จดแล้วไม่ค่อยจำ เข้าใจแล้วไม่ค่อยลืม
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๑)
ดูจากจำนวนแล้วมันมากมายเกินกว่าที่จะรับได้ แต่เมื่อดูภาพจากหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว จะเห็นได้ว่า ไม้พะยูงส่วนใหญ่จะเป็นไม้ที่หลงเหลือจากการตัด
 

....จากข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ไม่เว้นแต่ละวัน  คือการลักลอบตัดไม้พะยูงส่งขายต่างประเทศ  พ่อค้าไทยได้รับออร์เดอร์มามากและให้ราคาสูง  จึงมีบรรดาพ่อค้ารายย่อยเกิดขึ้นมากมาย  มีพฤติกรรมในการตัดไม้และรับซื้อไม้เพียงรวบรวมได้  ๕-๒๐  ท่อน  ก็จัดการลำเลียงโดยใช้ยานพาหนะทุกประเภท  ตั้งแต่รถยนต์ปิกอัพ  รถเก๋ง  รถตู้  แล้วแต่ตนคิดว่าจะพรางตาเจ้าหน้าที่ได้  นำไม้ไปส่งตามริมแม่น้ำโขงตลอดแนว  ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี  มุกดาหาร  ตลอดจนถึงนครพนม  เพื่อลำเลียงลงเรือหางยาว  วิ่งข้ามฟากไปส่งยังฝั่งตรงข้ามที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน  โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยรข.  หน่วยป้องกันรักษาป่า  ทหารจากกองทัพภาคที่    และเจ้าหน้าที่ศุลกากร  สนธิกำลังกันปราบปรามจับกุมกันมาโดยตลอด  แต่ยังมิได้เบาบางลงแต่อย่างใด  ส่วนที่มาของไม้  มาจากที่ดินกรรมสิทธิ์  และสิทธิครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ  อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  การจับกุมไม้พะยูงรายใหญ่ล่าสุดที่เป็นข่าว  เป็นการสนธิกำลังทหาร  ฝ่ายปกครอง  เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผายล  ได้ไม้จำนวนทั้งสิ้น  ๒,๕๐๐  ท่อน  ดูจากจำนวนแล้วมันมากมายเกินกว่าที่จะรับได้  แต่เมื่อดูภาพจากหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว  จะเห็นได้ว่า  ไม้พะยูงส่วนใหญ่จะเป็นไม้ที่หลงเหลือจากการตัด  เช่น  ตอ  ราก  และรวมไปถึงสิ่งที่เราเรียกว่า  รากปุ่มตอ  หน่อปุ่มตา  ไม้ถากกลมที่สวยงามจะมีน้อย  แสดงให้เห็นว่า  ไม้พะยูงเริ่มขาดแคลน  พ่อค้าจึงรับซื้อชิ้นส่วนต่าง ๆ ของไม้พะยูง  เนื่องจากการซื้อขายในปัจจุบันเป็นการชั่งกิโลขาย  จนทำให้ไม้พะยูงได้รับฉายาใหม่ว่า  “ทองคำเขียว”  การขาดแคลนของไม้พะยูงพอจะตั้งสมมุติฐานได้    กรณี  หากมองในแง่บวก  แสดงว่าเจ้าหน้าที่ดูแลป่า  ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  และอุทยานแห่งชาติ  ปฏิบัติงานเข้มแข็งขึ้น  และถ้าหากเป็นไปในทางลบ  เกิดขึ้นได้    กรณี  ข้อที่หนึ่ง  เจ้าหน้าที่ละเลย  ข้อที่สอง  ไม้พะยูงเริ่มหายาก  เนื่องจากมีการลักลอบตัดไม่เว้นแต่ละวัน  ปัจจุบันวิธีการส่งออกไม่ต้องมีกลยุทธ์  หรือกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือน  ๔-๕  ปีที่ผ่านมา  ใช้วิธีการหาไม้ได้มากเท่าใด  จัดการลำเลียงให้ถึงฝั่งแม่น้ำโขงตรงจุดที่ใกล้ที่สุด  แล้วจะมีเรือหางยาวมารับข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามเท่านี้ก็เสร็จสิ้นภารกิจ  ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่การจัดส่งไม้ไปยังประเทศปลายทางหรือที่เรารู้กันว่าเป็นประเทศจีน  โดยไม่ต้องผ่านประเทศที่สองคือ  สปป.ลาว  ต่อจากนี้ไปจะพาย้อนไปดูการลักลอบตัดไม้พะยูงไปยังประเทศที่    อีกมิติหนึ่ง  เป็นขบวนการที่ตัวการรายใหญ่ซึ่งอาจจะมีหลายกลุ่ม  แต่วิธีที่ใช้เป็นไปในทำนองเดียวกัน

                ก่อนที่จะเล่ากลยุทธ์ในการลักลอบตัดไม้พะยูงข้ามชาติ  ขอตั้งข้อสังเกตให้กรมป่าไม้  และกรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  หน่วยป้องกันรักษาป่า  ได้ตระหนักให้มากคือ  ไม้พะยูงเริ่มหายากและมีราคาสูง  พวกที่แสวงหาไม้เมื่อหาจากป่าไม่ได้  ก็จะหันมาหาไม้ของกลางที่เราเก็บรักษาไว้ตามหน่วยต่าง ๆ ซึ่งอาจถูกลักขโมยไปได้  ขอให้กำชับหน่วยงานจัดเวรยามเฝ้าอย่างเคร่งครัดด้วย  ต่อไปจะเข้าเรื่องขออธิบายให้ทราบว่า  ไม้พะยูงมีอยู่ทั่วไป  แต่ที่พบมากและเนื้อไม้สวยงามจะอยู่ทางอีสานใต้  ตั้งแต่จังหวัดสุรินทร์  ศรีสะเกษ  อุบลราชธานี  สำหรับอีสานเหนือมีบ้างแต่น้อยกว่าอีสานใต้  ที่พบมีการลักลอบตัดกันมากที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน  อุทยานแห่งชาติภูผายล  สำหรับไม้พะยูงทางอีสานใต้นั้น  คนพื้นเมืองถือว่าเป็นไม้อาถรรพ์  ไม่นิยมนำมาปลูกสร้างบ้านเรือน  หากนำมาเพื่อใช้ทำบ้านเรือน  ชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะพาความวิบัติมาให้ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่  ในทางกลับกันชาวจีน  และญี่ปุ่นกลับชอบ  และมีความต้องการสูง  ปัจจุบันจึงมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับไม้ชนิดอื่น  ดังนั้นการจะนำเข้าประเทศจีน  เส้นทางที่จะลำเลียงสู่ประเทศจีนมีอยู่    ทาง  คือ  ไปทางตรงนำไม้ลงเรือที่ท่าเรือในไทย  จากรุงเทพฯ  ระยอง  จันทบุรี  และตราด  ออกอ่าวไทย  อ้อมเข้าทะเลจีนใต้  ถึงแม้ระยะทางจะไกลแต่ขนได้เป็นจำนวนมาก  เส้นทางที่    เอาไม้ข้ามโขง  เข้าประเทศสปป.ลาวต่อจากนั้นแล้วแต่พ่อค้าที่ลาวจะนำเข้าจีน  โดยตรงหรือผ่านเวียตนามก็เป็นได้  ดังนั้น  การส่งไม้เข้าประเทศจีนโดยถูกต้องทำไม่ได้แล้ว  หลังจากสัมปทานทำไม้ถูกปิดลงเมื่อพ.ศ.  ๒๕๓๒  ไทยก็ไม่มีนโยบายนำไม้ออก  พ่อค้าไม้เมื่อ  ๕-๖  ปีที่ผ่านมาพยายามที่จะหาทางส่งไม้ทางเรือ  และมีข่าวการทำไม้พะยูงข้ามชาติอึกทึกครึกโครมเมื่อปี  ๒๕๔๙  ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่าเรื่องราวต่อจากนี้  มิมีการอ้างอิงเอกสารของผู้ใด  เป็นประสบการณ์ที่พบเห็นมาด้วยตนเอง  หากเป็นเรื่องไม่ผ่านสายตาจะเป็นบทวิเคราะห์ของผู้เขียนที่ตั้งข้อสังเกตว่า  น่าจะเป็นไปในทำนองนั้น

                การลักลอบส่งไม้พะยูงไปจำหน่ายยังต่างประเทศ  ในระยะแรกที่พ่อค้ารับออร์เดอร์มา  ก็จะจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน  หรือบริษัทเป็นนิติบุคคล  เป็นบริษัทเอกซ์ปอร์ตอิมซปอต์  ให้พนักงานของบริษัทตระเวนซื้อไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์  หรือสิทธิครอบครองคือไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินโฉนด  น.ส.๓  มารวมกองไว้    สถานที่ใดที่หนึ่งที่ลับตาคน  เช่นในสวนป่ายูคาลิปตัสของเอกชน หรือเก็บในโกดังที่สร้างขึ้นชั่วคราว  การซื้อขายไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์  มีการจัดทำหลักฐานเอกสารที่คิดว่าถูกต้อง  มีสัญญาการซื้อขาย  สำเนาโฉนดที่ดิน  สำเนาบัตรประชาชนของผู้ซื้อและผู้ขาย  มีบันทึกการตรวจสอบไม้ว่ามาจากที่ดินกรรมสิทธิ์จริง  โดยการรับรองของกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นการสร้างเอกสารเพื่อป้องกันการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่  ในระยะแรก ๆ ก็ได้ผลดี  เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือตำรวจ  ไม่ค่อยอยากยุ่งด้วย  เมื่อพ่อค้าเห็นได้ผลจึงใช้กับไม้ทุกแห่งของที่มา  ต่อมามีการเอาเอกสารรายหนึ่งนำมาลบข้อความบางแห่งออกทำการถ่ายซ้ำ  ส่งไปคุมไม้เพื่อนำเคลื่อนที่มาเก็บไว้ยังสถานที่ที่เตรียมไว้  ฉะนั้นไม้ที่มาเก็บไว้จึงมีทั้งไม้ที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย  เมื่อรวบรวมได้มากพอสมควรแล้วจะเรียกรถตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือต่าง ๆ มาขนลำเลียงไปยังท่าเรือเพื่อเตรียมส่งไปยังต่างประเทศต่อไป  สำหรับเรื่องการส่งออกจะเล่าในตอนต่อไป  กลับมาดูวิธีการใช้หลักฐานคุมไม้ในประเทศเข้ามาเก็บไว้ในโกดังจำนวนมากอีกวิธีหนึ่ง  และจะทราบว่าโกดังที่เก็บไม้ส่วนใหญ่อยู่ที่ใด....



Last updated: 2013-12-27 22:47:54


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๑)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๑)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,356

Your IP-Address: 18.217.220.114/ Users: 
1,354