กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
คิดดี พูดดี ทำดี สิ่งที่ดี ๆ จะเกิดขึ้นแก่เรา
 
     
 
พลังชุมชน คนชายโขง
ชื่นชมและประทับใจเป็นอย่างยิ่งกับ... "พลังชุมชน คนชายโขง"... ที่ชาวบ้านร่วมมือกันเป็นเครือข่ายในการอนุรักษ์ป่าภูโหล่น ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ที่ควรเป็นต้นแบบขยายผลไปทั่วประเทศไทย
 

.ภูมิปัญญาชุมชนคนชายโขง
ชาวสำโรงโยงวิชาการป่าไม้
ก่อพลังสร้างสรรค์สานพงไพร
พาโพธิ์ไทรงามตระการย่านอุบลฯ 

.ไม้คะลำสืบทอดไว้เตือนใจปราม
ที่ต้องห้ามตัดมาใช้หลายเหตุผล
บวชต้นไม้ให้คงอยู่คู่ชุมชน
ประโยชน์ล้นรักษ์ป่าไม้ให้ยั่งยืน 

.เพาะกล้าไม้ปลูกเพิ่มเสริมพงไพร
ทั้งบำรุงรักษาไว้หมายป่าฟื้น
ขุดสร้างบ่อก่อทำฝายให้ชุ่มชื่น
ปรับระบบนิเวศคืนร่มรื่นนัก

.ทำแนวรอบป้องพงไว้กันไฟป่า
ปล่อยลามมาลุกไหม้เสียหายหนัก
จัดเวรยามทำหน้าที่หมั่นพิทักษ์
ช่วยปกปักคนลักไปไม้พะยุง

.ผู้นำดีที่ชาวบ้านนั้นร่วมมือ
ด้วยนับถือคิดทำไปรวมใจมุ่ง
ภูมิปัญญาป่าไม้หมายผดุง
ให้เรืองรุ่งต่อลูกหลานสืบสานใจ

.ร่วมหน่วยงานศึกษาตรึงคาร์บอน
ต้านโลกร้อนมุ่งรักษาผืนป่าไม้
ความหลากหลายชีวภาพนับเนื่องไป
หมั่นเรียนรู้คู่วิจัยได้ปัญญา

.สร้างเครือข่ายใฝ่รักษาป่าชุมชน
ด้วยนำพาป่าช่วยคนคนช่วยป่า
ถึงเหน็ดเหนื่อยทุ่มทำไปใฝ่ศรัทธา
ด้วยวิญญาณ์สำนึกรักมาจากใจ

.เกิดกลมเกลียวร้อยรักสามัคคี
เหล่าน้องพี่ในชุมชนผลยิ่งใหญ่
ช่วยปันทุกข์สุขเจือจานแบ่งกันไป
พาสดใสเริงรื่นชื่นชีวี

.ป่าภูโหล่นจึงอุดมสมบูรณ์ล้น
เสริมอุบลฯเกิดคุณค่าสง่าศรี
สร้างประโยชน์เปรียบทรัพย์นับมากมี
ต้นแบบนี้ต้องขยายไปทั่วไทย

 

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com

หมายเหตุ* "พลังชุมชน คนชายโขง" เป็นคำขวัญที่ใช้ในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนชายโขง ที่กองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติะสิ่งแวดล้อมสนับสนุนงบประมาณให้สมาคมภูมินิเวศพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินการในพื้นที่ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี

แรงดลใจ: เมื่อ 10-12 ธ.ค.64 มีโอกาสเดินทางร่วมกับ ดร.โกมล แพรกทอง ปรมาจารย์ด้านป่าชุมชนและคณาจารย์ของ มสธ.ไปร่วมประชุมและประเมินการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนชายโขง ที่อุบลราชธานี ซึ่งยอมรับว่าประทับใจมากเหลือเกินในความร่วมมือของชาวบ้านอย่างแข็งขันต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ที่มิได้มุ่งหวังเพียงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเฉพาะคนในท้องถิ่นตนในด้านการใช้ประโยชน์ทางตรงจากผลผลิตของป่าไม้ หากแต่ยังคำนึงถึงชุมชน คนไทยทั่วไปและสังคมโลก ที่ได้รับเป็นการผลพวงจากประโยชน์ทางอ้อมรวมไปถึงการลดภาวะโลกร้อนที่ทรัพยากรป่าไม้เอื้ออำนวยให้เป็นการต่อเนื่อง อันเป็นจิตสำนึกที่หาได้ยากที่ล้ำค่าต่อการยกย่องและชมเชยอย่างยิ่ง

จากการเข้าเยี่ยมชมในพื้นที่ป่าไม้ที่ดำเนินการจริง และการเข้าร่วมประชุมร่วมกับตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ากิจกรรมของชาวบ้านที่ดำเนินการอย่างโดดเด่นมีหลายด้าน ที่สำคัญได้แก่ การใช้ภูมิปัญญาในเรื่องไม้คะลำที่ห้ามมิให้ตัดไม้บางลักษณะมาใช้ประโยชน์อันเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ไปในตัว การถ่ายทอดภูมิปัญญาป่าไม้ท้องถิ่นไปสู่นักเรียนและเยาวชนในชุมชนเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพชน การป้องกันและส่งเสริมให้พื้นที่ป่าไม้รอดพ้นจากไฟป่าและการลักลอบตัดไม้มีค่าผสานกับการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ การทำฝายและบ่อน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ การวางแปลงทดลองศึกษาการกักเก็บคาร์บอนของไม้ป่า การสร้างเครือข่ายชุมชนระดับหมู่บ้านและตำบลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนโดดเด่นเกินความคาดคิด น่ามาจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ประการแรกก็คือความร่วมมือร่วมใจกันของผู้นำและคนในชุมชนที่ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าที่ทรัพยากรเอื้ออำนวยให้ ต่อมาคือการใช้ภูมิปัญญาชุมชนดั้งเดิมมาประยุกต์กับหลักวิชาการป่าไม้ในการอนุรักษ์พื้นที่ ประการสุดท้ายและสำคัญอย่างยิ่งคือเจ้าหน้าที่โครงการโดยเฉพาะอาจารย์สมชาย นิลอาธิและคุณวิสูตร อยู่คง วนศาสตร์ 43 ที่จริงใจและจริงจังในการทุ่มเทพลังใจและพลังกายในการทำงานร่วมกับพี่น้องอย่างแท้จริง ผลงานของโครงการนี้สมควรเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นได้นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ไทยเป็นการต่อเนื่อง ทั้งนี้ใคร่วิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชนและท้องถิ่นได้สนับสนุนชุมชนตามสมควรด้วย


Last updated: 2021-12-15 09:55:56


@ พลังชุมชน คนชายโขง
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พลังชุมชน คนชายโขง
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
583

Your IP-Address: 98.81.24.230/ Users: 
582