กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
อย่าให้งานต้องรอการตัดสินใจของเรา
 
     
 
เสิงสาง
คนสมัยโบราณได้เดินทางผ่านมาถึงบริเวณนี้ เป็นเวลาสางหรือเช้าพอดี จึงตั้งสถานที่นี้ว่า เสิงสาง
 

เสิงสาง เป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวจังหวัด     ติดกับอุทยานแห่งชาติทับลาน คำว่า เสิงสาง เป็นคำที่สะดุดหู ของนายมักเลาะมานานแล้ว ทำไมคนในอดีตจึงตั้งชื่ออำเภอนี้ว่า เสิงสาง ผู้รู้บางท่านเล่าว่า คนสมัยโบราณได้เดินทางผ่านมาถึงบริเวณนี้ เป็นเวลาสางหรือเช้าพอดี จึงตั้งสถานที่นี้ว่า เสิงสาง นายมักเลาะก็รับฟังเอาไว้ เมื่อมีเวลาจึงได้พยายามทบทวน การตั้งชื่อบ้านนามเมืองของคน   ในภาคอีสาน คนในอดีต มักจะตั้งชื่อบ้านตามลักษณะภูมิประเทศ หรือต้นไม้เด่นที่ขึ้นอยู่บริเวณนั้น เป็นข้อสังเกตและหลักในการหาความหมายของคำว่า เสิงสาง ตลอดมา

 เมื่อราวปี พ.ศ.2552 นายมักเลาะก็ได้ที่มาของคำว่า     เสิงสาง ในรูปแบบที่สอง  เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปยังบ้านอาลอ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พบกับท่านกำนันเอือก   มีแก้ว ท่านกำนัน  มีเชื้อสายเขมร ได้อธิบายคำว่าเสิงสาง ในความหมายของชาติพันธุ์เขมรของ จังหวัดสุรินทร์     เสิงสางหมายถึง ไม้เลื้อยที่พบในบริเวณที่ชื้นแฉะ ของป่าทามบริเวณลำน้ำชีหรือลำภาชี ที่เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดบุรีรัมย์ และชี้ให้ดู นายมักเลาะจึงร้องอ๋อ ทันที เสิงสาง ในเวอร์ชั่นของท่านกำนันเอือก คือต้นย่านลิเภา ที่คนใต้นำมาสานกระเป๋าเพื่อความมั่นใจ  นายมักเลาะได้เอาเถาว์ย่านลิเภา ไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ดู ท่านได้อธิบายว่า  ต้นเสิงสางที่พบเป็นไม้ในตระกูล 
Lygodiaceae  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lygodium flexuosum และนายมักเลาะก็ได้คำว่า ย่านลิเภา อธิบายความเป็นมาของของคำว่า เสิงสาง ตลอดมา  

                กลางปี พ.ศ. 2558 นี้ นายมักเลาะได้มีโอกาสไป
ยังชุมชนในพื้นที่ อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา อีกครั้ง  การไปครั้งนี้ได้ไปเยี่ยมชมป่าชุมชนแห่งหนึ่ง  ในการเยี่ยมชมชุมชนได้นำของป่าที่มีอยู่ในป่าแห่งนั้น มาวางโชว์พร้อมติดชื่อเอาไว้ สะดุดตานายมักเลาะอีกแล้ว  เพราะมียอดผักชนิดหนึ่งคล้ายผักกูด มียอดสีแดง เขียนชื่อติดไว้ว่า เสิงสาง นายมักเลาะไม่ขอไปเดินดูป่าที่อื่นแล้ว  กราบรบกวนท่านเจ้าอาวาสวัดเจ้าของพื้นที่ พาไปดูต้นเสิงสางชนิดนี้  ท่านเจ้าอาวาสวัดพาเดินไปยัง  อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของวัดชี้ให้ดู  ไม้เถาว์ชนิดหนึ่งที่มีใบลักษณะคล้ายผักกูด แต่ลำต้นไม่ขึ้นเป็นกอแบบผักกูด  แต่เลื้อยทอดยอดยาวไปบนต้นไม้ชนิดอื่นที่ขึ้นอยู่  ขึ้นอยู่ในบริเวณดินชื้นแฉะ บริเวณขอบของอ่างน้ำมียอดสีแดงสด  นายมักเลาะไม่รอช้า ดึงเถาว์ของไม้ชนิดนี้กลับบ้านทันที  และนำมาสอบถามหัวหน้าสวนรุกขชาติสำโรงเกียรติ  อำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ  ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ในเขตอีสานใต้  ท่านให้คำตอบว่า  ไม้ที่เรียกว่าเสิงสาง คือ ต้นผักกูดแดง  พบอยู่บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำในป่าเบญจพรรณ หรือดิบแล้ง  ในแถบอีสานใต้  เป็นไม้เฉพาะถิ่น 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 
Stenochlaena palustris  ชื่อทั่วไปที่เป็นภาษาอังกฤษว่า  swamp fern  ทำให้นายมักเลาะได้ความหมายของคำว่า เสิงสาง อีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่เป็นเวอร์ชั่นสอดคล้องกับทัศนะคติ ในการตั้งชื่อถิ่นที่อยู่ของชาวอีสานที่ใช้กันอยู่

                นายมักเลาะได้ตรวจสอบ รายชื่อต้นไม้ในหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ของท่านอาจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันทน์  ฉบับปี พ.ศ.2557 ปรากฏว่าไม่มีต้นเสิงสาง ในหนังสือฉบับนี้ จึงตั้งเป็นสมมุติฐานว่าชื่ออำเภอเสิงสาง มาจากต้นผักกูดแดงนี้เอง นายมักเลาะไม่ผูกขาดความหมาย หากท่านผู้มีความรู้จะได้อธิบาย    คำว่า เสิงสาง   ในความหมายอื่น ๆ ที่ต่างกันไป 


Last updated: 2015-10-12 19:36:50


@ เสิงสาง
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ เสิงสาง
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,298

Your IP-Address: 44.192.107.255/ Users: 
1,296