รักตนเอง รักครอบครัว รักองค์กร
 
     
 
ทุ่งสังหาร
สังคมพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง หากมีพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง สังคมพืชจะพัฒนาไปสู่ป่าดงดิบ
 

 

คำว่า ทุ่งสังหาร เป็นคำที่ท่านอาจารย์ดร. โกมล แพรกทอง ท่านให้คำจำกัดความไว้ เมื่อนายมักเลาะ    มีโอกาสพาท่านอาจารย์ ไปเดินชมป่าทามบ้านม่วง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เมื่อสี่ ห้าปีที่แล้ว ทุ่งสังหารคงไม่ใช้ Killing field ในหนังฝรั่งที่บรรยายถึงสภาพประเทศเขมร สมัยที่ยังมีการรบกันอยู่ ทุ่งสังหาร ที่ว่านี้ ในทางนิเวศวิทยา หมายถึง รอยต่อระหว่างระบบนิเวศสองระบบที่เชื่อมต่อกันภาษาทางป่าไม้ เขาเรียกว่า Transition Zone ขออธิบายเพิ่มเติม พื้นที่ป่าทามจะมีระบบนิเวศสองระบบนิเวศแรก คือ ป่าทาม นักวิชาการได้จำแนกป่าทามเป็น ระบบนิเวศในน้ำ (Aquatic Ecosystem) และป่าโคก ซึ่งถือว่าเป็นระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystems) ได้แก่พื้นที่ป่าเบญจพรรณที่อยู่ด้านบน น้ำท่วมไม่ถึงชาวบ้านเรียกป่าดงแดง พื้นที่เชื่อมต่อของระบบนิเวศทั้งสองนั้นเรียกว่าทุ่งสังหาร พื้นที่รอยต่อของระบบนิเวศระหว่างป่าสองประเภทจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อเราเรียนหนังสือ อาจารย์จะสอนเรื่องการทดแทนของสังคมพืช (Succession) สังคมพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง หากมีพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง สังคมพืชจะพัฒนาไปสู่ป่าดงดิบ ดังเช่น ทุ่งหญ้าค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังปรับเปลี่ยนเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเบญจพรรณรับเปลี่ยนเป็นป่าดิบแล้ง ในป่าทามก็มีการปรับเปลี่ยน พื้นที่ทุ่งโล่งในป่าทาม เมื่อเกิดน้ำท่วมทุกปี จะมีเมล็ดไม้เบิกนำได้แก่ ไม้หูลิง ฝ้ายน้ำ ไหลลอยน้ำมาในช่วงน้ำหลาก ตกค้างอยู่ในทุ่งทาม เมื่อน้ำลดลงเมล็ดไม้เหล่านี้ จะเจริญเติบโตขึ้น ทำให้พื้นที่ทุ่งทาม   ที่เคยโล่ง ไม่โล่งเตียนอีกต่อไป


น้ำ เป็นปัจจัยที่ทำให้ทุ่งทาม พัฒนาต่อจนเป็นป่าชายเฟือย ในขั้นสุดท้าย แต่ความเป็นจริงในธรรมชาติไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีปัจจัยพฤติกรรมของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ช่วงฤดูแล้งเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าบกด้านบน จากคนเข้าไปเก็บหาของป่า ไฟจากป่าบกจะลุกลามไปไหม้ในพื้นที่ทุ่งทาม ที่มีหญ้าชนิดต่างๆ เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทุ่งทามจะไหม้เป็นประจำทุกปี แต่ปีไหนมีปรากฏการณ์ฤดูแล้งที่ยาวนาน บริเวณด้านนอกของป่าชายเฟือย      ที่ติดกับทุ่งทามจะถูกไฟป่าลุกลามเข้าไปไหม้ เมื่อเกิดไฟไหม้ ไม้ในป่าทามก็จะตายลงกลายเป็นทุ่งโล่ง เมล็ดไม้ตระกูลยางจากป่าบกทั้ง ไม้ยาง และไม้กราด ก็จะโปรยเมล็ดบนทุ่งทาม เมื่อฝนแรกของปีตกลงมาเมล็ดจากป่าบกก็จะงอกเป็นลูกไม้ขึ้นในทุ่งทาม เจริญเติบโตได้อีก 4-5 เดือน ถึงช่วงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะท่วมทุ่งทาม ลูกไม้จากป่าบกจะตายเพราะน้ำท่วม เมื่อน้ำลดเมล็ดไม้จากป่าทามที่ไหลตามน้ำมาตกลงกลางทุ่งทาม ก็จะเจริญเติบโตเป็นต้นอ่อน ถึงฤดูแล้งก็จะถูกไฟไหม้ลูกไม้จากป่าทามตายไป สลับกันเป็นวัฎจักรเช่นนี้ บริเวณรอยต่อของระบบนิเวศป่าบกกับป่าทามจึงเป็น ทุ่งสังหาร ตามที่ท่านอาจารย์ ดร. โกมล กล่าวไว้นั้นเอง

 


Last updated: 2016-12-29 10:01:12


@ ทุ่งสังหาร
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ทุ่งสังหาร
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
950

Your IP-Address: 18.97.14.86/ Users: 
949