การงานจะสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ใช่เพราะคนอื่นแต่เพราะตัวของเราเองเท่านั้น
 
     
 
เครือข่ายการเรียนรู้ “ป่าชายเลนเพื่ออนาคต”
การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนจะประสบผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการที่ชุมชนได้มีการร่วมมือกันเป็นเครือข่ายการเรียนรู้
 

                 จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ในปี พ.ศ. 2547 ที่ได้ก่อมหันตภัยให้กับชุมชนชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดียส่งผลให้หลายประเทศได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่พบว่าบางชุมชนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของภัยพิบัติน้อยกว่าชุมชนข้างเคียง ทั้งนี้เนื่องจากมีป่าชายเลนเป็นแนวกำบังธรรมชาติที่ช่วยลดความรุนแรงของสึนามิที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีความร่วมมือจัดตั้งโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (Mangroves for The Future: MFF) ขึ้น ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ จำนวน 6 ประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการป่าชายเลนและชายฝั่งของประเทศที่ประสบภัยพิบัติให้มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนชายฝั่ง ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมมือกันในกรอบ ความร่วมมือโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต จำนวน 10 ประเทศ และให้การสนับสนุนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งผ่านกองทุนขนาดเล็กกลางใหญ่ มากกว่า 200 โครงการ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยการสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Norwegian Agency for Development Cooperation: NORAD) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Swedish International  Development  Agency: SIDA)

                สำหรับโครงการ MFF ในประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประสานความร่วมมือระดับชาติ ซึ่งมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา นับว่าประสบผลสำเร็จอยู่ในระดับหนึ่ง  โดยได้สนับสนุนให้มีการดำเนินงานโครงการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในชุมชนชายฝั่งของประเทศไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ทั้งนี้ผลจากการดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนต่างๆ นั้น ทางโครงการ MFF ได้จัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันเป็นระยะๆ เพื่อให้ชุมชนและหน่วยงาน ได้นำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการตอบรับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ในปี พ.ศ. 2556 MFF ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายการเรียนรู้ “ป่าชายเลนเพื่ออนาคต” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ 1)เผยแพร่องค์ความรู้  เครื่องมือและรูปแบบที่ดีในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ได้จากการดำเนินงานของโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคตและภาคีเครือข่าย ระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2556  2) รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ และ 3) นำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2556 และบทเรียนที่ได้จากกรอบความร่วมมือของโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคตระดับภูมิภาค ต่อคณะกรรมการประสานความร่วมมือระดับชาติ ด้านนิเวศป่าชายเลนเพื่ออนาคต ซึ่งการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน 2556 ณ โรงแรมโนโวเทลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับคณะกรรมการประสานความร่วมมือระดับชาติด้านนิเวศป่าชายเลนเพื่ออนาคตเป็นองค์กรรับผิดชอบ ซึ่งมีอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และศูนย์ศึกษาและเสริมสร้างศักยภาพการจัดการทรัพยากรเพื่อท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นองค์กรภาคี ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (ประเทศไทย) สำหรับรูปแบบการจัดมีทั้งการบรรยายพิเศษ การเสวนา การจัดนิทรรศการ และการระดมความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการ โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 70 คน จากหน่วยงานภาคราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน สถาบันการศึกษาและผู้สนใจทั่วไป ทั้งนี้บรรยากาศในการสัมมนาฯ ได้ดังแสดงไว้ในภาพที่ 1-6

 

 

ภาพที่ 1 สถานที่จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายการเรียนรู้ “ป่าชายเลนเพื่ออนาคต”และคณะวิทยากร

 

 

ภาพที่ 2 พิธีเปิดการสัมมนา ฯ (นาย สมศักดิ์ พิริยโยธา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ ทรัพยากรชายฝั่งและป่าชายเลน (ซ้าย) กล่าวรายงาน ดร.วิฑูรย์ ชลายนนาวิน รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ขวา) กล่าวเปิดงาน)

 

 

ภาพที่ 3 การบรรยายพิเศษ เรื่องธรรมาภิบาลและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบบูรณาการ

 

 

 ภาพที่ 4 การเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (Empower  Civil  Society)

 

 

ภาพที่ 5 การระดมความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการในด้านเครือข่ายการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

 

ภาพที่ 6 บรรยากาศในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายการเรียนรู้ “ป่าชายเลนเพื่ออนาคต”

ผลการสัมมนา สามารถสรุปได้ดังนี้

                 1. การบรรยายพิเศษ เป็นการนำเสนอความรู้ 2 เรื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิ คือเรื่องธรรมาภิบาลและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบบูรณาการ และเรื่อง การอนุรักษ์ป่าชายเลนและการกักเก็บคาร์บอน: เกร็ดความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก

                 2.การเสวนา เป็นการเสนอความคิดเห็นจากความรู้และประสบการณ์ของวิทยากร 3 ประเด็น คือ

                                2.1 การจัดการความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยนำเสนอในด้านการจัดการหลักสูตรท้องถิ่นป่าชายเลน เทคนิคการจัดการศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การจัดการความรู้สู่การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์ และประสบการณ์การจัดองค์ความรู้ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศสมาชิกโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต

                                2.2 การจัดการด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  โดยนำเสนอในด้านเครือข่ายชุมชนในการจัดการป่าชายเลน การส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มประมงขนาดเล็กในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน : เครือข่ายรักษ์อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี การส่งเสริมอนุรักษ์หญ้าทะเลโดยภาคประชาชนในจังหวัดตรัง  และการส่งเสริมเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

                                2.3 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง  โดยนำเสนอในด้านโลกร้อนกับ Small Island ในประเทศไทย เซย์เชลล์ มัลดีฟ  และศรีลังกา  การปกป้องฐานทรัพยากรอาหารพื้นที่ภูเก็ตและอ่าวพังงา  ท่ามกลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำโลก  รู้เท่าทันวิกฤติโลกร้อนและความสำคัญของคาร์บอนสีน้ำเงิน และชุมชนคาร์บอนต่ำ

                 3.การจัดนิทรรศการ เป็นการนำเสนอความรู้ด้านความสำคัญ  การอนุรักษ์ และประโยชน์ป่าชายเลนและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต และชุมชนชายฝั่งจากจังหวัดเพชรบุรี

                 4.การระดมความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการ  ดำเนินการภายใต้หัวข้อ เครือข่ายการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  โดยมี 3 ประเด็นย่อย คือ ลักษณะเครือข่ายการเรียนรู้ที่พึงประสงค์ แนวทางและวิธีปฏิบัติในการจัดการเครือข่ายการเรียนรู้  และบทบาทและการขับเคลื่อนเครือข่ายการเรียนรู้

               

บทเรียนจากการสัมมนา

ผลของการสัมมนานำไปสู่การดำเนินงานของโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคตในระยะต่อไปมี  2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1   เครือข่ายการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนจะประสบผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการที่ชุมชนได้มีการร่วมมือกันเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ ทั้งทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน  อันจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของชุมชนและส่วนรวมเป็นการต่อเนื่อง  ทั้งนี้ควรคำนึงถึงการดำเนินงานของเครือข่ายการเรียนรู้ใน 3 ด้าน ที่สำคัญ คือ

1.1  ลักษณะเครือข่ายการเรียนรู้ที่พึงประสงค์

                        1)  มีการกำหนดโครงสร้าง วัตถุประสงค์และการกำหนดแผนงาน การดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

                         2)  มีตัวแทนของชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชายฝั่งเข้าร่วมดำเนินงาน

                        3) มีการร่วมมือและเชื่อมโยงกับชุมชนและเครือข่ายที่มีกิจกรรมการดำเนินงานจัดการทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

                        4)  ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา/สถานการณ์ทางด้านทรัพยากรชายฝั่งของชุมชนและสมาชิกเครือข่ายอย่างจริงจัง

                        5)  มีกลไกในการดำเนินงานของเครือข่าย  ตลอดจนการประสานงานร่วมกับหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง

                        6)  เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลด้านทรัพยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน  และการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรชายฝั่งของชุมชนในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม

                        7)  เป็นองค์กรดำเนินงานที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของสังคมและหน่วยงานภาครัฐ

 

1.2  แนวทางและวิธีปฏิบัติในการจัดการเครือข่ายการเรียนรู้

                        1) สร้างกลไกและดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการของเครือข่ายที่กำหนดไว้อย่างจริงจัง  โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำและปราชญ์ชาวบ้าน

                        2)  สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชน  โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนและเยาวชน  ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเครือข่ายรวมถึงการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นและการเรียนรู้ตามอัธยาศัย

                        3)  กำหนดกิจกรรมการดำเนินงานเครือข่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทและศักยภาพของชุมชน  ตลอดจนเป็นกิจกรรมที่ได้รับการยอมและมีส่วนร่วมรับจากผู้นำชุมชน

                        4)  จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างคนในชุมชน  เครือข่ายภายนอกชุมชน  และสังคมภายนอกเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม

                        5) จัดทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่างคนในชุมชน นักเรียน หน่วยงาน และสถาบันการศึกษาตามประเด็นปัญหาและความต้องการของชุมชน

                        6) จัดทำฐานข้อมูลการดำเนินงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานผ่านสื่อหรือช่องทางที่เหมาะสม เช่นสื่อสิ่งพิมพ์  เว็บไซต์

                        7) ขยายการดำเนินงานของเครือข่ายไปสู่ชุมชนข้างเคียง  และเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนอื่นให้มีประสบการณ์ที่นำไปสู่ความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

1.3  บทบาทและการขับเคลื่อนของชุมชนและภาคี

                        1)  ชุมชน ต้องเน้นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการเรียนรู้  โดยสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ  เช่น การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิต  การรวบรวมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น  การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์  การสร้างเยาวชนรุ่นใหม่  รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่มีอยู่

                        2)  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนที่สอดคล้องกับภารกิจตามกฎหมายที่กำหนดไว้ขององค์กรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

                        3)  หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  เช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กรมป่าไม้  กรมประมง  ต้องให้การส่งเสริมการดำเนินงานของเครือข่ายการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน

                        4)  หน่วยงานเอกชนและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน  ควรสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งมุ่งไปสู่เครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

                        5)  สถาบันการศึกษา ควรเข้ามาร่วมกับชุมชน เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสม  โดยเฉพาะการวิจัยชุมชน การจัดหลักสูตรท้องถิ่น  อันจะนำไปสู่พัฒนาการของเครือข่ายการเรียนรู้ด้านก ารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชน

                        6)  สื่อมวลชน  ควรให้ความสนใจและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานและสังคมทั่วไปได้รับทราบเพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายการเรียนรู้ในกิจกรรมที่ตนเองให้ความสนใจหรือมีความเกี่ยวข้อง

                        7)  หน่วยงานทุกภาคส่วน ควรมีการกำหนดแนวทางและจัดทำแผนบูรณาการการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกันของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เข้ามาดำเนินการในชุมชนทั้งเครือข่ายการเรียนรู้  หน่วยงานภาครัฐ  ท้องถิ่น เอกชน และสถาบันการศึกษา   เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2   ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ MFF  การดำเนินงานของโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (MFF) ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นในช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2552  ได้พยายามเน้นการดำเนินงานโครงการที่ตอบสนองสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของชุมชนในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ซึ่งมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงและการประชาสัมพันธ์โครงการ MFF ให้สาธารณชน ได้รู้จักอย่างแพร่หลาย  ต่อมาในช่วงปี พ.. 2553 - 2556  ซึ่งเป็นช่วงที่ 2  ของการดำเนินงาน โครงการ MFF ได้มีเจตนารมณ์ในการผลักดันให้เกิดความพยายามและความร่วมมือของทุกภาคส่วน  ทั้งในระดับนโยบายของรัฐและภาคีสนับสนุนต่างๆ  รวมทั้งบทบาทของท้องถิ่นในการปกป้องรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในลักษณะของการบูรณาการการทำงานภายใต้การมีส่วนร่วมและมีธรรมาภิบาล

สำหรับในช่วงที่ 3 (พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป)  โครงการ MFF ได้เน้นการดำเนินงานโดยมุ่งไปสู่การจัดการความรู้  โดยการรวบรวมองค์ความรู้และบทเรียนจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากการ ดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา  ชุมชน  กระบวนการดำเนินงาน  รวมทั้งทรัพยากรและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในการนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง  เพื่อนำความรู้ไปสู่การใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ  รวมทั้งการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง  ผลจากการสัมมนาครั้งนี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์ของโครงการ MFF ได้ดังนี้

2.1  การถอดบทเรียนจากการปฏิบัติที่ดี  การสนับสนุนของโครงการ MFF ต่อชุมชนและองค์กรต่างๆ หลายโครงการ  มีการดำเนินงานที่มีผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายเป็นอย่างดี  สมควรมีการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์หาปัจจัยของความสำเร็จ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อการจัดการความรู้ไว้เป็นหมวดหมู่ที่ง่ายต่อการนำไปประยุกต์ใช้

2.2  การบูรณาการความรู้  ควรมีการบูรณาการความรู้ทางด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระหว่างความรู้เด่นชัด (Explicit  Knowledge) หรือความรู้ทั่วๆ ไปที่ปรากฏในเอกสารหรือตำรากับความรู้ซ่อนเร้น (Tacit  Knowledge) หรือความรู้ที่แฝงในตัวบุคคล  จากการสั่งสมประสบการณ์มายาวนานในรูปแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน  เพื่อการนำไปสู่แนวทางการจัดการทรัพยากรของชุมชนที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.3 การจัดตั้งศูนย์และเครือข่ายการเรียนรู้  ชุมชนควรมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชนโดยควรมีการบูรณาการกับการดำเนินงานในด้านอื่นที่มีอยู่ ทั้งนี้ควรเน้นรูปแบบของศุนย์การเรียนรู้ที่มีชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนที่ร่วมมือกันระหว่างชุมชน หน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกชุมชน  รวมทั้งมีการส่งเสริมให้เป็นเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงของศูนย์การเรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทรัพยากรและการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

2.4  การเผยแพร่องค์ความรู้  ความรู้จากการดำเนินงานของโครงการ MFF ให้ภูมิภาคต่างๆ ควรมีการรวมให้เป็นหมวดหมู่  พร้อมทั้งมีการตีพิมพ์เป็นเอกสารหรือเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ ตามความเหมาะสม  โดยเน้นให้แก่ชุมชนที่มีบริบทในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งคล้ายคลึงกัน  และนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนได้อย่างแท้จริง  ซึ่งอาจต้องมีการดัดแปลงเป็นภาษาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแต่ละชุมชน รวมถึงการนำความรู้มาออกแบบให้เหมาะสมกับช่องทางการเรียนรู้ทั้งในลักษณะหลักสูตรท้องถิ่น การเรียนรู้ตามอัธยาศัย การเรียนรู้ทางไกล การเรียนรู้ผ่านICT

2.5  การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  โครงการ MFF ควรตระหนักถึงความสำคัญและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ  ภูมิภาคอาเซียน และนานาชาติโดยการส่งเสริมให้มีกิจกรรมการสัมมนา/ประชุมอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งผลพวงได้จากการสัมมนาก็คือ การส่งเสริมการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่าย  รวมทั้งการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น  สถาบันการศึกษาและชุมชนที่เกี่ยวข้อง

2.6  การศึกษาเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกกับทรัพยากรชายฝั่ง  แม้จะมีการกล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกกันอย่างกว้างขวาง  แต่การศึกษาเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและความเป็นอยู่ของชุมชนชายฝั่งในประเทศไทยยังอยู่ในวงจำกัด  ซึ่งควรสนับสนุนให้มีการศึกษาในมิติต่างๆให้ครอบคลุมวิถีชีวิตของชุมชน   เพื่อนำผลไปสู่การเผยแพร่และการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่ชุมชนในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

2.7  การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  ชุมชนชายฝั่งหลายแห่งประสบผลสำเร็จในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน  สถาบันการศึกษา  และหน่วยงานต่างๆ  ทำให้ได้องค์ความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์  รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี  องค์ความรู้เหล่านี้สามารถนำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ  ได้เป็นอย่างดี  จึงต้องให้ความสำคัญต่อการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

2.8  การกำหนดนโยบายและแผนงานระดับชาติ  การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและทรัพยากรในพื้นที่หลายๆ ด้าน ทั้งด้านป่าชายเลน ปะการัง หญ้าทะเล  สัตว์น้ำ อาหารชุมชน ฯลฯ ที่เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งอากาศ ดิน น้ำ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งตัวชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศชาติ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทางโครงการ MFF ต้องนำความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาเสนอต่อรัฐบาล  เพื่อกำหนดนโยบายและแผนงานระดับชาติในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายผั่งที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา

                เครือข่ายชุมชนที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความรู้จากการรับฟังการบรรยายและการเสวนาแล้ว ยังเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและองค์ความรู้ด้านการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระหว่างชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข่าวสารด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในอนาคตต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

 

โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต 2554  แผนยุทธศาสตร์โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคตและแผนปฏิบัติการในระยะที่ 2 พ.ศ. 2553 – 2556)  กรุงเทพมหานคร  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

บำเพ็ญ  เขียวหวาน  2556.   การจัดการความรู้สู่การเผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์  เอกสารนำเสนอในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (ประเทศไทย) : 2006 – 2013                ณ โรงแรมโนโวเทลชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี

ลดาวัลย์  พวงจิตร  2556.  การอนุรักษ์ป่าชายเลนและการเก็บกักคาร์บอน  เอกสารในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (ประเทศไทย) : 2006 – 2013  ณ โรงแรมโนโวเทล ชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี

ศูนย์ประสานงานโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต  2556  รายงานการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติเรื่องการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กรุงเทพมหานคร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สายสุนีย์  จักษุอินทร์ 2556 Blue  Carbon โลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เอกสารในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต (ประเทศไทย) : 2006 – 2013  ณ โรงแรมโนโวเทล ชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี


Last updated: 2014-03-09 11:11:47


@ เครือข่ายการเรียนรู้ “ป่าชายเลนเพื่ออนาคต”
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ เครือข่ายการเรียนรู้ “ป่าชายเลนเพื่ออนาคต”
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,332

Your IP-Address: 18.97.14.80/ Users: 
1,331