ความกลัวเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์
 
     
 
สาเหตุการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง
ปัจจุบันมีกฎระเบียบตลอดจนกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น การควบคุมการก่อสร้างตามแนวชายฝั่งที่เป็นสิ่งกีดขวางการเดินเรือ
 

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ

1)การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลโดยธรรมชาติ

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คลื่นเป็นตัวการสำคัญในการเคลื่อนตัวของตะกอนและทรายชายฝั่ง จากการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ปี 2551) เมื่อคลื่นเคลื่อนตัวเข้าหาฝั่งจะเกิดการแตกตัว เมื่อความสูงคลื่นเท่ากับร้อยละ 80 ของความลึกน้ำ คลื่นที่มีความสูงน้อยจะแตกตัวใกล้ชายฝั่ง ส่วนคลื่นที่มีความสูงมากกว่าจะแตกตัวไกลออกไปจากฝั่ง เมื่อคลื่นแตกตัวพลังงานของคลื่นจะสลายตัว ทำให้บริเวณคลื่นแตกตัวแนวชายฝั่งมีความปั่นป่วนสูงมากทำให้มวลทรายลอยตัวขึ้น ถ้าแนวคลื่นหัวแตกทำมุมกับแนวชายฝั่งก็จะเกิดกระแสน้ำจากคลื่นหัวแตกจะวิ่งขนานไปกับแนวชายฝั่งพามวลทรายเคลื่อนที่ไปตามชายฝั่ง ณ จุดต่าง ๆ การที่หาดทรายไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะมีทรายเคลื่อนตัวตลอดเวลา เพราะปริมาณที่เคลื่อนที่เข้าเท่ากับปริมาณที่เคลื่อนที่ออก บริเวณใดที่มีทรายเคลื่อนเข้าน้อยกว่าที่เคลื่อนที่ออกก็จะก่อให้เกิดการสูญเสียมวลทราย ทำให้ชายฝั่งเกิดการกัดเซาะ และในทางตรงกันข้ามหากมีทรายเคลื่อนที่เข้ามากกว่าเคลื่อนออกก็จะเกิดการงอกของชายหาด คลื่นที่มีขนาดใหญ่เกิดจากลมมรสุมหรือคลื่นที่เกิดจากพายุโซนร้อนเคลื่อนตัวเข้าหาฝั่ง คลื่นหัวแตกนี้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนมากและมีพลังงานการกัดเซาะสูง จะกัดเซาะชายหาดนำพาทรายออกไปนอกฝั่งและเมื่อลมว่าวหรือลมตะเภาพัดเข้าหาฝั่ง คลื่นขนาดเล็กนี้จะพัดพาทรายที่กองอยู่นอกฝั่งกลับคืนเข้าหาฝั่ง


2) การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลโดยมนุษย์

เนื่องจากปัจจุบันจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเล มีการก่อสร้างอาคารต่างๆ ท่าเทียบเรือ เขื่อนกันคลื่น รุกล้ำลงไปในทะเล ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งมากยิ่งขึ้น นับเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพชายฝั่งในปัจจุบัน


ปัจจัยที่สำคัญต่อการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจึงขอสรุปปัจจัยที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านต่าง ๆ ดังนี้


1)  ความรุนแรงของคลื่นลม อิทธิพลของลม  และความสูงของคลื่น ทำให้คลื่นพัดพาตะกอนทรายตามชายฝั่งออกไปนอกชายฝั่งไปทับถมกันเป็นแนวสันดอนนอกชายฝั่งทำให้แนวชายฝั่งเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงตลอดความยาวชายฝั่ง

2) การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ระดับน้ำที่สูงขึ้นทำให้เกิดการรุกของระดับน้ำเข้าใกล้ฝั่ง เมื่อคลื่นเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งและเกิดการแตกตัวใกล้ชายฝั่ง จะมีพลังงานมหาศาลทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของมวลทราย นอกจากนี้สิ่งก่อสร้าง เช่น ถนน  หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่ขนานกับชายฝั่ง จะส่งผลทำให้เกิดคลื่นแตกตัวใกล้ชายฝั่งและเกิดการกัดเซาะที่รุนแรง

3) การขาดความสมดุลของทรายชายหาด เนื่องจากปัจจุบันได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนนเลียบตามแนวขนานชายฝั่ง ทำให้ตะกอนบนบกไม่สามารถเคลื่อนตัวลงสู่ชายหาดได้ส่งผลให้ปริมาณรวมของตะกอนชายหาดลดลง นอกจากนี้ ในบริเวณที่มีการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะได้แก่ คันดักทราย เกาะกันกัดเซาะ เขื่อนกันทรายและคลื่น กำแพงป้องกันตลิ่ง ตะกอนทรายถูกดักไว้ด้วยโครงสร้างเหล่านี้ทำให้ปริมาณมวลทรายเคลื่อนที่ตามแนวชายฝั่งลดลง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้านหนึ่ง

ที่กล่าวมาแล้วเป็นปัจจัยทางด้านกายภาพ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่

1)  การลดลงของป่าชายเลน และป่าชายหาด  ซึ่งเป็นแนวปะทะคลื่นโดยธรรมชาติ ระบบรากจะช่วยยึดตะกอนดินไว้ ช่วยในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้เป็นอย่างดี

2)  การเปลี่ยนแปลงแนวปะการัง แนวปะการังมีส่วนในการป้องกันการเคลื่อนย้ายมวลทรายจากคลื่นลมธรรมชาติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแนวปะการังได้ส่งผลต่อการกัดเซาะชายฝั่ง

สำหรับปัจจัยด้านการบริหารจัดการที่มีผลจากการกระทำของมนุษย์ จำแนกได้ คือ

1. กฎหมาย ระเบียบขาดการบูรณาการและขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้ ปัจจุบันมีกฎระเบียบตลอดจนกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น การควบคุมการก่อสร้างตามแนวชายฝั่งที่เป็นสิ่งกีดขวางการเดินเรือ ของกรมเจ้าท่า การควบคุมการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ตามแนวชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง การควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล/แหล่งน้ำธรรมชาติของกรมควบคุมมลพิษ นอกจากนี้กฎหมายที่ดินของ กรมที่ดินได้ระบุเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยมิให้เกิดการละทิ้งให้เป็นที่รกร้าง หรือการที่กฎหมายที่ดินยังมิได้ระบุให้ชัดเจนในทางปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดินที่ชายฝั่งที่งอกเงยออกมาเนื่องจาก การทับถมของตะกอน และตามสภาพข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า การดำเนินการบังคับใช้กฎระเบียบ/กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังขาดประสิทธิภาพ

2. หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามีจำนวนมาก แต่ไม่มีกลไกการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการด้านการป้องการกัดเซาะชายฝั่ง

3. ขาดการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้กับหน่วยงาน องค์กรท้องถิ่นและชุมชนตลอดจน ภาคประชาชนขาดโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาขององค์กรท้องถิ่นบางแห่งได้หาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการสร้างกำแพงกันตลิ่งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยการออกแบบที่ไม่ถูกต้องตามหลัดวิชาการ ทำให้เกิดการกัดเซาะของน้ำทะเลมากขึ้น

4. ฐานข้อมูลด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ยังไม่มีการจัดให้เป็นระบบเพื่อการนำมาไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต


Last updated: 2011-08-21 11:08:02


@ สาเหตุการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สาเหตุการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,641

Your IP-Address: 18.97.14.84/ Users: 
2,639