กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
จะทำอะไรให้สำเร็จ ต้องคิดว่าจะสำเร็จก่อน
 
     
 
ข้ามห้วยป่าไม้
รังเกียจเหลือเกินกับการ...ข้ามห้วยป่าไม้... เพราะนอกจากทำลายขวัญและกำลังใจของบุคลากรแล้ว ยังทำให้งานป่าไม้ตกต่ำและไม่พัฒนาอีกด้วย
 

  

•งานป่าไม้ให้ระกำมีข้ามห้วย

เรื่องเฮงซวยกล่าวขานกันอึงมี่

การเติบโตตามสายงานก่อนนั้นมี

มาบัดนี้ต้องทำใจหมดไปแล้ว

 

•พอแตะขั้นคอยจ้องหาช่องทาง

ตำแหน่งว่างครั้งใดตาใสแป๋ว

วิ่งใช้เส้นเล่นสายให้ถูกแนว

หากคลาดแคล้วแล้วไปรอใหม่มี

 

•เรื่องค่าต๋งแป๊ะเจี๊ยะบ้างเสียอาน

ยอมหน้าด้านไร้ตระหนักอายศักดิ์ศรี

เพียงกิเลสโลภมากอยากได้ดี

เพื่อนน้องพี่เหมาะกว่าตนไม่สนใจ

 

•แม้ความรู้ประสบการณ์ผ่านมาน้อย

พวกปากพล่อยถูสีข้างอ้างดีใส่

ฉุดองค์กรอ่อนแอแย่ลงไป

งานป่าไม้ยากเร่งรัดพัฒนา

 

•อยู่ป้องกันด้านหน้ามาวิจัย

คนเสือไฟใฝ่ถนัดเรื่องสัตว์ป่า

เก่งภาพถ่ายใคร่ทำเพาะชำกล้า

อุทยานผันตัวมาป่าชุมชน

 

•ข้ามกันไปวิ่งกันมาด่ากันขรม

บ้างข้ามกรมงานไม่รู้กูไม่สน

อยู่ป่าบกโยกป่าเลนเวรเหลือทน

งานปี้ป่นจนชินชามานานปี

 

•บ้างข้ามห้วยยังหน้าด้านทำงานเก่า

เพียงแค่เอาตำแหน่งแย่งหน้าที่

แสร้งหน้าตายหมายจังหวะมาอีกที

เจอช่องดีมีเส้นช่วยข้ามห้วยใหม่

 

•ชวนเรารวมร่วมต้านการข้ามห้วย

พางานห่วยบ้อท่ามาแต่ไหน

วางเส้นทางก้าวหน้าอาชีพไป

งานป่าไม้จะก้าวไกลได้แน่นอน

•ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

แรงดลใจ  : 

มีความรู้สึกว่าต้องการต่อต้านระบบการวิ่งข้ามห้วยของชาวป่าไม้เป็นอย่างมาก (ไม่ทราบว่าวงการอื่นเป็นอย่างนี้หรือไม่) โดยในช่วงที่รับราชการกรมป่าไม้ในปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา ในระยะแรกพฤติกรรมเช่นนี้มักไม่ค่อยพบเห็น เพราะเป็นที่รังเกียจของคนในวงการ แต่ในช่วงหลัง ๆ มานี้พบว่าพฤติกรรมดังกล่าวมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นเพราะระบบของทางราชการในการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เปลี่ยนไป รวมทั้งผู้คนมีกิเลสตัณหากันมากขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ น่าจะได้มีการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของบุคลากรแล้ว ยังทำให้การพัฒนางานป่าไม้เป็นไปได้ยาก ซ้ำร้ายยังเป็นการทำลายงานบางด้านอีกด้วย

            ขอยกตัวอย่างเพียงกรณีเดียว เนื่องจากมีประสบการณ์ร่วมกับทั้งสามหน่วยงานป่าไม้หลัก คือกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่งานวิจัยที่ในปัจจุบันพบว่าบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์งานป่าไม้มีลดน้อยลงไปเป็นอย่างมาก สาเหตุหลักก็คือเมื่อมีตำแหน่งว่างก็มีนักวิ่งจากงานด้านอื่นเข้ามาเสียบแทน ทั้งที่ตัวเองมิได้มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการวิจัยเท่าที่ควร การเข้าสู่ตำแหน่งก็เพื่อต้องการเลื่อนระดับตัวเองให้มีโอกาสก้าวหน้าขึ้นเท่านั้น จากนั้นก็พยายามหาโอกาสโยกย้ายหรือข้ามห้วยไปยังตำแหน่งอื่น มิได้สนอกสนใจสร้างสรรค์งานวิจัยป่าไม้แต่ประการใด ทำให้นักวิจัยขาดช่วงในการสืบต่องานบางด้านไปอย่างน่าเสียดาย

            ลองสอบถามความคิดเห็นจากหลายคนในวงการป่าไม้เกี่ยวกับเรื่องข้ามห้วยนี้ พบว่าที่น่าสนใจได้แก่

            ข้าราชการในระดับผู้อำนวยการสำนักคนหนึ่ง ระบุว่า"ที่องค์กรล่มจมก็เพราะเหตุนี้แหละเป็นหนึ่งเหตุผล ขนาดเป็นป่าไม้ด้วยกันมารับตำแหน่งต่อจากเรา ทำส่งมอบงานให้พร้อมทุกเรื่องยังต้องขอเวลาเรียนรู้งาน 3-6 เดือน แล้วไอ้ที่ข้ามห้วยมาคิดดูว่าจะใช้เวลาแค่ไหน มั่วไปได้เรื่อยแต่ไม่เข้าเป้า ปัญหาไม่เคยคิดจะรู้ ไม่เคยคิดแก้ไข มาขออยู่ไปวัน ๆ เซ็นต์งานตั้งรับอย่างเดียว ยังบ่นว่างานเยอะ ทำตัวให้คนอื่นเข้าใจว่ามีความสามารถ แต่จริง ๆ นั่งทับปัญหาไปวัน ๆ เหยียบพรหมไว้ให้ติดดิน" กับอีกตอนหนึ่งว่า "ชุบตัวเสร็จ สร้างภาพเพิ่มให้ผู้บริหารที่มีนิสัยเหมือนกันช่วยเลื่อนระดับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ข้ามไปดำรงตำแหน่งเสมือนว่าเป็นตำแหน่งของวงศ์ตระกูล ผูกขาดจะทำอะไรก็ได้ จะฉกฉวยอะไรแบบหน้าด้านไม่สนใจคำครหาใด ๆ จนคนในองค์กรไม่สนใจแล้วเพราะชาชิน" แถมสรุปตอนท้ายอีกว่า "มีเยอะพูดไม่หมด ปฏิรูปไม่ได้ผล"

            ในขณะที่ข้าราชการในระดับผู้อำนวยการส่วน ให้ความเห็นว่า "ยุคนี้มีเส้นและเงินซื้อได้ทุกอย่างเหมือนหนังจีนกำลังภายในที่มักกล่าวกันเสมอว่า มีเงินซะอย่างจ้างผีโม่แป้งก็ยังได้ คนยุคนี้ไร้ยางอาย ฝีไม้ลายมือและความเชี่ยวชาญในงานก็ไม่มี แต่หน้าด้านอยากได้ตำแหน่งสูงขึ้นอย่างเดียว  ไม่ได้ให้ความสนใจกับผลที่เกิดขึ้นในภาพรวมแต่อย่างใด ขอให้ได้ขึ้นมาเป็นใหญ่แล้วก็หันมาถอนทุนคืนพอแล้ว อย่างนี้ทรัพยากรของชาติจะมีอนาคตเช่นไร"

            อีกความเห็นหนึ่งจากาข้าราชการในระดับเดียวกัน แต่อยู่ในภูธรระบุว่า "เดี๋ยวนี้ข้าราชการเป็นการหลายหน่วยงาน ขาดระบบคุณธรรม การเมืองครอบงำมาตลอด ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเติบโตตามสายงานเพื่อป้องกันนักวิ่ง"

            สุดท้ายเป็นความเห็นของข้าราชการผู้อำนวยการระดับสำนัก ที่ค่อนข้างกระชับและดุดันว่าไม่ชอบการวิ่งข้ามห้วย เพราะทำให้คนป่าไม้ขาดแรงจูงใจในการทำงาน แพ้พวกเอี๊ย ๆ"

                   ขอเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเป็นรูปธรรมที่ง่ายที่สุดก็คือ  การพิจารณาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งใด ๆ ก็ตามผู้นั้นต้องมีผลงานที่ปรากฏชัดเจนอยู่แล้วตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มิใช่ใช้วิธีการชี้ตัวแล้วให้จัดทำและเสนอผลงานภายหลัง ทั้งนี้เท่าที่ผ่านมาบางคนก็สักแต่ว่าทำผลงานแล้วให้กรรมการพิจารณาแบบซูเอี๋ย ส่วนผลงานก็มักซุกไว้ใต้พรม ไม่ต้องการให้คนอื่นเห็นเพราะไม่ได้มาตรฐาน กรณีที่ไม่สามารถโน้มน้าวกรรมการได้ พบว่าผลงานไม่ผ่านอยู่หลายราย นอกจากนี้ควรใช้กรรมการพิจารณาผลงานจากภายนอกหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ โดยถือเป็นความลับเพื่อป้องกันการฮั้วกันนั่นเอง    


Last updated: 2018-04-07 08:16:34


@ ข้ามห้วยป่าไม้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ข้ามห้วยป่าไม้
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,578

Your IP-Address: 13.59.36.203/ Users: 
1,577