ปลาบึกมาแล้ว
ปีนี้มีข่าวใหญ่เกิดขึ้น เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2557 นี้เองคุณประสิทธิพร คำภู ทีมงานของนายมักเลาะจับปลาบึกน้ำหนัก ๙๒ กิโลกรัม ในลำเซบายเป็นข่าวดัง
นายมักเลาะ มีความสนใจในเรื่องป่าทาม พื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญของภาคอีสาน เนื่องจากเมื่อราว 20 ปีที่แล้วได้รับเชิญ ไปขึ้นเวทีงานไหนก็ตาม จะถูกผู้เข้าร่วมประชุมถามเรื่องป่าบุ่งป่าทามเป็นประจำว่า ป่าไม้รู้จักป่าบุ่ง ป่าทามหรือไม่ เจอคำถามนี้นายมักเลาะไปไม่เป็น เพราะสมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย อาจารย์ไม่เคยสอนเรื่องป่าบุ่ง ป่าทาม แต่ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านอดีตคณบดี สมัยนายมักเลาะเป็นนิสิตอยู่ ขออนุญาตเอ่ยนามท่านอาจารย์ ดร.จงรัก ปรีชานนท์ เมื่อนายมักเลาะยังเอาะๆ ตอนเย็นหลังเลิกเรียน ท่านอาจารย์จงรัก จะมาพบกับพวกเราและพูดคุยเรื่องวิถีชีวิตในมหาวิทยาลัยให้นิสิตฟัง ท่านสอนหลักสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาว่า มหาวิทยาลัยต้องการสอนวิธีคิดให้นิสิต เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาเมื่อนิสิตจบไปทำงาน ให้ยึดเอาหลักหรือแก่น ที่ได้จากการเรียน ไปปรับใช้ในการทำงาน จึงจะถือได้ว่าผู้นั้นจบจากมหาวิทยาลัย ต้องกราบขอบพระคุณครูที่ยิ่งใหญ่ของพวกเรา
นายมักเลาะเลยสนใจเรื่องป่าบุ่ง ป่าทาม หาข้อมูล เรียนรู้จากผู้รู้ที่อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยอาศัยหลักของวนวัฒนวิทยา นิเวศวิทยา ธรณีวิทยา ที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย จึงพอที่จะอธิบาย คำว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม และหากินด้วยการเขียนบทความ ให้พี่ ๆ น้อง ๆ อ่านได้ถึงทุกวันนี้
นายมักเลาะ ได้ทำงานร่วมกับพี่น้องอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร พื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำลำเซบายสนับสนุนให้ชุมชน อนุรักษ์ป่าทามที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของภาคอีสาน ที่ยังคงเหลืออยู่ มาได้ราว 15 ปีแล้ว
ปีนี้มีข่าวใหญ่เกิดขึ้น เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2557 นี้เองคุณประสิทธิพร คำภู ทีมงานของนายมักเลาะจับปลาบึกน้ำหนัก ๙๒ กิโลกรัม ในลำเซบายเป็นข่าวดัง หนังสือพิมพ์นำไปลงข่าวไปทั่วประเทศ เสียดาย ปลาบึกตัวนี้ตายก่อนที่จะดำเนินการใดๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ พวกเราทำงานในพื้นที่แห่งนี้มาเป็นเวลานานยังไม่มีข้อมูลว่าชาวบ้านจับปลาบึกในลำเซบายได้เลย มีแต่คำบอกกล่าวของผู้เฒ่า ผู้แก่ ว่า เคยมีปลาบึกอยู่ในพื้นที่นี้ การที่ปลาบึกเข้ามาในพื้นที่ลำเซบายตอนกลาง นายมักเลาะสันนิษฐานได้สองแนวทาง แนวทางแรก คือ ปลาบึกตัวนี้ว่ายจากแม่น้ำโขงเข้าแม่น้ำมูนและหลงเข้ามาในพื้นที่ชุ่มน้ำตอนกลางของลำเซบาย แนวทางที่สอง คือ ภายใต้การดูแลรักษาพื้นที่ป่าทามตอนกลางของชุมชนบริเวณนี้ ทำให้ป่าทามอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ปลาจึงว่ายเข้ามาหาอาหารและแพร่พันธุ์ในพื้นที่ลำเซบายตอนกลาง
นายมักเลาะ ได้รับข้อมูลว่า ปลาในพื้นที่ลำเซบายตอนกลางเพิ่มมากขึ้นจากพี่น้องที่หาปลาในลำเซบายมาโดยตลอด วังปลาที่พวกเราสร้างขึ้นในบริเวณวังย่าแหว่ว มีจำนวนปลาเพิ่มมากขึ้น ได้รับการยอมรับจากทุกคนในชุมชนที่จะช่วยกันดูแลรักษามากขึ้น ข่าวนี้สร้างความดีใจให้แก่พวกเราว่า สิ่งที่พี่น้อง ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญแห่งนี้ ปลาบึก เป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งว่า สิ่งที่พวกเราพยายามสร้างกันมา กำลังแสดงผลที่ดีต่อระบบนิเวศของลำเซบายตอนกลาง นายมักเลาะ เคยสำรวจลูกปลาที่จับได้จากเครื่องมือของชาวบ้าน พบลูกปลาเกิดใหม่หลายชนิด ที่เป็นปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขงและมูล แสดงว่าปลาได้อพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ลำเซบาย ในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่ยังไม่พบลูกของปลาบึกมาก่อนเลย วังปลาปีนี้ ปลาบึก น่าจะเป็นไฮไลน์สำคัญของงาน
ปลาบึก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasianodongigas เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบอยู่ตามธรรมชาติในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น เป็นปลาที่หายากขึ้นทุกวัน ปัจจุบันกรมประมงได้เพาะพันธุ์ปลาบึกได้ แล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศไทย ชาวบ้านลำเซบายตอนกลางได้จัดงานปล่อยและดูแลรักษาวังปลา บริเวณตอนกลางของลำเซบายตลอดมา ในวันที่ 9 มีนาคม ของทุกปี ปีนี้พวกเราคงจะได้ไปขอปลาบึก จากสถานีพัฒนาประมงน้ำจืดยโสธร มาปล่อย ทางสถานีน่าจะไม่ขัดข้อง เพราะพวกเราสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ จนมีปลาบึกเข้ามาหากินในพื้นที่นี้แล้ว
พี่ๆ น้องๆ ชาวประมงคงไม่ขัดข้องในฐานะลูกพระพิรุณทรงนาคด้วยกัน
Last updated: 2014-12-13 10:53:27
|
@ ปลาบึกมาแล้ว |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ปลาบึกมาแล้ว
|