การทำธุรกิจเหมือนการแข่งขัน ต้องมุ่งมั่นที่จะได้ชัยชนะ
 
     
 
สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 6
พออ่านความเห็นของทั้งสองฝ่ายแล้วทำให้ประสาทเริ่มมึนงง ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตน
 

                หนังสือพิมพ์ไม่ว่า ไทยรัฐ มติชน แนวหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2557 ต่างลงข่าวพาดหัวไปในทำนองว่า กรมที่ดิน ออกโฉนดที่ดินทับพื้นที่น้ำของทะเลไปประมาณ 70 เปอร์เซนต์ โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีหลักฐานแน่ชัดคือแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อปี พ.ศ.2493 มายืนยันและตามข่าวของหนังสือพิมพ์แนวหน้าเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กันยายน  2557 ปีที่ 35 ฉบับที่ 12194 ระบุว่าผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้ตอนหนึ่งว่า...

                “ยกตัวอย่างราย บริษัทลายัน ภูเก็ต จำกัด ภาพถ่ายทางอากาศปี 2493 และปี 2510 ชัดเจนว่าพื้นที่ที่นำไปออกโฉนดที่ดินยังเป็นน้ำทะเลอยู่และค่อยๆมีแผ่นดินงอกขึ้นมา จนกระทั้งเริ่มมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นมาในช่วงปี 2545 - 2550 และมีการนำหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) บินมาออกโฉนดที่ดินบริเวณนี้ ขณะนี้ตนกำลังให้เจ้าหน้าที่สรุปเรื่องเพื่อฟ้องร้องต่อศาลและทำหนังสือแย้งไปยังกรมที่ดินอีกทาง”

                อ่านไปแล้วก็คิดไปต่างๆนานาว่าถ้าเป็นจริง ประเทศนี้จะหาความถูกต้องได้จากที่ไหน และทางอธิบดีกรมที่ดินก็ออกตัวว่า ไม่อยากชี้แจงผ่านสื่อเนื่องจากมีข้อกฎหมายมากมาย กรมที่ดินจึงมีคำสั่งที่ 1684/2557 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต โดยมีรองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานกรรมการ เหตุผลเนื่องมาจากสื่อเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องอาจเกิดการคลาดเคลื่อนและเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อกรมที่ดิน...

                พอเห็นคำสั่งนี้แล้วทำให้นึกไปถึงกีฬาลูกผู้ชายคือ กีฬามวย งานนี้ไฟล์บังคับ เก่งใหญ่พบเก่งเล็ก ใครเป็นเก่งใหญ่ใครเป็นเก่งเล็ก คิดว่าท่านผู้อ่านคงทายถูก แต่ในสมัยโบราณอันการศึกสงครามนั้นคู่ที่จะประฝีมือกันนั้นต้องศักดิ์เสมอกัน แต่งานนี้ภาวนาให้ผลออกมาเสมอกันเพื่อความปรองดองของชาติบ้านเมือง แต่ก่อนอื่นเราควรมาดูเหตุและผลของแต่ละฝ่ายซึ่งเปรียบได้กับสติปัญญาและประสบการณ์...

                ต่อไปเรามาดูข้อกล่าวหาที่ป่าไม้กล่าวแก่ที่ดินจะได้รับการโต้ตอบอย่างไร กรมที่ดินได้มีหนังสือบันทึกชี้แจง ฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 โดยรองอธิบดีกรมที่ดินเป็นประธานกรรมการสอบสวน สรุปรายละเอียดดังนี้...

                “ประเด็นเสนอข่าวออกว่าออกโฉนดที่ดินในพื้นที่น้ำทะเล 70 เปอร์เซนต์ เป็นที่ดินของ บริษัท ลายัน ภูเก็ต จำกัด มีหลักฐานเป็น โฉนดที่ดิน เลขที่ 9452 เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 25.1 ตารางวา ปัจจุบันชื่อ บริษัท เอ็ม วี ภูเก็ต จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ออกจากหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 1343 โดยวิธีเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) โดยไม่มีหลักฐานเดิม จากการสอบสวนพบว่าการทำประโยชน์เป็นสวนมะพร้าว มีการรับรองแนวเขตครบทุกด้าน มีการรายงานว่า ไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและแนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ประกาศครบกำหนดไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก) เลขที่ 1343 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 (ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ) ต่อมาได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538 มีหนังสือรับรองจากผู้ปกครองท้องที่และเจ้าท่าภาค 5 (นางสุนทรี หิรัญวรรณ ตำแหน่ง เจ้าท่าภูมิภาค 5 สาขาภูเก็ต) ว่าไม่รุกล้ำแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล โดยมีสภาพที่ดินเป็นที่ราบ ปลูกมะพร้าวและมะม่วงหิมพานต์ คณะกรรมการตามนัยกฎกระทรวงที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้กฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ได้ร่วมกันออกตรวจสอบและรายงานตามบันทึกการตรวจพิสูจน์ที่ดิน ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 โดยมีนายปรีชา กระดุมจิตร ป่าไม้อำเภอถลาง และนายอรุณ เพ็ชรสีเงิน ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมตรวจสอบให้ความเห็นชอบ มีการสั่งการตามระเบียบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด จึงเห็นว่าออกโฉนดที่ดินโดยชอบตามระเบียบและกฎหมายแล้ว ไม่มีการออกโฉนดที่ดินรุกล้ำพื้นที่น้ำทะเลแต่อย่างใด โดยมีตัวแทนกรมเจ้าท่ารับรองแนวเขตด้านติดทะเล”

                พออ่านความเห็นของทั้งสองฝ่ายแล้วทำให้ประสาทเริ่มมึนงง ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตน เราในฐานะคนติดตามข่าวสาร ข้อมูลไม่เพียงพอและที่สำคัญที่สุดคือไม่ได้ตรวจที่เกิดเหตุ จึงไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่ไหนๆในใจมันข้องใจไม่รู้จะถามใครลองมาไล่เรียงความเป็นไปได้ว่าความจริงมันควรจะเป็นอย่างไร...?

                เรามาดูความเป็นไปได้จากข้อมูลที่เรามีอยู่ ถือว่าเรื่องนี้เมื่อไม่มีข้อมูลทั้งหมด ตัวจิ๊กซอว์ หายไปหลายตัว  แต่เราอยากทราบว่ามันเป็นภาพอะไรถือเป็นกรณีศึกษาลองมาต่อภาพดูตัวที่หายไปก็ทิ้งไว้เป็นปรัศนีและวิเคราะห์เอา แต่ถ้ามีผู้รู้ข้อเท็จจริง อ่านพบกรุณาแจ้งแถลงไขให้จะเป็นพระคุณยิ่ง...?

                เรามาเริ่มที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชก่อนที่ว่า... บริษัท ลายัน ภูเก็ต จำกัด ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ โดยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินมา มีผืนน้ำอยู่ 70 เปอร์เซนต์ ทราบได้จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2493 และปี 2510  แล้วค่อยๆมีผืนดินงอกขึ้นมา จนกระทั้งเริ่มมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นช่วงปี พ.ศ.2545 – 2550 ในนัยยะคงจะหมายความว่า ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน จะประกาศใช้คือวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ที่ดินที่ตั้งของบริษัทลายัน ภูเก็ต จำกัด ยังไม่ได้ทำประโยชน์เนื่องจากยังเป็นผืนน้ำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และต่อมาปี 2510 ก็ยังคงเป็นผืนน้ำอยู่ แต่มีหนังสือแบบการแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)บินมาสวมออกโฉนดที่ดิน...

                คราวนี้มาดูทางบริษัท ลายัน ภูเก็ต จำกัด บ้าง ทางด้านที่ดินแจ้งว่าที่ดินแปลงนี้มีโฉนดที่ดิน เลขที่ 9452 เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 25.1 ตารางวา ถือกำเนิดมาจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 1343 ออกโดยวิธีการเดินสำรวจโดยไม่มีหลักฐานเดิม (คงหมายถึงหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)ใบจอง หรือใบเหยียบย่ำ) ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 โดยการสอบสวนพบว่าได้ทำประโยชน์เป็นสวนมะพร้าว...

                1.คราวนี้เรามาพิจารณาว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เป็นการออกโดยชอบหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 58 บัญญัติไว้ว่า เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรให้ออกโฉนด-ที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์จังหวัดใด ในปีใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น เขตจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่รวมท้องที่ที่ทางราชการได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร ฯลฯ...

                มาดูมาตรา 58 ทวิ ระบุว่า บุคคลซึ่งพนักงานที่ดินอาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้คือ (1) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว หรือผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำหรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ...?

                2.เมื่อมาตรา 27ตรี ถูกพาดพิง ฉะนั้นควรเปิดโอกาสให้แถลงเพื่อความกระจ่าย ในใจความตามมาตรานี้ว่า...เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตรา 58 วรรคสอง  ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 หรือผู้รอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27ทวิ แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้น ต่อมาจนถึงวันสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวนถ้าประสงค์จะใช้สิทธิ์ในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ได้แจ้งการครอบครองในกำหนดดังกล่าว แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดให้ถือว่าคงจะได้สิทธิ์นั้น...เอาเพียงวรรคแรกก็แสดงให้เห็นแล้วว่า...มาตรา 27 ตรี ท่านยังให้โอกาสคนที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อน 1 ธันวาคม 2497 พูดกันง่ายเอาเป็นว่า คนที่ไม่มีเอกสาร ส.ค.1 เมื่อเขาประกาศจะออก น.ส.3ก ผ่อนผันให้มาแจ้งได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ได้แจ้งยังผ่อนผันให้มานำตรวจที่ดินด้วยตนเองหรือส่งคนมาแทนก็ได้...ลองวิเคราะห์ดู

ฝ่ายป่าไม้

                1.ที่ดินบริษัท ลายันภูเก็ต จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นน้ำทะเล 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงเหลือพื้นดินประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2510 ค่อยๆมีผืนดินงอกขึ้นมา (จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

                2.ในปี พ.ศ.2545 – 2550 เริ่มมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้น จึงได้นำ ส.ค.1 บินมาสวม

ทั้งสองข้อที่นำมากล่าวอ้างให้เข้าใจได้ว่าเมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2497 ที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นผืนน้ำไม่สามารถทำประโยชน์และนำมาแจ้งการครอบครองได้ พอผืนดินงอกขึ้นจึงเข้าทำประโยชน์จึงนำ ส..ค.1 จากที่อื่นมาสวม (แต่ไม่ทราบว่าสวมในปีใด)

ฝ่ายที่ดิน

                1.โฉนดที่ดินของบริษัท ลายันภูเก็ต จำกัด เลขที่ 9452 เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 25.1 ตารางวา อ้างว่าออกมาจากต้นกำเนิด น.ส.3ก เลขที่ 1343 โดยวิธีการเดินสำรวจ โดยไม่มีหลักฐานเดิม (คงหมายถึง ส.ค.1 ใบจอง ใบเหยียบย่ำ ฯลฯ) จากการสำรวจพบว่าที่ดินได้มีการทำสวนมะพร้าว มีการรับรองแนวเขตครบทุกด้าน

                2.มีรายงานว่าไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี

                3.ประกาศครบตามกำหนดไม่มีผู้โต้แย้งคัดค้าน จึงออก น.ส.3ก เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2523

                4.ได้ยื่นออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538

                5.เจ้าหน้าที่ของเจ้าท่ารับรองแนวเขตไม่รุกล้ำแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล โดยสภาพที่ดินเป็นที่ราบ ปลูกมะม่วงหิมพานต์และมะพร้าว

                6.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตาม กฎกระทรวงที่ 43 (2537) ที่มีป่าไม้อำเภอร่วมตรวจพิสูจน์ด้วย

เราลองมาช่วยกันวิเคราะห์ความเป็นไปได้ดังนี้

                1.กรณีต้นกำเนิดของโฉนดที่ดิน ไม่น่าจะใช่ ส.ค.1 บินมาสวม เพราะที่ดินชี้แจงเป็นหนังสือราชการว่า เป็น น.ส.3ก ที่ออกโดยไม่มีหลักฐานเดิม เรามาดูว่าการออก น.ส.3 ตามมาตรา 58 และโยงไปถึง มาตรา 27 ตรีที่เปิดโอกาสให้มีการแจ้งการครอบครองภายใน 30 วันนับแต่วันปิดประกาศ และถ้าไม่ได้แจ้งก็ขอให้เจ้าของที่ดินมาขอนำตรวจสอบก็ไม่ทำให้เสียสิทธิ์ ฉะนั้นที่ดินแปลงนี้ถ้าย้อนไปเมื่อปีที่ออก น.ส.3ก คือปี 2523 หากปีนี้เป็นปีที่เจ้าหน้าที่เดินสำรวจเมื่อไปพบที่ดินที่มีการทำประโยชน์พอสมควรแก่เนื้อที่ และมีรูปแปลงขนาดที่ดินตรงกับแปลงที่ดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศและมีข้างเคียงคอยชี้แนวเขตและลงนามรับรอง หากเจ้าของที่ดินจะอ้างว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้คือ พ.ศ.2497 และมีพยานข้างเคียงคอยให้การสนับสนุน และเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีภาพถ่ายทางอากาศก่อนปี 2497 อีกทั้งคำนวณอายุต้นมะพร้าวไม่เป็นก็ย่อมต้องรับฟังคำให้ถ้อยคำ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของจะอ้างอย่างไรก็ได้เพราะมันผ่านพ้นมานาน พยานบุคคลก็ล้มหายตายจาก เมื่อภาพตรงหน้ามีลักษณะถูกต้องตามระเบียบที่ตนเข้าใจก็รายงานเห็นชอบให้มีอำนาจออก น.ส.3ก ได้

                ตามประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยพบการเดินสำรวจ หากพบว่าที่ดินแปลงใดทำประโยชน์ และไม่อยู่ในเขตป่าไม้คือไม่อยู่ในเขตป่าตามมติคณะรัฐมนตรี หรือป่าสงวน การออกเดินสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศกฎหมายห้ามไม่ให้เดินสำรวจเข้าไปในเขตป่าไม้อยู่แล้วบางระวางรูปถ่ายทางอากาศมีป่าไม้ไปขีดแนวเขตป่าให้ก็มี ฉะนั้นการออก น.ส.3ก กรณีบริษัท ลายันภูเก็ต จำกัด ที่ดินข้างเคียงก็น่าจะเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก เช่นกัน ส่วนใหญ่จะเน้นไปในทางว่าทำประโยชน์แล้วหรือยัง...?

                หนังสือเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 กับ  น.ส.3ก จะแตกต่างกัน  ข้อแรก เอกสาร น.ส.3ก จะระบุระวาง มีชื่อ ถ้าเป็นฉบับที่กำลังกล่าวถึง น่าจะเป็นชื่ออำเภอหรือตำบล เช่น...ระวางรูปถ่ายทางอากาศชื่อ อำเภอถลาง หมายเลข.....แผ่นที่..... สำหรับน.ส.3 ธรรมดาจะไม่ระบุชื่อ หมายเลขระวาง และ น.ส.3ก รูปแปลงที่ดินทุกด้านที่จดใส่หมายเลขไว้เราไม่สามารถรู้เลยว่าทิศต่างๆจดใคร ต้องเข้าไปขอดูที่สำนักงานที่ดิน  ส่วน น.ส.3 ธรรมดาจะระบุ ระยะ ทิศจดใครบ้าง ระบุชื่อและนามสกุลไว้อย่างเรียบร้อย จึงสรุปว่า น.ส.3ก ฉบับนี้ออกตามมาตรา 27ตรี ผู้อ่านลองใช้พิจารณาญาณน่าเชื่อหรือไม่ ไม่ว่ากัน เพราะเราไม่เห็นข้อมูลและหลักฐาน เพียงแต่อ่านข่าวและใคร่จะรู้ความจริง...

                การออก น.ส.3ก แบบเดินสำรวจโดยใช้รูปถ่ายทางอากาศก่อนดำเนินการ มีการประชาสัมพันธ์ และติดประกาศกันทั่วไป เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในท้องที่ต้องรู้ จะอ้างว่าไม่รู้หาได้ไม่ หากเห็นการดำเนินการไม่ชอบมาพากลสามารถที่จะคัดค้านได้...?

3.คราวนี้มาถึงเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินบ้างหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ออกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2523  แต่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ประกาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2524  เมื่อจะขอออกโฉนดที่ดิน ต้องอยู่ในเกณฑ์ตามนัยกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537)  เพราะมายื่นขอออกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538  ซึ่งต้องแต่งตั้งคณะกรรมการพิสูจน์ที่ดินประกอบด้วย ป่าไม้อำเภอ ที่ดินอำเภอ ปลัดอำเภอและกรรมการอื่นที่เห็นสมควร คณะกรรมการได้ร่วมตรวจสอบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540  โดยมีป่าไม้อำเภอถลาง ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน       ซึ่งเป็นฝ่ายป่าไม้ร่วมตรวจสอบด้วย มีข้อสงสัยว่าทำไมจึงไม่มีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถร่วมตรวจสอบด้วย    ตามข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินและกรมป่าไม้ ว่าด้วยการพิสูจน์เพื่อออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเกี่ยวกับเขตป่าไม้ พ.ศ.2534 ข้อ 5  เมื่อได้อ่านข้อตกลงแล้วจึงทราบว่าระเบียบนี้ใช้เฉพาะที่ดินที่มีต้นกำเนิดมาจาก ส.ค.1 ใบจอง หรือใบเหยียบย่ำ หรือตราจองเท่านั้น  ส่วนกรณีบริษัท ลายัน ภูเก็ต จำกัด เป็นเอกสารสิทธิ์หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)  เป็นการออกโดยวิธีการเดินสำรวจไม่มีหลักฐานเดิม และตำแหน่งที่ออกโฉนดที่ดินจะต้องมีระวางยึดโยงไว้แล้ว จึงจะออกโฉนดที่ดินได้ ด้านติดทะเลก็มีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งเจ้าท่าภูมิภาค 5  มารับรองว่าไม่ได้รุกล้ำแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล  ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเห็นชอบตามคณะกรรมการ การออกโฉนดที่ดินครั้งนี้เท่าที่วิเคราะห์มามีน้ำหนักไปในทางที่ออกชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากทางป่าไม้มีหลักฐานอะไรที่ยังไม่นำเปิดเผยอีกขอให้นำเสนอด้วย  สาธารณชนผู้ติดตามใคร่อยากจะรู้ความจริง สำหรับกรณีนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นรองเสียแล้ว สำหรับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่นภาพถ่ายทางอากาศเสียดายที่ทางป่าไม้เรามีเพียงภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2493,2510,2518,2538,2545,2552และ2554 ไม่มีของปี 2523  มิฉะนั้นคงจะทราบว่าความจริงคืออะไรกันแน่  แต่มีข้อที่น่าสังเกตตอนที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)ว่าผู้ที่รายงานว่าพื้นที่นี้ไม่อยู่ในเขตป่าตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2504 และ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขารวก – เขาเมือง         ปี 2507 มีความมั่นใจมากน้อยเพียงใด...?

ดังได้แจกแจงวิเคราะห์มาถึงความน่าจะเป็นไปได้ว่า บริษัท ลายันภูเก็ต จำกัด และโรงแรมหรูอีก 7 แห่ง เป็นโรงแรมที่อุทยานแห่งชาติ น่าจะเป็นฟ้องผู้ร้องเอง ผู้เขียนเห็นด้วย ส่วนที่จะฟ้องศาลไหน กองนิติการชองกรมคงทราบดี แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า น่าจะเป็นศาลปกครอง  เพราะการเพิกถอนสิทธิ์เป็นคำสั่งทางปกครอง มาตรา 5 (1)   แห่งพระราชบัญญัติวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งมีใจความว่า...

“คำสั่งทางปกครองหมายความว่า (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลในการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระวางบุคคล ในการที่จะ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวร หรือชั่วคราว เช่นการสั่งการ การรออนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัย อุทธรณ์ การรับรองและการจดทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงการออกกฎ”

การฟ้องศาลเป็นทางที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะการสืบพยานโดยศาลจะได้ข้อเท็จจริงในทางลึกมากกว่าเสาะแสวงหาเอง และเป็นการฟังความในทุกๆด้านจึงทำให้การพิจารณามีความรัดกุม แต่ไม่ควรแต่งตั้งให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกระทำเพียงลำพัง  ควรแต่งตั้งเป็นชุดทำงานเฉพากิจขึ้น โดยให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ท้องที่รับผิดชอบ เป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านพิสูจน์อายุต้นไม้ ผู้เชี่ยวชาญด้านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ดินป่าไม้ ซึ่งกรมมีอยู่แล้ว และให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง เท่านี้งานก็จะเดินไปได้โดยตลอด เป็นวิธีการของ “ยุทธการดาวค้างฟ้า หรือยุทธการไฟสุมขอน” มิใช่เป็นยุทธการไฟไหม้ฟาง ดังที่เคยปฏิบัติกัน  คณะทำงานไล่ทวงคืนผืนป่าทีละรายต่อไปก็หมด การคัดคนมาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ดังได้เคยเสนอไว้ในตอนต้นๆแล้ว แล้วอุทยานแห่งชาติก็จะเริ่มมีผู้ที่อยากจะมาพิทักษ์รักษาสืบไป...??

                แต่จากการอ่านหนังสือโต้ตอบจากกรมที่ดินเสมือนจะตำหนิเจ้าหน้าที่ของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าปล่อยปละละเลยเสียเอง  ข้อนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ให้พวกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้พึงตระหนัก กรุณาตรวจสอบตัวเองก่อนที่จะตรวจสอบผู้อื่น ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน  หากมีข้อมูลอัพเดทจะนำเสนอต่อไป...!?

 


Last updated: 2015-04-19 22:30:56


@ สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 6
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 6
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,742

Your IP-Address: 34.203.242.200/ Users: 
1,741