่มีไม้พะยูงขึ้นอยู่มาก  และมีลายไม้ที่สวยงาม ในพื้นที่อีสานตอนล่างเริ่มจากจังหวัดสุรินทร์ก่อน ทางด้านทิศใต้ของจังหวัดจะติดกับประเทศกัมพูชา มีเทือกเขาพนมดงรักทอดยาวกั้น จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกจะเริ่มจากอำเภอพนมดงรัก อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ อำเภอบัวเชด ต่อไปเป็นอำเภอภูสิงห์ของจังหวัดศรีสะเกษ สามอำเภอแรกที่ได้กล่าวจะมีไม้พะยูงขึ้นอยู่มากที่อำเภอกาบเชิงอำเภอสังขะและอำเภอบัวเชด  จังหวัดสุรินทร์….

จากการข่าวที่ได้รับจากเจ้าอาวาสวัดเขาศาลา อดีตพระครูภาวนาวิทยาคม ปัจจุบันเป็น พระพิศาลศาสนกิจเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายธรรมยุติ ซึ่งดูแลป่าเขาศาลา  ตำบลอาโพน  อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีเนื้อที่หมื่นกว่าไร่ เป็นพื้นที่ป่าตามมติคณะรัฐมนตรี และป่าจะเป็นเขตรอยต่อกับป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน - ห้วยสำราญ จึงทำให้ผู้เขียนและคุณประเวศเดินทางไปพบท่านที่วัด…?

เมื่อนมัสการท่านเรียบร้อยแล้ว ท่านบอกว่ามีราษฎรเข้าไปบุกรุกตัดไม้ในป่าด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดเขาศาลาที่ท่านจำวัดอยู่….

พอทราบเช่นนั้นทำให้ผู้เขียนรู้ได้ทันทีว่าเป็นบริเวณใด เพราะในอดีตเมื่อปี 2519 ถนนสายยุทธศาสตร์โชคชัย-เดชอุดม ด้านทางทิศใต้ของถนนจรดประเทศกัมพูชา พื้นที่แทบทุกตารางนิ้วยังเป็นป่าที่สมบูรณ์อยู่ ผู้เขียนตอนนั้นได้ออกสายตรวจปราบปรามโดยเป็นหัวหน้าสาย ได้เดินทางจากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สร.1 (สังขะ) เดินทางไปบ้านขยอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา ถ้าวัดในระยะทางตรงตามแผนที่ประมาณ6 กิโลเมตร แต่ถ้าเดินทางภาคพื้นดินประมาณ 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางที่ผ่านจะมีไม้พะยูงขึ้นอยู่หนาแน่นมาก แต่ละต้นห่างกันเพียง 1-2 เมตร เป็นกลุ่ม มีกลุ่มตั้งแต่ 3 ต้นขึ้นไป แต่ละกลุ่มห่างกัน 20 เมตร หันไปทางซ้ายก็เจอ  หันไปขวาก็เจอ ไม้มีรูปร่างเปลาตรง มีทุกขนาดอายุ สมบูรณ์จริงๆถือเป็นบุญตาที่เกิดมาได้พบเห็นแต่ปัจจุบันพื้นที่เป็นที่นา ที่ไร่ และที่อยู่อาศัยหมดแล้ว….!!

ครั้งแรกที่ทราบข่าวจึงลองนึกดูตำแหน่งที่พระท่านบอกน่าจะไม่ห่างจากบ้านขยองมากนัก คงอยู่ใกล้เคียงแต่คงลึกขึ้นไปติดกับชายแดนมากกว่าเดิมเนื่องจากปัจจุบันบ้านขยองโล่งเตียนจากป่ากลายเป็นชนบทไปแล้ว คณะของเราจึงพากันเดินทางออกจากวัดเขาศาลาลงทางด้านทิศตะวันตกท่านพระครู(ขณะนั้น)เดนนำหน้าเป็นพระตีนเปล่า ท่านไม่สวมรองเท้า ออกจากวัดเดินทางมาเกือบ1ชั่วโมง มาถึงจุดแรกพบไม้พะยูงถูกตัดเหลือแต่ตอขนาดของตอวัดได้ 170 เซนติเมตร ถูกตัดเหลือตอสูงจากพื้นดิน 1 เมตร เดินต่อไปอีก 10 เมตร ก็พบอีก 1 กลุ่ม มี 2 ตอ ไปอีก 20 เมตรพบอีกกลุ่ม 3 ตอ สูงที่สุดที่เราพบขึ้นเป็นกลุ่ม 5 ต้น แต่จะถูกเลือกตัดเอาต้นที่สวยไป 2 ต้น บ้าง 3 ต้นบ้าง โชคดีไปพบอยู่ 1 ต้น ความโตประมาณ 3 คนโอบ พวกนี้ใช้เลื่อยตัดธรรมดาจึงโค่นไม่ได้ ถ้าเป็นเลื่อยโซ่ยนต์คงเหลือแต่ตอให้พวกเราได้ดูต่างหน้าเป็นแน่ สำรวจทั้งหมดมี 27 กลุ่ม พฤติกรรมเช่นนี้เห็นมีไม้มากจึงตัดทิ้งตัดขว้าง เลือกเอาแต่ท่อนสวยๆไปการตัดเหลือตอสูงจากพื้นตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไปเป็นการยืนตัด หากเป็นในปัจจุบัน คงขุดเอาทั้งรากทั้งตอไปด้วยแน่นอน…

คณะเราทั้งสามคนมีผู้เขียน ท่านพระครูภาวนาวิทยาคม และร้อยตำรวจเอกเชิด เรืองสุขสุด ซึ่งเป็นหัวหน้าฐานปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดนที่ 214 เอาแผนที่มากางดู ราวกับว่าจุดที่เราพบอยู่ในเขตท้องที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้บ้านกะเลงเวก ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ จึงเอาแผนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญมาดูปรากฏว่าไม้ทุกตออยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสิ้น….

จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่ไม้พะยูงที่ขึ้นเป็นกลุ่มผืนสุดท้ายของป่าผืนนี้…

ผู้เขียนไปส่งท่านพระครูเสร็จจึงพากันเดินทางไปประสานงานกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ เจ้าของพื้นที่ เมื่อพบหัวหน้านำภาพให้ดูแล้วตกลงกันในวันรุ่งขึ้นจะเข้าไปทำการตรวจสอบอีกครั้งเพื่อทำการตรวจยึด…..!?

วันที่ 11 มีนาคม 2551คณะของเรามีทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้  ทหาร ตำรวจ เข้าพื้นที่ทำการตรวจสอบไม้ที่ถูกตัดฟัน ท่อนไหนยึดได้ก็ทำการตรวจยึดได้เดินสำรวจทั่วบริเวณพบว่ามีการลักลอบตัดฟันไว้รวม 156 ตอ ดูแล้วได้แต่หดหู่ใจ พวกตัดไม้ใจร้ายมากจะไม่ยอมให้มันได้แพร่พันธุ์ต่อไปได้เลยหรืออย่างไร ผู้อ่านลองนึกภาพดูว่า พะยูงฤาจะอยู่คู่แผ่นดินไทย…..

จึงของส่งภาพมาให้เป็นการอธิบายได้ดีกว่าเขียนบรรยาย…..

ตอนต่อไปจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลาตอนที่(18) …..?

-ภาพถ่ายตอไม้พะยูงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ-

Click

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

click 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

click

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551

 


Last updated: 2015-01-10 13:54:03


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (17)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (17)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,069

Your IP-Address: 18.97.14.84/ Users: 
1,068