การทำธุรกิจเหมือนการแข่งขัน ต้องมุ่งมั่นที่จะได้ชัยชนะ
 
     
 
การปรับตัวของชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
วิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งเกือบทั้งหมดพึ่งพาอาชีพทำประมงและจับสัตว์น้ำมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศรวมทั้งสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
 

ส่วนที่ 3

การปรับตัวของชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง: มิติหญิงชาย

 

                การสัมมนาในส่วนนี้มีนางสาวเรวดี  ประเสริฐเจริญสุข  จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  เป็นผู้ดำเนินรายการ  ซึ่งมีผู้ร่วมนำเสนอประสบการณ์จำนวน  6 ท่าน ดังนี้

                1.  นางสาวสุภาพร   พรรณราย  นายกสมาคมสตรีประมงพื้นบ้านแห่งภาคใต้  และประธานเครือข่ายรักทะเลสาบสงขลา  ได้นำเสนอในด้านการปรับตัวตั้งรับภัยพิบัติของชุมชนชายฝั่งในมิติหญิงชาย  โดยนำกรณีศึกษาที่บ้านช่องฟืน  ตำบลเกาะหมาก  อำเภอปากพะยูน  จังหวัดพัทลุง  ซึ่งมีการแก้ไขปัญหาของชุมชนโดยใช้กิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมกับชุมชน

                2.  นางสาวรมิตา  สารสิทธิ์  รองนายกสมาคมสตรีพื้นบ้านภาคใต้  ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการปรับตัวของชุมชนชายฝั่งและการจัดการทรัพยากรทางเวลาและชายฝั่ง  ซึ่งเป็นการเน้นกรณีศึกศสชุมชนในท้องที่  ตำบลเกาะลิบง  อำเภอกันตัง  จังหวัดตรัง

                3.  นางนิภา  ปั้นเงิน  สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด   จังหวัดตราด  ซึ่งได้เสนอบทบาทสำคัญของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมมือกันในการจัดตั้งกลุ่ม  เพื่อพัฒนาอาชีพและชุมชน  ทั้งนี้ได้มีการพยายามเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ชุมชนอีกด้วย  ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับจากคนทั้งในและนอกชุมชนเป็นอย่างดี

                4.  นางนงนุช   นิลพันธ์  สมาชิกกองทุนฟื้นฟูเครื่องมือประมงชายฝั่ง  จังหวัดพัทลุง   ได้นำเสนอประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานจัดตั้งกองทุนในท้องที่ตำบลจองถนน  อำเภอเขาชัยสน  จังหวัดพัทลุง  เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในชุมชนเกี่ยวกับอาชีพทางการประมง  โดยการพยายามสร้างความเข้าใจและมั่นใจในการจัดการระบบราคาของผลผลิตของสมาชิกกองทุน

                5.  นางสาวอุไร  อับดุลลาและนางกัลยา  ศรีรัตน์  สมาชิกเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์บ้านทองหลาง  จังหวัดพังงา  ได้นำเสนอผลการทำงานของเครือข่ายที่ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่งในด้านการจัดตั้งกองทุน  เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในด้านการให้กู้ยืมเงิน  การแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน  โดยสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลจำนวนมากมาย  เป้นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของประชาชนในจังหวัดพังงาและใกล้เคียง

                ทั้งนี้เนื้อหาของการนำเสนอในส่วนนี้สามารถสรุปได้  4  ด้าน ดังนี้

                1.  สภาพปัญหาของชุมชนชายฝั่ง ชุมชนชายฝั่งของประเทศไทยใน 23 จังหวัดทั้งภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันต่างประสบปัญหาของชุมชนที่มีแนวโน้มมากขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก ส่งผลเสียหายต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมากขึ้นตามลำดับ สภาพปัญหาที่สำคัญได้แก่

                                1.1  การกัดเซาะชายฝั่ง ชุมชนชายฝั่งในหลายพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยฝั่งทะเลถูกกระแสคลื่นลมที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  อาจสืบเนื่องมาจากพื้นที่ชายฝั่งถูกเปลี่ยนแปลงไปทำกิจกรรมอย่างอื่นจนขาดพืชพันธุ์ป่าชายเลนปกคลุม  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ  สร้างความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

                                1.2  การแปรปรวนของลมมรสุม พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมประจำปี ทั้งลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนืออยู่เป็นประจำ แต่ในอดีตปรากฎการณ์ของลมมรสุมมักมีระยะเวลาการเกิดที่ชัดเจนและแน่นอน ทำให้ชุมชนมีการเตรียมพร้อมและตั้งรับต่อสถานการณ์.ลมมรสุมได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันมีการแปรปรวนของลมมรสุมเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตต่อการประกอบอาชีพของท้องถิ่นเป็นการสืนเนื่อง

                                1.3  การเกิดภาวะน้ำท่วม การเกิดอุทกภัยของบางชุมชนมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนที่ขาดการวางแผนและดำเนินการอย่างรัดกุม มีการใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของที่ดิน รวมทั้งมีการขยายตัวของสิ่งปลูกสร้าง และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนเป็นอย่างมาก ทำให้ขาดพื้นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติที่เคยมือยู่ในอดีต รวมทั้งการกีดขวางต่อทิศทางและปริมาณการไหลของมวลน้ำที่มีอยู่ ทำให้เกิดการท่วมขังในบริเวณที่กว้างขวางและใช้เวลาการระบายน้ำจากพื้นที่ที่ยาวนานกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก

                                1.4  ความรุนแรงของกระแสลม ลมพายุและกระแสลมที่มีในท้องถิ่นเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่มีควบคู่กับวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งอยู่แล้วมาแต่อดีต ซึ่งชุมชนได้มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่แล้วทั้งในด้านวิถีชีวิตการประกอบอาชีพ การก่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมทั้งสาธารณูปโภคอื่นๆ เพียงแต่ในปัจจุบันลมพายุมีแนวโน้มว่ามีความรุนแรงมากขึ้น  อาจเนื่องจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และกิจกรรมบางด้านของมนุษย์ทำให้ขาดสิ่งกีดขวางและปะทะความรุนแรงของกระแสลม

                                1.5  ความแปรปรวนของฤดูกาล เป็นที่ประจักษ์กันเป็นอย่างดีว่าประเทศไทยและชุมชนทุกภูมิภาค รวมทั้งชุมชนชายฝั่งประสบภาวะการแปรปรวนของฤดูการที่มีการแปรผันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของฝนที่มักตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล รวมทั้งปริมาณของฝนที่ขาดความแน่นอน บางช่วงเกิดภาวะแห้งแล้ง แต่บางช่วงมีฝนตกในปริมาณที่มากเกินปกติ ส่งผลอย่างยิ่งต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งอาชีพอื่นๆ.ของชุมชนชายฝั่ง

                                1.6  การเกิดภาวะโลกร้อน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าในทุกภูมิภาคของโลกต้องประสบปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในหลายๆ ด้าน ทั้งความแปรปรวนของลมมรสุม การเกิดภาวะน้ำท่วม ความรุนแรงของกระแสลม ความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเกิดภัยแล้ง รวมทั้งภัยพิบัติในรูปแบบอื่นๆ ทั้งนี้ได้ส่งผลเสียหายต่อชุมชนชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย

                                1.7  การพัฒนาของภาครัฐ หน่วยงานทางราชการต่างมีการกำหนดนโยบายและดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่มุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น หากแต่ว่ากิจกรรมที่ดำเนินการในบางครั้งมิได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง สืบเนื่องจากการละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของชุมชน  รวมทั้งขาดการบูรณาการ การดำเนินการกันเองระหว่างหน่วยงานและชุมชน นอกจากจะพบว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้แล้ว ยังพบว่าในบางชุมชนมีการขัดแย้งกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานอีกด้วย

 

                2.   กิจกรรมที่ดำเนินการ ในการปรับตัวของชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งได้มีการรวมตัวกันดำเนินงานกันเองของชุมชนและการสนับสนุนช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และองค์กรเอกชน ในลักษณะของการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่าย ซึ่งได้มีการดำเนินกิจกรรมหลายด้านตามความเหมาะสมและศักยภาพของท้องถิ่น กิจกรรมสำคัญได้แก่

                                2.1  การฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน ชุมชนได้จัดกิจกรรมการฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งจะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อทรัพยากรชายฝั่งและวิถีชีวิตของชุมชนเป็นการต่อเนื่อง พบว่ามีการปลูกป่าชายเลนในโอกาสสำคัญ เช่น วันเฉลิมพระชนพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าราชินีนาถ การเพาะชำป่าไม้ของชุมชน การอนุรักษ์ป่าชายเลนในรูปแบบป่าชุมชนของหมู่บ้าน การปลูกกล้วยไม้ในป่าชายเลน

                                2.2  การอนุรักษ์ทรัพยากรประมงและชายฝั่ง สัตว์น้ำหลายชนิดของชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ลดลงทั้งในด้านชนิดและปริมาณ รวมทั้งคุณภาพ นอกจากนี้พบว่าสัตว์น้ำบางชนิดได้มีการสูญหายไปจากพื้นที่ของชุมชน ส่งผลต่ออาหารของชุมชนและรายได้จากการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก จึงได้มีการกำหนดกิจกรรมบางด้านขึ้น เพื่อมุ่งหวังในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์น้ำเหล่าขึ้น เช่น การจัดทำธนาคารปู การอนุรักษ์พันธุ์พะยูน เต่าทะเลและโลมา การป้องกันแนวหญ้าทะเลและสัตว์น้ำวัยอ่อน การกำหนดรูปแบบการใช้เครื่องมือประมงในการจับสัตว์น้ำ

                                2.3  การปรับตัวด้านวิถีชีวิตและอาชีพ วิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งเกือบทั้งหมดพึ่งพาอาชีพทำประมงและจับสัตว์น้ำมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศรวมทั้งสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในบางครั้งรายได้จากการประมงและจับสัตว์น้ำมีแนวโน้มว่าลดลงและไม่เพียงพอต่อชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัว จึงมีการจัดทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การปลูกพืชเกษตร การแปรรูปสัตว์น้ำ การปรับปรุงระบบการเกษตรในชุมชน รวมทั้งการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในด้านการประกอบอาชีพอีกด้วย

                2.4  การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน การรวมตัวของกลุ่มขึ้นมาในชุมชนชายฝั่ง ที่นอกจากจะมุ่งหวังในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในกลุ่มแล้ว ยังพบว่าบางกลุ่มได้คำนึงถึงความอยู่รอดและความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งได้กำหนดกิจกรรมบางด้านเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้มีภัยคุกคามทั้งทางเศรฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้พยายามมีการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่สมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน เช่น การจัดตั้งกลุ่มเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ การฟื้นฟูข้าวพันธุ์พื้นเมือง เครือข่ายเด็กป่าชุมชน การส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน การจัดตั้งอาสาสมัครในชุมชนเป็นต้น

 

                3.   การบริหารการจัดการกองทุน แนวความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนของกลุ่มและชุมชน ได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนในการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มและกิจกรรมอื่นๆ ภายในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากเป็นการช่วยลดภาระหนี้สินให้แก่สมาชิกแล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้เป็นผลตอบแทนได้อีกทางหนึ่งด้วย

                                3.1  สภานภาพของกองทุน การจัดตั้งกองทุนมีทั้งที่ชุมชนริเริ่มดำเนินการเองและการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก จำนวนเงินที่มีของกองทุนแตกต่างกันไปตั้งแต่ระดับ เงินจำนวนหลักหมื่นบาทจนถึงหลายล้านบาท โดยมีระยะเวลายาวนานกว่าสิบปี แต่บางชุมชนเพิ่งก่อตั้งกันได้ไม่นาน

                                3.2  การดำเนินงานของกองทุน กองทุนที่จัดตั้งขึ้นมักมีการกำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างการบริหารงาน การระดมเงินทุน การบริหารเงินทุน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ดำเนินงานแล้วอาจมีการปรับเปลี่ยนในบางประเด็น เพื่อให้มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากยิ่งขึ้น

                                3.3  กิจกรรมของกองทุน นอกจากจะมีกิจกรรมการให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกับสมาชิกของกลุ่มแล้ว บางกองทุนอาจมีการกำหนดกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้สมาชิก การช่วยเหลือด้านหนี้สินให้แก่สมาชิก รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาชุมชน เช่น การบริจากช่วยเหลือผู้ประสบภัย การส่งเสริมบทบาทเยาวชน การอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและทะเล การรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน

                                3.4  การพัฒนาศักยภาพของกองทุน เพื่อให้เกิดการบริหารงานจัดการกองทุนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บางกองทุนได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การจัดทำผลิตภัณฑ์จำหน่าย การจัดสร้างอาคารทำการ การขยายเครือข่ายการดำเนินงาน การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กองทุน ตลอดทั้งการเชื่อมโยงกับการดำเนินกิจกรรมของชุมชนในด้านต่างๆ

 

4.   บทบาทของผู้หญิงต่อการพัฒนาชุมชน ในอดีตที่ผ่านมาการดำเนินงานจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการพัฒนาชุมชนของผู้หญิงมักถูกมองข้ามและละเลยถึงความสำคัญ ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงมักมีบทบาทแต่เพียงความรับผิดชอบกิจกรรมภายในครอบครัวในด้านการประกอบอาหาร การดูแลบ้านเรือนและการเลี้ยงดูบุตรหลานเท่านั้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้หญิงในสังคมไทย โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชนเพิ่มขึ้น ดังนี้

                                4.1  บทบาทในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แต่เดิมผู้หญิงอาจมีหน้าที่เฉพาะด้านการเตรียมอุปกรณ์ สถานที่และอาหารเท่านั้น ปัจจุบันหลายชุมชนพบว่าผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการจัดการ แม้แต่กิจกรรมที่อาจไม่เหมาะสมกับเพศสภาพของผู้หญิงนัก เช่น การปลูกป่า การลาดตระเวนพื้นที่

                                4.2  บทบาทในการพัฒนาอาชีพ หลายชุมชนพบว่าผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาอาชีพของชุมชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพเสริมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่ง เช่น การแปรรูปสัตว์น้ำ การทำกะปิ น้ำปลา การทำของที่ระลึกและอาชีพเสริมอื่นๆ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาในชุมชน ที่นอกจากจะช่วยเหลือด้านการหนี้สินแล้ว ยังส่งเสริมอาชีพให้สมาชิก รวมทั้งคนอื่นๆ ในชุมชน ตลอดทั้งการช่วยเหลือในด้านสาธารณกุศล.เช่น การเกิดภัยพิบัติต่างๆ การจัดกิจกรรมของโรงเรียน

                                4.3  ศักยภาพการทำงาน เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า การทำงานในบางด้านผู้หญิงมีศักยภาพเหนือกว่าผู้ชาย เช่น การจัดทำบัญชีค่าใช้จ่าย การประสานงานจัดการกองทุนชุมชน การเย็บปักถักร้อย รวมทั้งงานที่ต้องการความปราณีตเรียบร้อย ดังนั้นจึงควรมีการจัดแบ่งหน้าที่ที่เหมาะสมให้ผู้หญิงได้มีบทบาทและความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมทั้งด้านอื่นๆ ในชุมชนควบคู่ไปกับเพศชายเสมอ

                                4.4  การส่งเสริมคุณค่าของผู้หญิง ในบางชุมชนที่อาจยังมองข้ามถึงความสำคัญของผู้หญิงต่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ควรให้มีการทบทวนและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในด้านต่างๆ ให้เท่าเทียมกับผู้ชาย ทั้งนี้อาจมีการมอบหมายงานให้รับผิดชอบตามความเหมาะสมกับเพศสภาพหรือความถนัดในการทำงาน ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ซึ่งจะร่วมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น


Last updated: 2013-04-04 20:59:06


@ การปรับตัวของชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ การปรับตัวของชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,269

Your IP-Address: 18.117.196.217/ Users: 
1,268