จงยินดีที่เป็นผู้ให้ มากกว่าจะเป็นผู้รับ
 
     
 
คู่ป่าชายเลน
พันธุ์ไม้ป่าชายเลนของประเทศไทยพบขึ้นกระจายทั่ว ไปบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคใต้
 

โลกนี้มีอะไรไว้เป็นคู่

ลองมองดูคู่กันมาเป็นสอง

ป่าชายเลนขึ้นอยู่ริมคูคลอง

เป็นพี่น้องคู่กันอยู่หลายพันธ์

โกงกางเล็กใช่ไกลจากใบใหญ่

ยืนอยู่ใกล้แสมขาวกู่คูขัน

แสมดำเฝ้าชะแง้แลหากัน

สายสัมพันธ์มั่นคงครอบครัวเดียว

นั่นพังกาดอกแดงแฝงกายอยู่

ใช่ไร้คู่ดอกขาวพุ่มสีเขียว

ปูก้ามดาบบ้างก็เรียกว่าปูเปรี้ยว

นั่นเองเชียวต้องเป็นของคู่กัน

ไม้โปรงแดงโปรงขาวอยู่ดอนหน่อย

น้ำท่วมน้อยไม่บ่อยครั้งหาไหวหวั่น

เฝ้าอดทนค่อยเติบโตทุกคืนวัน

ปรองดองกันหน้ากากขาวหน้ากากแดง

ต้นถั่วขาวเปลือกแทรกรูอากาศ

ถั่วดำมาดปิรามิดทอรับแสง

แขกอาหรับรบพุ่งกันรุนแรง

ขายไม่แพงถั่วกับแขกคู่เมืองไทย

ตะบูนดำร้องคู่ตะบูนขาว

มีเรื่องราวเล่าขานความรักใส

เจ้าตะบันพยามแทรกขอเยื่อใย

สลัดไปทิ้งไว้ฝั่งอ่าวไทย

เหงือกปลาหมอดอกขาวและดอกม่วง

มารับช่วงรักษาคันคะเยอได้

ปลาหมอเครือไร้หนามค่อยเย็นใจ

รวมกันไว้สามผัวเมียคู่กันเอย

. ชายฝั่ง

 

 

ไม้ป่าชายเลนมักจะมีอยู่เป็นคู่ๆ จึงนำมาร้อยเรียงให้จำได้ง่ายและสอดแทรกลักษณะของพันธ์ไม้แต่ละชนิดไว้บ้างเล็กน้อย ในครั้งนี้มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่ได้กล่าวถึงอยู่. 16ชนิดได้แก่  โกงกางใบเล็ก ( Rhizophora apiculata )  โกงกางใบใหญ่ ( Rhizophora mucronata )แสมขาว ( Avicennia alba )แสมดํา ( Avicennia officinalis ) พังกาหัวสุมดอกขาว ( Bruguiera sexangula ) พังกาหัวสุมดอกแดง ( Bruguiera gymnorrhiza ).    โปรงขาว ( Ceriops decandra )  โปรงแดง ( Ceriops tagal ) ถั่วขาว ( Bruguiera cylindrica ) ถั่วดํา ( Bruguiera parviflora )

ตะบัน ( Xylocarpus rumphii )  ตะบูนขาว ( Xylocarpus granatum ) ตะบูนดํา ( Xylocarpus moluccensis ) เหงือกปลาหมอดอกขาว ( Acanthus ebracteatus ) ปลาหมอดอกม่วง ( Acanthus ilicifolius )เหงือกปลาหมอเครือ ( Acanthus volubilis )

ส่วนไม้ที่มีคู่อยู่แต่ไม่ได้กล่าวถึงคือ ฝาดดอกขาว ( Lumnitzera racemosa ) ฝาดดอกแดง ( Lumnitzera littorea )

พันธุ์ไม้ป่าชายเลนของประเทศไทยพบขึ้นกระจายทั่ว ไปบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งป่าชายเลนที่มีสภาพสมบูรณ์ส่วนใหญ่พบในภาคใต้ชายฝั่งทะเล อันดามันในบริเวณพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล พันธุ์ไม้ชายเลนในประเทศไทยมีจำนวน 81 ชนิด เป็นพันธุ์ไม้ป่าชายเลนแท้จริง (true mangroves) จํานวน 34 ชนิด จะขึ้นเฉพาะบริเวณที่เป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย เช่น พันธุ์ไม้ในวงศ์แสม (Avicennioideae) โกงกาง (Rhizophoraceae) ลําพู (Sonneratiaceae) เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) ส่วนอีก 47 ชนิด เป็นพันธุ์ไม้ที่ ปรับตัวเข้ากับสภาพความเค็ม (mangrove associated species) เพื่อให้ขึ้นอยู่ได้ในที่ ซึ่งมีน้ำทะเลท่วมถึง เช่น ตีนเป็ดทะเล ปรง ปอทะเล เตยทะเล หูกวาง หยีน้ำ หลุมพอทะเล และจิกทะเล เป็นต้น

 

 


Last updated: 2014-12-28 17:13:04


@ คู่ป่าชายเลน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ คู่ป่าชายเลน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,282

Your IP-Address: 18.116.90.141/ Users: 
1,281