หมั่นใช้เวลาในการทบทวนตนเองว่าทำอะไรถูก ทำอะไรผิดไปบ้าง
 
     
 
เพลงจากห้วงดวงใจ
นับจากวันแรกที่ย่างเท้าก้าวเข้าสู่ “อาณาจักรขจี” สถานที่แห่งนี้ก็เป็นยิ่งกว่าบ้าน เพราะเป็นทั้ง “ที่กินถิ่นนอน” และเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขา
 

 


ปี พ.ศ. 2510  คุณเผ่าพงศ์  พงศ์พณรัตน์ (เกษตรรุ่น 25) ขณะนั้นยังเป็นนิสิตคณะเกษตรปีที่ 3 และทำหน้าที่รองผู้แทนคณะเกษตรด้วย ได้มาพบ “ศยาม” เพื่อขอให้ช่วยติดต่อวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวงดนตรีอยู่ ให้ช่วยแต่งเพลงประเภท “ดนตรีลีลาศ” ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  หลังจากเทียวไปเทียวมาระหว่างเกษตรกับกรมประชาสัมพันธ์ (ถนนราชดำเนิน) อยู่หลายครั้งก็ไม่มีความคืบหน้าอันใดเกิดขึ้นเลย  “ศยาม” จึงได้ลองเขียนเนื้อร้องขึ้นเองแล้วนำไปขอให้ครูเอื้อใส่ทำนองให้  ผ่านไปอีกสองสามเดือนก็ยังเงียบ  องค์การนิสิต ม.ก. จึงได้ตัดสินใจ ให้คณะสุนทราภรณ์นำวงดนตรี (ซึ่งที่จริงก็คือวงเดียวกับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์นั่นแหละ)  มาบรรเลงที่บริเวณสระน้ำหน้าหอประชุม ม.ก. ในงานรับน้องใหม่ รุ่นที่ 27  โดยในงานวันนั้นวงดนตรีสุนทราภรณ์ได้บรรเลงเพลงซึ่งแต่งขึ้นเป็นพิเศษ 2 เพลง คือ “อาณาจักรขจี” และ “แก้วเกษตร” 


เพลงอาณาจักรขจีนั้นมีที่มาจากตัวหนังสือเล็กๆ ที่เขียนอยู่มุมล่างขวาของภาพถ่ายหอประชุม ม.ก. ซึ่งติดอยู่ด้านหลังโต๊ะทำงานของ “ศยาม” ที่สถานีวิทยุ  ม.ก.  ภาพดังกล่าวถ่ายเมื่อหอประชุมเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ  ต้นไม้ที่ปลูกอยู่โดยรอบหอประชุมยังมีขนาดเล็ก  ทำให้มองเห็นหอประชุมตั้งเด่นเป็นสง่า


เพลงที่บรรเลง 2 เพลงนั้นกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง  เพราะในวันรุ่งขึ้น นิสิตค่อนมหาวิทยาลัยก็ร้องเพลงทั้งสองเพลงได้คล่องปาก  จนมีเรื่องขันๆ  เกิดขึ้น


สมัยนั้น ถนนพหลโยธินตั้งแต่สะพานควายไปจนเลยรังสิตยังมีต้นไม้ขึ้นเต็มสองข้างทาง แยกเกษตรมีอยู่แค่สามแยก  มีตึกแถวเปิดเป็นร้านขายอาหารอยู่หลายร้าน บริเวณไหล่ถนนใกล้สามแยกมีพื้นที่กว้าง พอเย็นลงแดดร่มลมตก  ร้านอาหารที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นจึงตั้งโต๊ะอาหารบนไหล่ถนน  เป็นที่นิยมของขาโจ๋ทั้งหลายที่นั่งรากงอกตั้งแต่หัวค่ำไปยันดึกแทบทุกคืน  อาหารและเครื่องดื่มที่สั่งไว้พนักงานยกมาวางไว้ให้บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว  จาน-ช้อนก็พร้อม ขาดอยู่ก็แต่แก้วสำหรับใส่เครื่องดื่ม  จึงต้องตะโกนบอกให้พนักงานยกแก้วมาให้  “น้อง ขอแก้วหน่อยซิครับ”  เท่านั้นยังไม่พอ  ยังกำชับกำชาไปอีกด้วยว่า “เอา ‘แก้วเกษตร’ นะ  แก้วอย่างอื่นไม่เอา !!”  จะด้วยเหตุนี้ละกระมัง  เมื่อมีผู้สอบถามนิสิตหญิงเกษตรถึงความรู้สึกที่มีต่อเพลง “แก้วเกษตร”  จึงมักได้รับคำตอบว่า “มีสีเหลืองค่ะ !!”  อยู่เนืองๆ


ต้นเดือนธันวาคม 2510  คณะเกษตรจัดรายการแสดงดนตรี “สุนทราภรณ์” ประกอบการฉายภาพยนตร์ เรื่อง Roman Holiday รอบหกโมงเช้าที่โรงภาพยนตร์แกรนด์ (วังบูรพา)  การแสดงดนตรีวันนั้น คณะสุนทราภรณ์ได้แต่งเพลงพิเศษ คือ เพลงร่มนนทรี และลาแล้วแดนขจี ให้อีกสองเพลง


เพลงทั้งสี่เพลง คือ อาณาจักรขจี แก้วเกษตร ร่มนนทรี และลาแล้วแดนขจีนี้ ได้จัดทำเป็นอัลบั้มแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว ชื่อ “อาณาจักรขจี”  ในเดือนมกราคม 2512


อันที่จริงในขณะนั้น ม. เกษตร มีเพลงซึ่งแต่งโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์อยู่แล้ว  2 เพลง คือ เกษตรสามัคคี และ เกษตรสำเริง   ปลายปี 2512  ได้มีการแต่งเพลงขึ้นอีกสองเพลง คือ เกษตรที่รัก และเกษตรสัมพันธ์  ทั้งสี่เพลงนี้ได้จัดทำเป็นอัลบั้มแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว ชื่อ “เกษตรที่รัก”  ในเดือนมกราคม 2513


เมษายน 2514  คณะกรรมการเกษตร รุ่น 27  ได้มาพบกับ “ศยาม”  บอกว่า สมก. จะไม่เป็นเจ้าภาพ จัดงานฉลองปริญญาบัณฑิตเกษตร รุ่น 27    “ศยาม” จึงได้ให้คำแนะนำในการจัดงาน และแต่งเพลง  “ชื่นชีวันขวัญเกษตร”  กับ “นนทรีสีทอง” ให้เป็นของขวัญและกำลังใจ


ถึงตอนนี้ “ศยาม” ได้เข้ามาช่วยแต่งเพลงให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์บ้างเป็นครั้งคราว  เพลงที่เกี่ยวกับ ม.เกษตร จึงมักถูกส่งมาให้เขาช่วยเขียนให้  การแต่งเพลงเพื่อบรรเลงในงานฉลองปริญญาบัณฑิตเกษตรนี้ได้ทำติดต่อกันมาอีกสามปี  กล่าวคือ  เพลงเกษตรนี้ที่พักใจ (2515), นนทรีสู่ขวัญ (2516), และ เกษตรศาสตร์ขวัญ (2517)  เพลงซึ่งเขียนตั้งแต่ปี 2514-2517 นี้ ยกเว้นเพลงนนทรีสีทองเพลงเดียว นอกนั้นได้นำมารวมกับเพลงจาก 2 อัลบั้มแรกที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ จัดทำเป็นอัลบั้มแผ่นเสียงขนาด 12 นิ้ว ชื่อ “ณ แห่งนี้ที่พักใจ”  ในเดือนมกราคม 2518


ขอย้อนกลับไปปี 2512  สักนิด นิสิตปีที่ 1 ที่เข้ามาศึกษาในคณะวนศาสตร์ในปีนี้ นับว่าเป็นวนกร รุ่นที่ 35  นายกสโมสรวนศาสตร์ [คุณเอกพจน์ (สุดใจ)  นพวารุมาศ]  ได้ขอให้ “ศยาม” ช่วยแต่งเพลงและทำแผ่นเสียงเพลงคณะวนศาสตร์ในรูปแบบเดียวกับที่ทำอัลบั้ม “อาณาจักรขจี”  เป็นของขวัญแก่นิสิตปีที่ 1 ของคณะ โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า “ที่ระลึก 35 ปี คณะวนศาสตร์”  อัลบั้มชุดนี้มีเพลงอยู่ 4 เพลง คือ ชีวิตวนศาสตร์  พยัคฆ์ไพร  พนาสวาท  และรำวงลูกป่าไม้   




เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2536  ครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  “ศยาม” ได้เขียนเพลง “เกษตรคืนเรือน” เพื่อร่วมฉลองในโอกาสสำคัญนี้  แต่ไม่ได้มอบบทเพลงให้กับผู้ใดนำไปบรรเลง เนื่องจากงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยปีนั้น สมก. มอบหมายให้บุคคลภายนอกดำเนินการในภาคบันเทิงทั้งหมด เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่อีกหลายปี  จนถึงปี 2556  อาศัยเพื่อนพ้องในวงการช่วยบันทึกเสียงเพลงนี้ให้ พร้อมกับเพลงนนทรีสีทอง  และเพลงเกษตรศาสตร์เกรียงไกร แล้วทำเป็น movies clips  นำไป upload ไว้ที่ you tube เป็นการร่วมฉลอง 70  ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ผู้สนใจสามารถเข้าไปที่ you tube แล้วคลิกชม clips ดังกล่าวได้


“ศยาม”  บอกกับผู้ใกล้ชิดว่า  นับจากวันแรกที่ย่างเท้าก้าวเข้าสู่ “อาณาจักรขจี”  สถานที่แห่งนี้ก็เป็นยิ่งกว่าบ้าน  เพราะเป็นทั้ง “ที่กินถิ่นนอน” และเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขา  กว่า 40 ปีเขาใช้ชีวิตอยู่ในอาณาจักรแห่งนี้มากกว่าที่อยู่ในบ้านของตนเองเสียอีก  บทเพลงทั้งหมดที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เกิดขึ้นจากความรักความผูกพันในสถาบันแห่งนี้  ถ้าจะให้เขาพูดถึงบทเพลงเหล่านี้ เขาก็อยากจะบอกกับ “ลูกนนทรี”  ทุกคนว่า ขอฝากบทเพลงทั้งหมดที่เขาเขียนขึ้นไว้ให้อยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป.

“กระจอกดง”  บันทึกข้อมูล


Last updated: 2016-05-19 16:08:15


@ เพลงจากห้วงดวงใจ
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ เพลงจากห้วงดวงใจ
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,162

Your IP-Address: 18.97.14.86/ Users: 
1,161