อย่าเพิ่งท้อแท้ในสิ่งที่ยังไม่พยายาม และอย่าเพิ่งหมดหวังในสิ่งที่ยังไม่เริ่มต้น
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (10)
วันรุ่งขึ้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานีได้ประสานท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และนายด่านศุลกากร ประชุมบนห้องประชุมเล็ก
 

ในตอนที่ผ่านมาเราทิ้งท้ายไว้ว่าจะให้ท่านผู้อ่านได้เห็นคดีประหลาดเป็นกรณีศึกษา...

เรื่องมีอยู่ว่า ตามข่าวทหารพรานและ อส. ฝ่ายปกครองได้ตรวจจับไม้พะยูงที่อำเภอวารินชำราบจำนวนมาก เมื่อผู้เขียนทราบข่าวเห็นว่าในช่วงนั้น กรณีการลักลอบตัดขนไม้พะยูงอยู่ในความสนใจของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ จึงได้ชวนคุณประเวศ สุจินพรัหม และเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อีก 3 นาย ไปประสานหัวหน้าสำนักงานป่าไม้สาขาอุบลราชธานี และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี คือคุณจรูญฯ ไม่ลืมที่จะชวนคุณณรงค์ฯ ผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำ ไปด้วย พอไปถึงสถานีตำรวจได้สอบถามพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี  ได้ความว่า...

ด่านศุลกากรได้มีหนังสือที่ กค 0509 (5) /2543 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 เรื่อง  ส่งตัวผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดี ตามพระราชบัญญัติศุลกากร  เรียนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอวารินชำราบ สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสาร จำนวน 80 แผ่น ในความว่า...

ด้วยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เวลา 18.00 น. – 19.30 น. เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านพิบูลมังสาหาร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่กรมทหารพรานที่ 23 โดยการอำนวยการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้จับกุมรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70 3535 ระยอง บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข เอเอ็นบียู 2578032 และหมายเลขทะเบียน 70 – 3494 ระยอง บรรทุกคอนเทนเนอร์หมายเลข ซียูบียู 2039483 โดยภายในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองตู้ บรรทุกไม้พะยูง จำนวน 365 ท่อน มีปริมาตรรวม 27.546 ลบ.ม. มีนายระพีพัฒน์ฯ แสดงตัวเป็นเจ้าของสินค้า และถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ตามมาตรา 27 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2469...

ด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร ได้สืบสวนสอบสวนแล้ว พบว่านายระพีพัฒน์ฯ กระทำผิดจริงประกอบกับผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ เห็นควรนำตัวผู้ต้องหาและเอกสารที่เกี่ยวข้องส่ง สภ.อ.วารินชำราบ ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนของกลางและยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด ด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร จะเป็นผู้เก็บรักษาไว้เอง  ลงชื่อนายด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร...

คณะของเราจึงได้สอบถามพนักงานสอบสวนว่า จะฟ้องตาม พ.ร.บ. ศุลกากร เพียงฉบับเดียวหรือ พนักงานสอบสวนบอกว่าขอพิจารณาดูก่อน...

สำหรับผู้เขียนแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นการจับไม้ในอำเภอวารินชำราบ ซึ่งห่าง จากด่านเขมราฐ 120 ก.ม.และห่างจาก ด่านช่องเม็ก 50 ก.ม. น่าจะฟ้องตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ด้วย ได้ปรึกษากับ หัวหน้าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี  ท่านบอกว่าควรหารือท่านผู้ว่าราชการจังหวัด วันรุ่งขึ้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานีได้ประสานท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และนายด่านศุลกากร ประชุมบนห้องประชุมเล็ก ทางศุลกากรซึ่งเป็นผู้จับกุมก็อ้างกฎหมายของตน ผู้เขียนก็อ้างกฎหมายป่าไม้ ท่านผู้ว่าจึงบอกว่าให้ฟ้องทั้ง 2 พ.ร.บ. การประชุมจึงสิ้นสุดลง ผู้เขียนว่างจึงชวน คุณประเวศฯ ไปพบท่านอัยการปรึกษาโดยเล่าเรื่องให้ท่านฟัง ท่านว่าจะดูให้ แล้วจึงไปแจ้งพนักงานสอบสวนว่า ท่านผู้ว่าให้ฟ้องทั้งสอง พ.ร.บ. พนักงานสอบสวนก็บอกว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น เมื่อได้ข้อยุติแล้ว คณะเราก็กลับสำนักงาน คุณณรงค์สอบถามว่าแล้วพวกเราจะทำอย่างไรต่อ ผู้เขียนให้คุณประเวศฯ นัดเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ โดยมีคุณอดุลย์ศักดิ์ เป็นตัวแทน  กรมป่าไม้ ไปกับเราซึ่งนัดหมายกันวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2549  ณ ที่เก็บสินค้า ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอพิบูลมังสาหาร ทำการตรวจวัดไม้ของกลางจัดทำบัญชี ทำการตีตรายึด และจัดทำบันทึกตรวจสอบ ตรวจยึดไม้ของกลางโดยมีเจ้าหน้าที่ศุลการักษ์ 5 นำตรวจ สรุปได้ว่าไม้ทุกท่อนไม่ปรากฏรูปรอยตรา ปมล. จากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ล) ประทับไว้ตามระเบียบของ สปป.ลาว และรอยตวงตรา ภล. (ค่าภาคหลวง) ตรา ป. (ปล่อย) ซึ่งเป็นตราของรัฐบาลไทยที่แสดงถึงการปล่อยไม้ที่กักหรือยึด และไม่พบรอยตรา “ตัด” ที่บ่งบอกให้รู้ว่าได้อนุญาต ให้ตัด อีกทั้ง ตรา อญ. ที่ได้อนุญาตตีประกอบ ไม่พบดวงตราประจำตัวเจ้าหน้าที่ ตรา ต.ที่ได้แสดงว่าได้มีการตรวจสอบแล้วจากป่าไม้ไทย และไม่มีดวงตรา รข. ที่แสดงว่ารัฐบาลได้ขายไม้แล้ว  และไม่ปรากฎรูปรอยตราใดๆ ที่ไม้ทั้งสิ้น อีกทั้งไม่มีหลักฐานการได้มา อาทิ หนังสืออนุญาตให้ตัดฟันไปใช้สอยส่วนตัวของผู้ว่าราชการจังหวัด และไม่มีใบเบิกทางของเจ้าหน้าที่กำกับมาแสดงแต่อย่างใด ไม้ทุกท่อนไม่ปรากฏว่าเคยผ่านการประกอบเป็นสิ่งปลูกสร้าง สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้มาก่อนแต่อย่างใด จึงเห็นว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยมิชอบ จึงตรวจยึดได้ไม้พะยูง 365 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร 25.496 ลูกบาศก์เมตร ตั้งข้อหา มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป (ไม้ท่อน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ได้มอบเรื่องราวให้  นายอดุลย์ศักดิ์ พุฒเขียว  เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6  นำเรื่องราว เอกสาร หลักฐานส่งพนักงานสอบสวน สภ.อ.วารินชำราบ  ดำเนินคดีตามกฎหมายป่าไม้อีกทางหนึ่งด้วย...

 เมื่อได้อ่านบันทึกการจับกุมที่ศุลกากรได้ตั้งข้อหาว่าผิดตาม มาตรา 27ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ประกอบ มาตรา 16,17 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉ.9) พ.ศ.2482 และรถยนต์ 2 คัน ได้ยึดตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ. 2569  ในฐานะผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมายและเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร จะขอวิเคราะห์ตามความเข้าใจหากไม่ถูกต้องท่านผู้รู้กรุณาทักท้วงด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน...

ตามที่ได้เข้าใจว่าด่านป่าไม้ หรือด่านศุลกากรก็ดี ย่อมมีขอบเขตของด่านโดยกฎหมายนั้นๆ จะต้องกำหนดขอบเขต เพราะมิฉะนั้นจะกล่าวว่า  หลบหนีไม่ผ่านด่านหาได้ไม่ ยกตัวอย่างด่านของป่าไม้ ถ้าเป็นด่านชั้นหนึ่งจะกำหนดขอบเขตชัดเจน เช่น ด่านป่าไม้หินกอง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ขอบเขตด่าน  ถือเอารัศมี 5 กิโลเมตร  รอบที่ทำการด่าน   เป็นเขตด่านป่าไม้  ส่วนด่านชั้นสอง ทุกจังหวัดจะถือเขตเทศบาลเป็นขอบเขตด่าน...

 เราลองมาดูขอบเขตด่านพิบูลมังสาหาร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร เขตแดนทางบก ระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรลาว ทางอนุมัติ ทางถนน ทางหลวงจากด่านศุลกากรพิบูลมังสาหารผ่านตลาดโดมน้อยถึงช่องเม็ก ทางน้ำ ลำน้ำมูล จาก   ที่ว่าการอำเภอพิบูลมังสาหาร ถึงหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านด่าน จังหวัดอุบลราชธานี ด่านพรมแดนช่องเม็กตั้งอยู่ในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ด่านพรมแดนบ้านด่าน  ตั้งอยู่ริมปากน้ำมูลติดต่อกับแม่น้ำโขง อำเภอบ้านด่าน จังหวัดอุบลราชธานี  ด่านศุลกากรพิบูลมังสาหารตั้งอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่ 43 ถนนสถิตย์นิมานการ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และด่านศุลกากรเขมราฐ ทางอนุมัติ ทางถนน จากท่าของด่านศุลกากรเขมราฐ ริมแม่น้ำโขงตรงไปยังถนน     กงพะเนียง เลี้ยวขวาเข้าด่านศุลกากรเขมราฐ ตั้งอยู่ ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อทราบขอบเขตของด่านศุลกากรแล้ว  มาดูที่เกิดเหตุมีการจับกุมที่ซอยสหกรณ์โคนม ถนนสาย 24 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี     ซึ่งห่างจากด่านพรมแดน ช่องเม็ก ประมาณ 50 กิโลเมตร และห่างจากด่านศุลกากรเขมราฐ ประมาณ 120 กิโลเมตร และเจ้าหน้าที่ศุลกากรมิได้ติดตามไม้มาจากด่านทั้งสองแต่อย่างได   เพียงแต่รับทราบจากสายลับว่ามีการลับลอบขนไม้จาก    สปป.ลาว มาเก็บไว้ที่โกดัง ณ ที่เกิดเหตุ จึงมาซุ่ม คอยจับกุม และลองมาดูข้อหาตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 มาตรา 27ทวิ ผู้ใดช่วยซ้อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อรับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด  มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งจำทั้งปรับ...

ท่านลองช่วยวิเคราะห์ดูว่า คดีนี้จะดำเนินการไปอย่างไร   กรุณาติดตามตอน... (11)

 


Last updated: 2014-06-07 08:02:57


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (10)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (10)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,059

Your IP-Address: 18.218.61.16/ Users: 
1,057