กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
ทำงานให้มองฟ้า เป็นอยู่ให้มองดิน
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (13)
การดำเนินคดีไม่อยากจะเล่าต่อ เป็นเรื่องน่าอดสูและน่าอับอาย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดจิตสำนึก และที่น่าอายที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบโดยตรง
 

ในตอนที่แล้วเราทิ้งปรัศนีไว้ว่า เราจับไม้พะยูง 19 ท่อน จำนวน 9 ท่อนแรก ผู้ต้องหาได้อ้างหนังสือสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีเก่า ที่ผู้ต้องหาได้รับไม้คืนมา แล้วอีก 10 ท่อนเธอจะใช้อะไรมาอ้าง...

มาดูข้อเท็จจริงของไม้ 10  ท่อนก่อน  มีจำนวน  3  ท่อนที่เป็นไม้แก่นล่อนอันเนื่องมาจากล้มขอนนอนไพรแล้วถูกไฟไหม้ อีก 7 ท่อน เป็นไม้ใหม่สดที่ถูกถากกระพี้ออกเหลือแต่แก่นสีแดงอมม่วง  ผู้ต้องหาได้ใช้สำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)  ของนางวิไลภรณ์ฯ อยู่ที่ตำบลคำเขื่อนแก้ว  อำเภอชานุมาน  จังหวัดอำนาจเจริญ   มีเนื้อที่  3 – 1 - 30  ไร่ มาอ้าง...

วันที่ 2 ภุมภาพันธ์  2550 คณะเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ  ได้ร่วมกันตรวจสอบตอไม้พะยูง  มีนางกิ่งดาวฯ และนายสงกรานต์ฯ เป็นผู้นำชี้ตรวจสอบที่ดิน น.ส.3ก เลขที่ 379 เล่ม 4ข  หน้า 29 เนื้อที่ 3 – 1 - 30 ไร่  ออกให้เมื่อวันที่ 20 มกราคม  2540 โดยมี ชื่อนางวิไลภรณ์ฯ เป็นเจ้าของสิทธิ์  โดยเจ้าหน้าที่ได้วางหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบคือ...

               1. ตรวจสอบชนิดไม้ตรงกันหรือไม่ ?

               2. ตรวจสอบไม้ที่ตอกับไม้ที่ตรวจจับกุมว่าตรงกันหรือไม่  โดยใช้แผ่นพลาสติกใสทาบหน้าตัดของไม้ ที่ตอ  และไม้ที่ทำการอายัดไว้ว่าสามารถเข้ากันได้หรือไม่ ?

               3. เปรียบเทียบบัญชีไม้ที่นางกิ่งดาวฯ นำมาอ้างซึ่งถูกจับกุมเมื่อ 28 ตุลาคม 2549  และอัยการ     สั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง กับไม้ที่อายัดว่าตรงกันหรือไม่

               4. ตรวจสอบวงปีที่ตอและไม้ที่ทำการอายัด  ตรงกันหรือไม่ โดยใช้เข็มหมุดและดูด้วยตาเปล่า

               5. ตรวจสอบกำลังผลิตของไม้  ความเป็นไปได้ระหว่างความสูงกับท่อนไม้

 

เจ้าหน้าที่ได้จัดทำแผ่นพลาสติกใสทาบหน้าตัดของไม้ที่อายัดไว้เพื่อตรวจสอบแก่นไม้  วงปี  พร้อมวัดขนาดภาพถ่าย เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับตอไม้  และได้นำสำเนาหนังสืออัยการจังหวัดอำนาจเจริญที่ อส (อจ) 0031/2784  และที่ อส (อจ.) 0031/2785 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 พร้อมคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการจังหวัดอำนาจเจริญ  และบันทึกการส่งมอบ – รับมอบ ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2549  จำนวนเอกสาร 4 แผ่น ในจำนวนเอกสาร 4 แผ่น  ไม่ปรากฏบัญชีไม้ของกลางรวมอยู่ด้วยอีกทั้งเป็นเรื่องที่แปลกที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า(นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นผู้จับ  คนส่งมอบไม้กลายเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นผู้มอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อมอบต่อ นางกิ่งดาวฯ  ก็ไม่มีบัญชีไม้อีกเช่นกัน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ของเราจึงจำเป็นต้องใช้บัญชีรายการไม้ท่อน – ไม้แปรรูปที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ตรวจยึดในครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2549 มาเปรียบเทียบกับไม้ที่กำลังอายัดเพื่อที่จะทำการตรวจยึดในขณะนี้คือ ไม้พะยูง 19 ท่อน...

ก่อนที่จะดำเนินเรื่องการดำเนินคดีกับนางกิ่งดาวฯ ซึ่งเป็นหญิงเหล็กที่ค้าไม้พะยูงและสร้างความเกรงขามให้กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในท้องที่ในเรื่องการฟ้องกลับ จนทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้แทบจะไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวหากไม่จำเป็น...            

ในคืนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550  ขณะที่พวกเรากำลังบันทึกการจับกุมโดยการอายัดไม้นางกิ่งดาวฯ             ไว้ตรวจสอบ   ผอ.ณรงค์ฯ กับพนักงานพิทักษ์ป่า ได้เบาะแสว่า เจอรังของขุมทองคำเขียวแล้ว ผู้เขียนซึ่งกำลังนั่งดูคุณประเวศฯ บันทึกปากคำนางกิ่งดาวฯ บอกว่ารอก่อนจะไปด้วย  รีบลุกออกสำนักงานหน่วยฯ  ออกไปขึ้นรถของ       ผอ.ณรงค์ฯ มีพิทักษ์ป่าเป็นคนขับขณะนั้น  ในราวสองทุ่มเห็นจะได้  รถพาเราไปที่แห่งใดไม่ทราบได้ พอมาถึงป่ายูคาลิบตัสซึ่งคาดว่า อยู่ในเขตอำเภอเมือง มีถนนลูกรังเป็นเส้นทางหลัก และมีซอยเข้าเหมือนกับมีการแบ่งแปลง พอรถเลี้ยวเข้าไปในซอยหนึ่งเป็นที่โล่ง พลันสายตาของเราก็จับภาพได้ว่าสิ่งที่กองอยู่ตรงหน้า พระเจ้าช่วย เป็นไม้พะยูงกองเป็น  หย่อมๆ กองหนึ่งไม่น่าต่ำกว่า 100 ท่อน ภายในจะมีถนนเชื่อมถึงกัน มีไม้พะยูงที่มีขนาดความยาวมาตรฐาน 2 เมตร 10 เซนติเมตร หรือ 2 เมตร 20 เซนติเมตร  ส่วนสภาพมีตั้งแต่ใหม่สดจนถึงเป็นไม้แก่นล่อน ลักษณะไม้ล้มขอนนอนไพร แต่ละกองไม่น่าจะเกิน 500 ท่อน ร่วมเป็น 4 จุด  ในความมืดพวกเราไม่สามารถมองอะไรได้ชัดเจนนัก พยายามวิ่งรถโดยใช้ไฟหน้ารถให้น้อยที่สุด ใช้เวลาตรวจไม่ถึง 30 นาที รีบเดินทางกลับเกรงว่า เจ้าของไม้จะไหวตัวเสียก่อน...     

พอกลับมาถึงหน่วยประเวศฯ เขียนบันทึกเสร็จพอดี จึงร่วมกันลงนามในบันทึกจนครบทุกคน  พอผู้ต้องหาทั้งสองไปแล้ว พวกเราเข้าห้องปิดประตูประชุมกันทันที สรุปว่า เราจะทำการจับกุมตอนย่ำรุ่งราวตีห้า เพราะต้องรอกำลัง คุณณรงค์ฯ ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักทราบ ท่านว่าจะมาร่วม ได้ขอกำลังไปยังศูนย์ควบคุมไฟป่าอุบลราชธานีมี   คุณธานนท์  โสภิชา เป็นหัวหน้า และกำลังจากหน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า(นปป.)ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับสายตรวจปราบปรามฯของสำนักฯ ทั้ง 2 สาย วันนี้โชคไม่เข้าข้างเรา  เพราะผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ป้องกันทรัพยากรไม่อยู่ และผู้เขียนต้องเดินทางไปเข้ารับการอบรมที่กรมในวันถัดไป แต่อย่างไรก็ขอจับก่อนแล้วค่อยไปคงไม่สาย เมื่อโทรศัพท์นัดหมายกำลังพลแล้ว ....

ประมาณเวลา 4 ทุ่ม กำลังพลเดินทางมาที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมแล้ว ผู้เขียนในฐานะอาวุโสจำเป็นต้องเป็นกัปตันเรือในครั้งนี้  ให้กำลังพลยืนเรียงหน้ากระดานแล้วนับจนครบ มีกำลังพลทั้งสิ้น 40 นาย แล้วให้กระจายเป็นแถว ตอนละ 10 คน ให้พนักงานขับรถมาเตรียมไว้ครบ 4 คัน แล้วให้กำลังทั้งหมดแยกย้ายกันขึ้นคันละ 10 คน...

 สำหรับตอน 1 ตอน 2 ให้คุณธานนท์ฯ ควบคุมไป ตอน 3 ตอน 4 ให้หัวหน้าหน่วยฯ อำนาจเจิญ คุมให้ขับตามรถผู้เขียนไป ซึ่งในรถมีคุณณรงค์ฯ คุณประเวศฯ ไปด้วย ทุกอย่างยังเป็นความลับ กำลังพลทุกคนไม่รู้ว่าเราจะพาไปที่ไหน ทำอะไร แต่ก็ไม่มีใครซักถามเพราะรู้หน้าที่ดีว่า ต้องรับปฏิบัติเท่านั้น แม้แต่คุณธานนท์ฯ หัวหน้าศูนย์ควบคุมไฟป่าอุบลราชธานี ก็ไม่รู้ พอไปถึงป่ายูคาลิปตัสทิศเหนือบ้านน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ปล่อยรถเข้ายังจุดกองไม้ทั้ง 4 จุด แล้วโทรศัพท์แจ้งการปฏิบัติให้ทราบว่าหากพบให้จับกุมไว้ และทำการเข้าตรวจสอบไม้ และควบคุมทุกอย่างไว้อย่าให้เล็ดลอดไปได้...

 ผู้เขียนและคณะมาจุดสุดท้าย เป็นจุดที่ 4 พอลงจากรถใช้ไฟฉายที่ติดตัวมาส่องดู พระเจ้าช่วย...

มันเป็นรถสิบแปดล้อ บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ที่นั่งคนขับมีชายฉกรรจ์ นั่งอยู่อย่างไม่สะทกสะท้านอะไร เดินไปดูท้ายรถมีไม้พะยูงบรรทุกอยู่ครึ่งคันรถ ในคืนนั้นเป็นคืนที่หนาวพอสมควร พวกเราจึงได้จุดเศษไม้ที่เป็นกระพี้ของ    ไม้พะยูงเพื่อเป็นแสงส่องสว่าง ห่างออกไปไม่ไกลมากนักพบรถสิบล้อ  เป็นรถเครนบรรทุกเป็นหางปลา  (ขนาดบรรทุก 15 – 20 ตัน)  ใช้ในงานลากและยกสินค้าที่มีน้ำหนักมาก และรถจักรยานยนต์อีก 6 คัน ขวานถากอีก 6 เล่ม ควบผู้ต้องหานายสมบัติฯ กับพวก 3 คน พอพวกเราตรวจทั้ง 4 จุดเรียบร้อย แล้วนำผู้ต้องหาไปที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า(นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ สำหรับที่เกิดเหตุได้จัดให้พนักงานพิทักษ์ป่าและพนักงานดับไฟป่าเฝ้า ไว้รุ่งเช้า    จะเข้ามาดำเนินการ.....

พอรุ่งเช้าข่าวแพร่สะพัดไปทั่ว มีหน่วยงานมาร่วมตรวจสอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดก็มาด้วย มีเจ้าหน้าที่ร่วมจับกุมตั้งแต่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 เจ้าหน้าที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ  เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ชุดเฉพาะกิจตำรวจภูธร ภาค 3 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลน้ำปลีก เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทุกหน่วยงานมาร่วมลงนามในบันทึกการจับกุม  (ผู้เขียนเมื่อจับแล้วในตอนเช้าพาผู้บริหารดูที่เกิดเหตุแล้ว พอบ่ายก็ต้องเดินทางเข้ากรมเพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 7 วัน)      ในบันทึกไม่มีผู้เขียนลงนามร่วม แต่ได้โทรศัพท์จากกรมให้คุณประเวศฯ และคุณณรงค์ฯมาร่วมลงนาม เพราะการจับกุมครั้งนี้มอบให้กรมป่าไม้เป็นเจ้าภาพ กรมป่าไม้ได้มอบให้หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ  ผู้เขียนซึ่งอบรมที่กรมฯ รู้สึกสังหรณ์และร้อนใจเกรงว่าหัวหน้าหน่วยนปป. จะตามเกมส์พ่อค้าไม้ไม่ทัน และสุดท้ายก็เป็นไปตามที่คิดไว้ มันเป็นเรื่องน่าอดสูและอัปยศสำหรับคนจับกุมมาก ไม่อยากจะนำมาเล่าให้ฟัง จะเป็นการหมิ่นประมาทกันเปล่าๆ...

 คิดว่ากรรมคือตุลาการที่เที่ยงตรงที่สุด คดีนี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550      พาดหัวข่าว “ยึด 2,500 ท่อน แก๊งไม้เถื่อน ลอบขนส่งขายนอก คุมตัว 3 คน เค้นสอบไม่ยอมซัดผู้บงการฯ”

เมื่อข่าวการลักลอบตัดไม้ทางอีสานใต้ถูกหนังสือพิมพ์ประโคมข่าวไม่เว้นแต่ละวัน  จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้จัดให้มีการประชุม เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ทั้งอีสานใต้และอีสานตอนบน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมมิตรไมตรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี     โดยนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน...

เมื่อประชุมเสร็จท่านรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูไม้ของกลางที่พวกเราจับ ที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า(นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ  และเดินทางเข้าพบผู้ว่าที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้เดินทางไปต้อนรับและชี้แจง  และได้เดินทางไปประชุมต่อที่จังหวัดมุกดาหารแล้วเดินทางกลับ...

 จะเห็นได้ว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้ให้ความสนใจกรณีการลับลอบตัดไม้พะยูงข้ามชาติมาก ต่อไปสมควรจะเป็นหน่วยงานระดับล่างมิใช่หรือ  ที่จะทำให้ไม้พะยูงไม่สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เรื่องการจับกุมไม้ที่อำนาจเจริญ การดำเนินคดีไม่อยากจะเล่าต่อ เป็นเรื่องน่าอดสูและน่าอับอาย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดจิตสำนึก และที่น่าอายที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบโดยตรง  แต่การจับกุมในครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนพอจะรู้เส้นสายปลายทางและกลุ่มบุคคล    ที่ร่วมขบวนการลักลอบตัดหรือซื้อไม้พะยูงส่งขายข้ามชาติ เหตุที่ไม่ได้ดำเนินการต่อ  เนื่องจากมีความต้องการที่จะ  ออร์รี่รีไท เพราะหาบุคคลที่จะร่วมอุดมการณ์ไม่ได้ อยู่ไปรังแต่จะอายฟ้าดิน จึงเก็บข้อมูลไว้ในใจ มิอาจนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ขอให้กรรมเป็นตุลาการในเรื่องนี้  เราจะตามคดีของหญิงเหล็กต่อในตอนที่ (14)...



Last updated: 2014-09-05 16:27:35


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (13)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (13)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,088

Your IP-Address: 3.133.109.30/ Users: 
1,086