นักการเมืองท่านสั่งการงานป่าไม้
สังเวชใจให้ชอกช้ำแกมขำขัน
ทำเป็นเก่งถ้วนหน้าสารพัน
ตามคิดฝันไร้กึ๋นมีวิชาการ
"ทำอย่างไรให้ต้นสักชักน่าห่วง
เห็นใบร่วงหมดจริงเหลือกิ่งก้าน
ดูเหี่ยวเฉาไม่รักษาปล่อยมานาน
เดี๋ยวคงพาลแห้งไปตายทั้งแปลง"
"ปลูกป่าสักไม่ยากนะจะบอกให้
เมล็ดไม้เก็บได้มากจากหลายแหล่ง
ใช้เครื่องบินโปรยลงมาคราฝนแรง
หากว่าแล้งคอยรดน้ำหมั่นทำไป"
"ทำไมตัดต้นสักจากสวนป่า
เห็นตำตาคุณสั่งการมันใช่ไหม
ต้นยังเล็กเร่งตัดมาทำอะไร
ต้องสั่งให้โดยด่วนสอบสวนคน"
"ปล่อยคนงานเผาทำไมใบไม้แห้ง
พอหมดแล้งพฤษภาย่างหน้าฝน
ถ้าปล่อยไว้ให้ผุพังทั้งแหลกป่น
เป็นปุ๋ยปนมากมายเพิ่มให้ดิน"
"โน่นไยเอาเมล็ดไม้ใส่น้ำรัอน
ที่แน่นอนเดี๋ยวคงตายหมดไปสิ้น
หาเก็บยากไม่รักษาแสนบ้าบิ่น
หรือต้มกินในเหล่าชาวป่าไม้"
"อย่าส่งเสริมให้มากยากเกิดผล
ป่าชุมชนคนเขาหลอกขอบอกให้
ชาวบ้านจ้องประโยชน์หาจากป่าไป
หวังแต่ได้ไม่รักษาพาแหลกลาญ"
"ตั้งทำไมสวนป่า-รุกขชาติ
พฤกษศาสตร์สวนพรรณไม้มีหลายด้าน
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า-วนอุทยาน
ชื่อเรียกขานกันเสียใหม่-ป่าในเมือง"
อนิจจางานป่าไม้ให้เสียหาย
ด้วยเจ้านายหลายท่านนั้นชอบเฟื่อง
โชว์กึ๋นไปหมายคิดว่าจะรุ่งเรือง
ไม่รู้เรื่องวิชาการพาลลำเค็ญ
.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ: ยังยืนยันอยู่เหมือนเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยนความคิดเห็นอันมีมาตลอด นั่นก็คือ คนที่เข้ามารับผิดชอบการบริหารจัดการป่าไม้ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานหรือเข้าใจวิชาการป่าไม้เป็นอย่างดี จึงสามารถกำหนดนโยบายหรือแผนงานที่เหมาะสม อันส่งผลให้ได้รับผลประโยชน์ตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่วางไว้ได้ มีทั้ง"ศาสตร์" และ"ศิลป์"หลายด้าน ที่จำเป็นต้องนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดคุณค่าจากป่าไม้อย่างแท้จริงในหลายด้าน มิใช่มุ่งแต่เอาเนื้อไม้หรือกอบโกยผลประโยชน์จากป่าไม้แบบมูมมามอย่างน่ารังเกียจ
ที่ผ่านมาในอดีตของชาวป่าไม้ มีเรื่องเล่าขานถึงความ"ขี้เท่อ"ของนักการเมืองระดับใหญ่หลายท่าน ซึ่งเคยสั่งการตามอำนาจที่มีในการจัดการป่าไม้ อันเป็นเรื่องราวที่หลายคนเอามาเล่าสู่กันฟังด้วยความสนุกสนาน(ลับหลังท่าน) กับทั้งชวนสมเพชเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ที่ยกมาในกลอนเป็นเพียงบางกรณีเท่านั้น ความจริงยังมีอีกมากมายหลายด้าน ที่ล้วนแล้วแต่ทำให้การจัดการป่าไม้ถูกเบี่ยงเบนไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสม เพื่อน พี่และน้องๆชาวป่าไม้ที่มีประสบการณ์น่านำแลกเปลี่ยนกัน เพื่อบันทึกไว้เป็นตำนานเผื่อช่วยให้ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก
วิชาการป่าไม้นั้นมีความเฉพาะและลุ่มลึกในหลายด้าน คงไม่มีชาวป่าไม้คนใดคนหนึ่งที่รอบรู้เรื่องป่าไม้อย่างแท้จริงในทุกด้าน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าคนที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในวงการป่าไม้นั้น มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น จากประสบการณ์การเรียนป่าไม้ในหลายด้าน ยอมรับว่ายากมากทีเดียว มีหลายคนสะท้อนความเห็นว่าการเป็น"หมอพืช" ยากกว่าการเป็น "หมอสัตว์" รวมทั้ง "หมอคน" ซึ่งเมื่อคิดดูตามเหตุผลแล้ว เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งและน่าน้อยใจแทน เพราะในวงสังคมทั่ว ๆไป นั้นไม่ค่อยเห็นคุณค่าของคนป่าไม้เท่าใดนักเลย