กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
คิดดี พูดดี ทำดี สิ่งที่ดี ๆ จะเกิดขึ้นแก่เรา
 
     
 
สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย
บทความวิเคราะห์สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย โดย รศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ อาจารย์ประจำสาขาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
 

                                          สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย
                                                                   ดุสิต เวชกิจ
                                                       สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช




เนื้อที่ในประเทศไทย เท่ากับ 513,120 ตร.กม.

 

                  ทรัพยากรป่าไม้มีความสำคํญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากได้เอื้ออำนวยประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่ประชาชนและสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า หากประโยชน์ทั้ง 3 ด้านนี้มีความสมดุลกันแล้ว นับว่ามีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามเท่าที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบเป็นอย่างมาก โดยมีสาเหตุจากหลายประการ จนต้องมีการประกาศใช้นโยบายป่าไม้แห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อมุ่งหวังให้สการณ์ทางด้านป่าไม้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา


การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ของไทย

พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยในอดีตเคยมีความอุดมสมบูรณ์และครอบคลุมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย อย่างมากมาย อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ประเทศได้เห็นให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของประชากรไทยที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพของเกษตรกรและอื่นๆ รวมทั้งต้องรองรับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ของประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้รองรับเป็นอย่างมาก ต่อมายังมีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ อีกหลายด้านที่ต้องใช้พื้นที่ป่าไม้รองรับการดำเนินกิจกรรมที่กำหนดไว้ทั้งที่ถูกกฎหมายและฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้พื้นที่ป่าลดลงตามลำดับ (ดุสิต เวชกิจ, 2557)

สถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ของไทยที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ทั้งนี้ ดุสิต เวชกิจ (2560) ได้รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2528 คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ได้กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าไม้อยู่อย่างน้อย ร้อยละ 40.00 ของเนื้อที่ประเทศ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 128,400,000 ไร่ ทั้งนี้จากการรายงานของกรมป่าไม้ (2563) พบว่า ในปี พ.ศ. 2562 มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ประมาณ 102,484,073 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น แสดงให้เห็นว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายจำนวนมากถึงร้อยละ 8.32 ของพื้นที่ประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อพัฒนาในภาพรวมของพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ซึ่งได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2504 โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศ พบว่า มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ประมาณร้อยละ 53.33 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 171,017,812 ไร่ จากที่ได้มีการสำรวจเป็นระยะๆ พบว่า พื้นที่ป่าไม้มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2541 พบว่า เหลืออยู่เพียงร้อยละ 25.28 ของพื้นที่ประเทศหรือประมาณ 81,076,250 ไร่ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นกลับสำรวจพบว่า พื้นที่ป่าไม้กลับเพิ่มขึ้นในบางช่วงเวลา คือ ใน พ.ศ. 2543 ปี พ.ศ. 2551 ปี พ.ศ. 2557 และ
ปี พ.ศ. 2562 (ตารางที่ 1 และภาพที่ 1)

การสำรวจพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2562 ข้างต้น ได้กำหนดนิยามพื้นที่ป่าไม้ คือ พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณ นี้สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้นปกคลุมเป็นพื้นต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ (0.5 เฮคแตร์) และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ปรากฎล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัส หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลักของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม (กรมป่าไม้, 2563) 

ตารางที่ 1 พื้นที่ป่าของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2504-2562

bd9b8c8d5e9ea2d46db3831b0364ed5e.png

ที่มา: กรมป่าไม้ (2563)

ร้อยละของพื้นที่ป่าไม้ 

ภาพที่ 1 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2504-2562

ที่มา: ดัดแปลงจากกรมป่าไม้(2563)


จากสถิติข้างต้นพอสรุปได้ว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศในช่วง 58 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2504-2562) พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดน้อยลงไปประมาณ 70,053,827 ไร่ คิดเป็นค่าเฉลี่ย 1,207,825 ไร่ต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการลดลงที่สูงมาก ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นในบางช่วงที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังไม่มีการสรุปเป็นทางการถึงการเพิ่มขึ้นดังกล่าว แต่อาจมีเหตุผลจากการนำเทคโนโลยีการสำรวจพื้นที่ที่มีความละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ในอดีตที่เคยตกสำรวจมารวมอยู่ด้วย นอกจากนี้บางส่วนอาจเป็นเพราะว่าพื้นที่ป่าไม้ที่ได้มีการดำเนินการปลูกป่าไว้แล้วในอดีตทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมีการเจริญเติบโตจนมีสภาพที่เป็นป่าไม้เพิ่มมากขึ้นก็ได้ จึงควรมีการวิเคราะห์การรายงานให้เข้าใจอย่างชัดเจน
เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดการป่าไม้ได้ถูกต้องมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศเป็นรายภาคแล้วพบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ
ในประเด็นการลดลงของพื้นที่ป่าไม้จากมากที่สุดไปน้อยที่สุด(กรมป่าไม้
2563) ดังนี้

1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เดิมเป็นภาคที่มีพื้นที่อุดมด้วยป่าเบญจพรรณ มีลักษณะพื้นที่เป็น
ที่ราบสูง
ง่ายแก่การตัดฟัน และชักลากไม้ ดังนั้นอัตราการทำลายป่าในภาคนี้จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดว่าเป็นภาคที่มีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด โดยช่วงที่มีการทำลายป่ามากที่สุดคือช่วงปี พ
.. 2519-2521 ซึ่งมีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ถึงร้อยละ 14.2 ต่อปี เมื่อพิจารณา
ในภาพรวมในระหว่างปี พ.ศ.
2504-2562 พบว่า พื้นที่ป่าไม้ในภาคนี้ลดลงเฉลี่ย 0.49 ล้านไร่ต่อปี

2. ภาคเหนือ การทำป่าไม้ในเชิงพาณิชย์ มีการให้สัมปทานทำไม้สักแก่บริษัทเอกชนมาตั้งแต่ปี พ.. 2407 แต่เนื่องจากพื้นที่เต็มไปด้วยเขาสูงพื้นที่ป่าไม้จึงลดลงไปไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น แต่การเข้าไปตัดฟัน และชักลากไม้ใหญ่จากป่าก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดชุมชนป่าขึ้นในภาคเหนือ ประกอบกับช่วงปี พ.. 2409-2500 ได้มีการก่อสร้างถนนสายสำคัญในภาคเหนือ ซึ่งช่วยให้ลดต้นทุนค่าขนส่งพืชไร่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้มีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้
ในภาคเหนือลดลง เนื่องจากพื้นที่ในเขตภูเขาที่มีทัศนียภาพอันสวยงาม อากาศดี ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องการของตลาดการท่องเที่ยว และนันทนาการ ทำให้ที่ดินในที่สูงถูกเก็งกำไร และมีการเปลี่ยนมือ เพื่อมุ่งใช้ประโยชน์
ในด้านการท่องเที่ยว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนจูงใจให้มีการบุกเบิกป่า โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี พ
.. 2530-2538 อย่างไรก็ตาม อัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือระหว่างปี พ.. 2504-2562 มีอัตราการลดลงเฉลี่ยประมาณ 0.34 ล้านไร่ต่อปี

3. ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีสภาพพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นทั้งป่าที่ลุ่มน้ำขัง ป่าโปร่ง ป่าดงดิบชื้น
ในที่ลุ่ม ป่าในพื้นที่ทั้งสองภาคนี้ถูกบุกเบิกเร็วกว่าพื้นที่ป่าไม้ในภาคอื่นๆ เนื่องจากอยู่ใกล้เมืองหลวง ในช่วงแรกๆ มีการ ส่งเสริมการปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ และต่อมายังมีการส่งเสริมการปลูกพืชไร่กันมาก
เป็นเหตุให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงไปมาก ดังจะเห็นได้ว่าจากเดิมในปี พ
.. 2504 ภาคกลางมีพื้นที่ป่าไม้ถึงร้อยละ 52.90 ของพื้นที่ทั้งหมดของภาค แต่ในปี พ.. 2562 พื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 33.16 ของพื้นที่
ภาคกลางทั้งหมด โดยมีอัตราการลดลงประมาณปีละ
0.14 ล้านไร่ต่อปี ในส่วนของพื้นที่ป่าไม้ใน
ภาคตะวันออก ในปี พ
.. 2504 มีพื้นที่ป่าไม้ถึงร้อยละ 57.98 และลดลงเหลือเพียงร้อยละ 22.40 ของพื้นที่ทั้งหมดของภาค ในปี พ.. 2562 โดยมีอัตราการลดลงประมาณปีละ 0.14 ล้านไร่ต่อปี เช่นเดียวกัน

4. ภาคใต้ มีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในช่วงปี พ.. 2504-2562 เฉลี่ยประมาณ 0.10 ล้านไร่ต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติพื้นที่ป่าไม้ของภาคอื่นๆ โดยสาเหตุหลักของการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในภาคใต้ คือการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันในเชิงพาณิชย์ มีการลักลอบเข้าไปปลูกยางพาราในเขตป่าจำนวนมาก โดยพบว่ามีสวนยางพาราอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์
ถึงร้อยละ
35 ของพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศ

 


 

สาเหตุที่ทำให้ป่าไม้ของไทยลดลง

พื้นที่ป่าไม้ในภาพรวมของประเทศตามสถิติที่กรมป่าไม้(2563)ได้รายงานมาข้างต้น สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่ามีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีความพยายามทุ่มเทการดำเนินงาน ทั้งในด้านการป้องกันรักษาและการปลูกฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้มาโดยตลอดก็ตาม ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการสำรวจพื้นที่ป่าไม้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 มาเป็นระยะๆ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2562 ดังได้กล่าวมาแล้วพบว่าพื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศในภาพรวมลดลงเฉลี่ยประมาณ 1.2 ล้านไร่ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ดุสิต เวชกิจ (2560) ได้สรุปว่ามีมาจาก 15 ปัจจัย โดยจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ นโยบายภาครัฐ การบริหารจัดการของหน่วยงาน นายทุน และราษฎร การควบคุมตามกฎหมายป่าไม้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

            1. นโยบายภาครัฐ

นับตั้งแต่เริ่มมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้มีนโยบายบางด้านที่เร่งรัดพัฒนาพื้นที่และประเทศในภาพรวม ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่

1.1 นโยบายของรัฐบาลบางประการที่ผ่านมาส่งเสริมให้มีการบุกรุกทำลายป่ามากขึ้น เช่น การนำพื้นที่ป่าไม้มาปฏิรูปเป็นพื้นที่เกษตร การส่งเสริมการปลูกยางพารา และการทำการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น วัฏจักรของการทำลายป่าเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าไปตัดไม้แผ้วถางป่า การทำกิน การขายที่ดินป่า การเปลี่ยนมือ การครอบครองป่า จนไปถึงการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในเขตป่า โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะแก่การก่อสร้าง
โรงแรม รีสอร์ท หรือบ้านพักตากอากาศยังคงมีอยู่มาก

1.2 การถือครองที่ดินป่าไม้ของประชาชนที่ได้รับการยกเว้นหรือชะลอการจับกุมโดยนโยบายของรัฐบาล ยังไม่ได้รับการจัดระเบียบ และหลายพื้นที่ยังคงถือครองโดยผิดกฎหมาย กับทั้งมีความยุ่งยากและซับซ้อนในการแก้ไขปัญหา ทั้งยังส่งผลให้ประชาชนมีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

1.3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากความจำเป็นซึ่งต้องมีการพัฒนาชนบทและประเทศในช่วงระยะเวลาต่างๆ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปจัดทำโครงสร้างพื้นฐานบางด้าน เช่น การสร้างเขื่อน การทำอ่างเก็บน้ำ การสร้างทางรถไฟ การสร้างถนน การทำเหมืองแร่ 

               2. การบริหารจัดการของหน่วยงาน

การบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ของประเทศในระยะแรกอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ ของกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลัก แต่ภายหลังจากได้มีการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 ได้ประกาศจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มเติมขึ้นมาแบ่งความรับผิดชอบ
ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ออกไป ทั้งนี้พบว่ามีข้อบกพร่องที่เป็นสาเหตุให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงที่สำคัญ ได้แก่

2.1 การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่มีการทุจริต หรือปล่อยปละละเลยจนกลุ่มผู้บุกรุกมีจำนวนมากในพื้นที่กว้างขวางมากขึ้นยากต่อการแก้ไขตามหลักกฎหมายได้

2.2 การยุบเลิกหน่วยงานป่าไม้จังหวัดและป่าไม้อำเภอ ส่งผลให้หน่วยงานภูมิภาคในการบริหารจัดการและประสานหรือบริการหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่มีม่เพียงพอ ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันรักษาและส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคีในด้านป่าไม้

2.3 งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบและภารกิจที่ได้รับมอบหมายของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

2.4 การขาดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานการป่าไม้ เช่น อาวุธปืน รถยนต์ วิทยุสื่อสาร ทำให้การปฎิบัติงานในทุกด้านไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่ทางราชการกำหนดไว้

             3. นายทุนและราษฎร

พื้นที่ป่าไม้ของประเทศหลายแห่งพบว่า มีปัญหาสำคัญคือ การบุกรุกจากนายทุนและราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงไปดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ในหลายรูปแบบ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ในทุกภูมิภาคของประเทศมีแนวโน้มลดลง สืบเนื่องจากกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่

3.1 การลักลอบตัดไม้ มีการลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมายจากป่าธรรมชาติและสวนป่าที่ปลูกไว้ เพื่อใช้ในครัวเรือนและการจำหน่าย รวมทั้งการแปรรูปจากทั้งนายทุนและราษฎรมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ที่มีราคาแพงทั้งไม้สัก ไม้พะยูง และชิงชัน

3.2 การขยายการครอบครองพื้นที่ของกลุ่มทุนเพื่อทำการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่ทำเป็นแปลงใหญ่โดยมุ่งผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเพื่อประกอบอาชีพอื่น ได้แก่ การทำรีสอร์ทมากขึ้น
เป็นต้น

3.3 การขยายพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา เมื่อเกษตรกรต้องการผลผลิตเพิ่มก็ขยายพื้นที่เพิ่ม แทนที่จะพัฒนารูปแบบและวิธีการทำการเกษตรเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา ซึ่งการทำการเกษตรยังก่อให้เกิดไฟป่าทำลายพื้นที่ป่าไม้อีกด้วย

3.4 ปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่ารายใหม่ยังคงมีอยู่ทั้งในเขตพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เป็นที่ดินของรัฐ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่สาธารณะ และในเขตป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

             4. การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้

แม้ว่าได้มีการประกาศใช้กฎหมายทางด้านป่าไม้มาตั้งแต่อดีต และมีการปรับปรุงรวมทั้งประกาศใช้เพิ่มหลายฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมการบริหารจัดการป่าไม้ในรูปแบบต่างๆ แต่ก็พบว่าการบังคับใช้ที่คลอบคลุมการควบคุมตามกฎหมายป่าไม้ยังขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอยู่บ้าง อันส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง โดยมีประเด็นที่สำคัญได้แก่

4.1 การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะการลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้สักอยู่ในขั้นวิกฤติและมีการกระทำกันเป็นขบวนการใหญ่มีชาวต่างชาติ ผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเฉพาะการลักลอบตัดไม้พะยูง เพื่อส่งไปขายยังต่างประเทศ เนื่องจากไม้พะยูงมีราคาสูงมากทำให้คนกล้าที่จะกระทำความผิดเพื่อแลกกับผลประโยชน์ และเมื่อไม้พะยูงมีจำนวนเหลือน้อยก็จะมีการลักลอบตัดไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ มาทดแทนมากขึ้น

4.2 การลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่า ยังคงมีขบวนการที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งในส่วนที่เป็นสัตว์ป่าในประเทศและสัตว์ป่าต่างประเทศทั้งนี้ประเทศไทยได้ถูกจัดให้เป็นประเทศทางผ่านของขบวนการล่าและค้าสัตว์ป่านานาชาติ ทั้งนี้ได้มีการใช้ไฟเผาทำลายป่า หรือการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อมุ่งในการล่าสัตว์ป่าได้สะดวกขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงบางแห่ง

4.3 การปฏิบัติงานในพื้นที่ป่าที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีราษฎรของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาลักลอบตัดไม้และขนลำเลียงกลับไปประเทศของตน เช่น ในส่วนของป่าสาละวินที่มีแนวเขตติดต่อกับประเทศเมียนม่าร์หรือป่ารอยต่อตามแนวเขตประเทศกัมพูชา และสปป.ลาว มีการลักลอบตัดไม้พะยูง ประดู่ ชิงชัน บางครั้งมีกองกำลังติดอาวุธคุ้มกันการลักลอบตัดไม้ ซึ่งการป้องกันดังกล่าวเกินขีดความสามารถในการป้องกันของเจ้าหน้าที่ป่าไม้

4.4 ผู้กระทำผิดได้รับโทษทางแพ่งที่ไม่ร้ายแรงเมื่อเทียบกับความผิดข้อหาอื่นๆ การทำลายป่าไม้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านต้นไม้และพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายในด้านอื่นๆ ตามมาทั้งการทำลายหน้าดิน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม ฯลฯ ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าแล้วนับว่ามหาศาลมาก แต่กฎหมายได้ลงโทษผู้กระทำผิดเพียงเล็กน้อยไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อเทียบกับความผิดอื่นๆ แล้วนับว่าบทลงโทษยังน้อยมาก จึงทำให้มีความกล้าเสี่ยงในการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น

 

นโยบายป่าไม้แห่งชาติ

รัฐบาลได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมาโดยตลอด โดยในส่วนของมาตรการระยะยาวด้านหนึ่งได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายว่าด้วยการป่าไม้ของชาติและกำหนดแนวทางการจัดการป่าไม้ในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยมี “คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ” ที่ได้รับการแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่
22 มกราคม พ.ศ. 2528 หลังจากนั้นคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติดังกล่าว ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2528 ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ประกอบด้วยถ้อยแถลงนโยบายจำนวน 20 ข้อ และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำมาใช้เป็น
แนวทางการดำเนินงานเป็นต้นมา

ต่อมารัฐบาลได้ออกประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560 และได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 271 ง ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 โดยกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “คปช.” จำนวน 29 คน มีอำนาจหน้าที่ 8 ประการ เช่น ให้จัดทำนโยบายป่าไม้แห่งชาติและยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บท เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาป่าไม้ของประเทศให้เกิดเอกภาพและดุลยภาพ
ในการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม ในการนี้ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติและร่างแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ” จำนวน
14 คน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เพื่อจัดร่างนโยบาย ป่าไม้แห่งชาติและร่างแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ แล้วเสนอตามขั้นตอนต่างๆ จนคณะรัฐมนตรี
ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้เมื่อวันที่
6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอันนำไปสู่ปัญหาหลักของการป่าไม้ไทยที่เป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อกำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้านหลัก รวม 24 ข้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (ขวัญชัย ดวงสถาพร, 2563)

1 ด้านการจัดการป่าไม้

1.1 เชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐในการบริหารจัดการป่าไม้ทุกระดับให้มีเอกภาพและประสานกัน ตามห่วงโซ่การพัฒนาระหว่างการบริหารราชการทุกระดับ รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือ และพัฒนากลไกหรือเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนา ป่าไม้ของชาติในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยด าเนินการอย่างมีเป้าหมายและต่อเนื่อง

1.2 กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ประกอบด้วย

1) ป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ

2) ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ โดยกำหนดให้เพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน ให้ได้ตามเป้าหมายภายใต้กรอบเวลา
ที่กำหนดในแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ

1.3 จำแนกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการบริหารจัดการในภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่พร้อมทั้ง กำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม

1.4 ปรับปรุงแนวเขตที่ดินป่าไม้ทุกประเภทของรัฐให้ชัดเจนและมีเอกภาพด้วยการประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1.5 พัฒนาระบบสารสนเทศทรัพยากรป่าไม้ทั้งในภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่ให้มี มาตรฐาน เอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท และเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรอื่นของประเทศและกำหนดหน่วยงานหรือคณะบุคคลผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนและเหมาะสม

1.6 ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทและหน้าที่ของทุกภาคส่วนให้มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วม รวมทั้งรับผิดชอบในการอนุรักษ์ การจัดการ และการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน

1.7 หยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้ในที่ดินป่าไม้ของรัฐทุกรูปแบบให้มี ประสิทธิภาพ โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงานที่ชัดเจน

1.8 บริหารจัดการป่าอนุรักษ์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความ หลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งป้องกันภัยธรรมชาติต่างๆ และรักษาสภาพธรรมชาติที่สวยงามหรือมีจุดเด่น เฉพาะตัว โดยให้คงไว้ซึ่งสภาพธรรมชาติ รักษาดุลยภาพของระบบนิเวศให้มากที่สุด ซึ่งการใช้ประโยชน์ต้อง กระทำเท่าที่จำเป็นตามศักยภาพหรือขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์
ในการศึกษาการวิจัย และนันทนาการ

1.9 จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ของรัฐอย่างเหมาะสมเป็นธรรม ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้และสิ่งแวดล้อมจากการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ โดยให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด

1.10 พัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์และการตลาดเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ อย่างเหมาะสม

1.11 ฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มีความสมบูรณ์โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการฟื้นฟู อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง มีการติดตาม ประเมินผล และเผยแพร่ผลการดำเนินงานต่อสาธารณะบนพื้นฐาน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

1.12 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยประโยชน์ ต่อชุมชน สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ป่าไม้ของประชาชน เป็นส่วนส่งเสริมให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง และเป็นการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน

1.13 พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าทั้งระบบ รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า อย่างเป็นรูปธรรม และสัตว์ป่าได้รับการคุ้มครอง รักษา และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

 

 

2 ด้านการใช้ประโยชน์ผลิตผลและการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้

2.1 ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งในที่ดินของรัฐที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ และ ในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่มิใช่ของรัฐให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไม้ และตอบสนองต่อ อุตสาหกรรมไม้

2.2 ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลจากป่าไม้ครบวงจรในทุกระดับ และพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม

2.3 พัฒนาและส่งเสริมการรับรองป่าไม้ตามมาตรฐานการรับรองป่าไม้ในประเทศให้เป็นที่ ยอมรับและได้รับการรับรองทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

2.4 ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์การบริการจากป่าไม้อย่างสมดุล ยั่งยืน และเกื้อกูล ระบบนิเวศ

3 ด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้

3.1 ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ให้สามารถบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ป่าเศรษฐกิจ และป่าชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขนาดที่เหมาะสม ลดความซ้ำซ้อน และปรับปรุงวิสัยทัศน์ ภารกิจ หรือพันธกิจของหน่วยงานภาครัฐให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ อย่างมีประสิทธิภาพ

3.2 พัฒนาและส่งเสริมให้มีธรรมาภิบาลในการบริหารงานป่าไม้ทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐมีการบริหารอัตรากำลังที่มีความคล่องตัว ยึดระบบคุณธรรม บุคลากรภาครัฐยึดค่านิยมในการทำงาน เพื่อประชาชนและประเทศ มีคุณธรรมและมีการพัฒนาตามเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ

3.3 พัฒนาศักยภาพหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการพิจารณา อนุญาตให้กับประชาชนและการบริการอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส โดยนำเทคโนโลยี ดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

3.4 พัฒนาบุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานด้านทรัพยากรป่าไม้ทุกระดับให้มีความเป็นมืออาชีพ ในงานป่าไม้ มีความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน รวมทั้งจัดสวัสดิการของบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คุ้มครอง รักษา ทรัพยากรป่าไม้ในภาคสนามให้มีความเหมาะสมกับลักษณะงานที่ปฏิบัติ และไม่น้อยกว่า บุคลากรสายงานอื่นที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน

3.5 กำหนดให้มียุทธศาสตร์หรือแผนการวิจัยภาคป่าไม้ในนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือแผนการ วิจัยระดับชาติ และ/หรือพิจารณาจัดตั้งสถาบันวิจัยป่าไม้ในระดับชาติ รวมทั้งสนับสนุนและพัฒนางานวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมให้ตอบสนองต่อการปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้ทั้งระบบ

3.6 ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมและสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการป่าไม้ทั้งระบบ รวมทั้งพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียม และ
นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ของตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอยู่ในอัตราที่สูงมาก ส่งผลกระทบในทางลบต่อผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ประชาชนและสังคมไทยได้รับอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบต่างๆจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนทั้งในพื้นที่ป่าบกและป่าชายเลน ซึ่งหน่วยงานหลักอันได้แก่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่สามารถดำเนินการกันเองได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงาน จึงส่งผลให้นโบยบายการป่าไม้แห่งชาติบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพต่อไป

 

 

บรรณานุกรม

 

กรมป่าไม้. (2563). ข้อมูลสถิติกรมป่าไม้ 2562. กรุงเทพฯ: ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร กรมป่าไม้.

ขวัญชัย ดวงสถาพร. (2563). แนวทางการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ. เอกสารประกอบการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติและร่างแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ. กรุงเทพฯ: กรมป่าไม้. [อัดสำเนา]

คณะอนุกรรมการจัดทำร่างนโยบายแห่งชาติ และร่างแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ. (2563). นโยบาย
ป่าไม้แห่งชาติ.
กรุงเทพ: กรมป่าไม้ สำนักแผนงานและสารสนเทศ

                . (2564). แผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้ของชาติ. กรุงเทพฯ กรมป่าไม้ สำนักงานแผนงานและสารสนเทศ.

ดุสิต เวชกิจ. (2557). การจัดการป่าไม้ ใน ประมวลสาระชุดวิชาหลักการจัดการทรัพยากรการเกษตร (เล่มที่ 1, หน่วยที่ 5). นนทบุรี: สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

                . (2560). การจัดการป่าไม้ ใน ประมวลสาระชุดวิชาความรู้พื้นฐานด้านการเกษตร (เล่มที่ 1, หน่วยที่ 5). นนทบุรี: สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

วศิน อิงคพัฒนากุล. (2560). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ใน เอกสารการสอนชุดวิชานิเวศวิทยาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ. นนทบุรี: สาขาวิชาการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 


Last updated: 2021-10-08 12:38:06


@ สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
388

Your IP-Address: 3.238.114.5/ Users: 
387