.องค์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
คือจอมปราชญ์ทรงงานอันโดดเด่น
เข้าพระทัยในคุณค่ามาชัดเจน
ป่าชายเลนต้องรักษ์ไว้หมายมุ่งมาด
.ด้วยซาบซึ้งถึงพระองค์ ธ ทรงเน้น
"สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ-
รัชกาลที่เก้า"เหล่าทวยราษฎร์
ร่วมประกาศจัดตั้งมาจันทบุรี
.ยี่สิบสองตุลาคราหกหนึ่ง
แสนตราตรึงซึ่งจารึกสวนพฤกษ์ฯนี้
องค์พระเทพฯบรมราชกุมารี
ร่วมพิธีที่ทรงวางศิลาฤกษ์
.รวมพันธุ์ไม้พืชชายเลนทั้งโลกนี้
ให้เป็นที่แหล่งวิจัยหมายบุกเบิก
องค์ความรู้ร่ำเรียนใช้ให้ก้องเกริก
เอิกเกริกการท่องเที่ยวเกรียวกราวไป
.พื้นที่กว่าห้าร้อยไร่ได้ส่วนสัด
ออกแบบดีภูมิทัศน์จัดแบ่งไว้
อาคารงามสร้างจำเพาะเหมาะการใช้
ตราตรึงใจให้ทรงจำคอยย้ำเตือน
.เน้นหน่วยงานราชการประสานกัน
คนเมืองจันท์ผู้สนใจได้ขับเคลื่อน
ทั้งองค์กรต่างชาติหมายมาดเยือน
เปรียบเสมือนเพื่อนสัมพันธ์สรรค์งานไป
.ประโยชน์ยิ่งสิ่งแวดล้อม-เศรษฐสังคม
ช่วยเมืองจันท์อันสุขสมรื่นรมย์ได้
ที่เผื่อแผ่แพร่มากล้นคนใกล้ไกล
ทั้งเมืองไทยให้สากลเป็นผลพวง
.สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ทรงการุณย์ป่าชายเลนที่เน้นห่วง
ชวนร่วมใจให้พร้อมพรั่งไทยทั้งปวง
เทิด"พ่อหลวง"รักษ์สวนพฤกษ์ฯรำลึกกัน
.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
หมายเหตุ กราบขอบพระคุณศาสตราจารย์
ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่กรุณาให้ข้อคิดและคำแนะนำในการเขียนกลอนบทนี้
แรงดลใจ:
สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9
จ.จันทบุรี หรือสวนพฤกษ์ฯแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อ 22 ต.ค.2561 ในท้องที่บ้านเสม็ดงาม หมู่ที่ 10 ตำบลหนองบัว
อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ประมาณ 518 ไร่
โดยมีเป้าหมายในการเป็น
สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกที่รวบรวมพรรณไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลก เป็นแหล่งวิจัยเรียนรู้ร่วมกันของฝ่ายวิชาการและผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
และแหล่งสร้างงานของนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญดังนี้
1. เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บรมนาถบพิตร และนับเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก
2. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม
จัดแสดงพรรณไม้ป่าชายเลนจากพื้นที่ส่วนต่างๆของโลกและเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
3. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งศึกษาวิจัย
สร้างองค์ความรู้ในทางพฤกษศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ
4. เพื่อเป็นสถาบันแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์
และการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ป่าชายเลนที่เหมาะสมและเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
(Sustainable Development Goals,SDGs)
5. เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติของประชาชน
6. เพื่อเป็นแหล่งสร้างงานของนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
และร่วมทำงานกับสถาบันการศึกษาทั้งใน และต่างประเทศ
7. เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายในการอนุรักษ์พรรณพืชป่าชายเลนร่วมกับสมาคมป่าชายเลนนานาชาติซึ่งมีสมาชิกอยู่
93 ประเทศที่มีป่าชายเลนทั่วโลก
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว
ปรมาจารย์ทางด้านป่าชายเลนของประเทศไทยและของโลก
ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสวนพฤกษ์ฯแห่งนี้
ได้ส่งเสริมให้ทำการวิจัยศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ที่ดำเนินการ
เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ในการประกอบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้มี อ.ดร.สุธิดา มณีอเนกคุณเป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีนักวิจัยกว่า 20 คนจาก 3 หน่วยงาน คือ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ม.เกษตรศาสตร์
และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดำเนินการวิจัยช่วงเม.ย.2564-ต.ค.2565 ทั้งนี้เมื่อ
8 ส.ค.2565 ได้จัดประชุมที่สวนพฤกษ์ฯเพื่อนำผลการวิจัยเผยแพร่ต่อชุมชมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กับทั้งนำข้อคิดเห็นมาใช้ประกอบการจัดทำรายงานการวิจัยให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
ต้องขอขอบพระคุณนายชาตรี มากนวล ผอ.สวนพฤกษ์ฯและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่สนับสนุนให้การประชุมบรรลุเป้าหมายที่วางไว้เป็นอย่างดี
Last updated: 2022-08-09 23:25:07