กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
ความกลัวเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์
 
     
 
ขบวนการป่าชุมชนและการช่วงชิงการนิยามความหมายป่าชุมชน (พ.ศ. 2530-2553)
คำว่า ป่าชุมชนถูกทำความเข้าใจและถูกตีความต่างกันระหว่างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้าน และนักวิชาการ ซึ่งมีมุมมอง ความเชื่อ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
 

ขบวนการเคลื่อนไหวให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้จากภาครัฐไปสู่ภาคประชาชนเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในช่วงต้นทศวรรษ 2530

โดยบทความชิ้นนี้เรียกขบวนการนี้ว่า“ขบวนการป่าชุมชน” หากกล่าวแบบย่อๆ ขบวนการป่าชุมชนเป็นขบวนการภาคประชาชนที่เรียกร้องให้กรมป่าไม้ซึ่งมีความชอบธรรมตามกฎหมายในการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้แต่เพียงหน่วยงานเดียวเกิดการยอมรับการดำรงอยู่ของชุมชนและสิทธิชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ และทำการมอบอำนาจให้ชุมชนเหล่านี้ในการดูแลรักษาทรัพยากรของตนเองในรูปแบบ “ป่าชุมชน”


อย่างไรก็ตาม คำว่า ป่าชุมชนถูกทำความเข้าใจและถูกตีความต่างกันระหว่างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้าน และนักวิชาการ ซึ่งมีมุมมอง ความเชื่อ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติหรือชุมชนกับทรัพยากรป่าไม้

ซึ่งแต่ละบุคคล กลุ่ม หรือหน่วยงาน ต่างก็พยายามที่จะนิยามความหมาย “ป่าชุมชน” ที่สะท้อนความเชื่อ ความรู้และอุดมการณ์ดังกล่าว เนื้อหาในส่วนนี้พยายามนำเสนอภาพการเมืองว่าด้วยการนิยามและให้ความหมายป่าชุมชนของบุคคล กลุ่มคน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยนำเสนอผ่านกรณีศึกษา


การยกร่างและผลักดันกฎหมายป่าชุมชนระหว่างปี พ.ศ. 2532-2551 ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2534 กรมป่าไม้ได้ยกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้นตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ

คณะกรรมการฯ เห็นว่ากรมป่าไม้ขาดนโยบายที่ชัดเจนสำหรับการส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นปลูกต้นไม้ในรูปแบบป่าชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบที่กรมป่าไม้ได้เริ่มดำเนินการมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว

ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติป่าชุมชน เพื่อเป็นกรอบในการส่งเสริมและพัฒนาป่าชุมชน และเพื่อให้แนวทางการส่งเสริมป่าชุมชนของรัฐมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต่อมากรมป่าไม้จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้น และได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรภายในปีเดียวกัน และร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบและอนุมัติในหลักการจากสภาผู้แทนราษฎร


อย่างไรก็ดี ร่างพระราชบัญญัติของกรมป่าไม้ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการคัดค้านจากภาคประชาชนซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายนักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้าน และนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติและมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนและชาวบ้านปลูกป่า แต่กลับมองข้ามการรับรองสิทธิของชุมชนในการคุ้มครองและรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น

ทางเครือข่ายซึ่งประสานงานโดยมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติจึงเคลื่อนไหวและยื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับของกรมป่าไม้ และทางเครือข่ายภาคประชาชนได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้นมาเช่นกัน และพยายามนำเสนอร่างพระราชบัญญัติที่จัดทำขึ้นคู่ขนานไปกับฉบับร่างของกรมป่าไม้

ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชา มีความพยายามในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่สะท้อนความต้องการของทุกฝ่ายผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์

โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นจัดให้มีการประชาพิจารณ์พระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้นในเดือนเมษายน 2539 ที่โรงแรมสวนบัว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป่าชุมชน มีผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ 300 คน

ผลจากการประชุมและประชาพิจารณ์ครั้งนั้นได้เกิดร่างพระราชบัญญัติฉบับ “สวนบัว” ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และทางคณะกรรมการฯ มีความเห็นที่จะนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาพิจารณาออกเป็นกฎหมายป่าชุมชนต่อไป


แต่ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับสวนบัวได้รับการคัดค้านจากเครือข่ายของนักอนุรักษ์ซึ่งนำและประสานงานโดยมูลนิธิธรรมนาถ เนื้อหาหรือประเด็นในร่างพระราชบัญญัติที่ทางเครือข่ายนักอนุรักษ์ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งก็คือการอนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์

สิ่งที่นักอนุรักษ์กังวลหากอนุญาตให้มีการทำป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ก็คือป่าชุมชนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของพวกนายทุนที่จะทำการว่าจ้างชาวบ้านตัดไม้ในเขตป่าอนุรักษ์

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ เห็นด้วยกับหลักการทั่วไปของป่าชุมชนและสนับสนุนการส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นจัดทำป่าชุมชนในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าเสื่อมโทรมพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งรวมถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประมาณ 35 องค์กร

 

จึงได้เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่จะอนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2539-2551

กรอบการถกเถียงทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องป่าชุมชนถูกขีดวงด้วยคำถามหลักเพียงคำถามเดียว คือการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ทำได้หรือไม่

โดยกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มองว่าป่าชุมชนมีศักยภาพในการคุ้มครองและรักษาระบบนิเวศ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากป่านั้น นอกจากจะช่วยบรรเทาความยากจนแล้ว ยังจะนำไปสู่การอนุรักษ์และคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วยเพราะหากชาวบ้านได้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ตนเองพึ่งพิง ก็จะช่วยรักษาทรัพยากรเหล่านั้น


นอกจากนี้ผู้สนับสนุนยังอ้างถึงประเด็นสิทธิชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนผู้ที่คัดค้านมองว่าผืนป่าอนุรักษ์เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติและเป็นผืนป่าผืนสุดท้ายของประเทศไทย

ผืนป่าเหล่านี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ หากทำลายผืนป่าเหล่านี้ จะทำให้ชีวิตของคนไทยและประชากรโลกในอนาคตตกอยู่ในความเสี่ยง

จะเห็นได้ว่าทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการอนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ต่างก็หาเหตุผลมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับข้อเสนอในเรื่องป่าชุมชนและการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งหากพิจารณาอย่างผิวเผินอาจดูเหมือนว่าชุดการอธิบายและเหตุผลดังกล่าวน่าจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยฝ่ายหนึ่งยอมรับให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในขณะที่อีกฝ่ายคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

แต่จากการศึกษาของ Forsyth and Walker (2008) พบว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านต่างก็เห็นพ้องต้องกันในเชิงอุดมการณ์ที่ต้องการกีดกันระบบเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ และเห็นว่าเกษตรเชิงพาณิชย์เป็นภัยอันตรายต่อระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ในขณะเดียวกันทั้งฝ่ายที่สนับสนุนสิทธิชุมชนและเครือข่ายของนักอนุรักษ์ต่างชื่นชมกับระบบการเกษตรเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่เน้นการใช้พื้นที่ขนาดกว้างและปลอดสารเคมี

ฉะนั้น Forsyth และ Andrew จึงสรุปว่ากรอบการถกเถียงเรื่อง “คนกับป่า” หรือพระราชบัญญัติป่าชุมชนในสังคมไทยไม่น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องคนกับป่า โดยเฉพาะปัญหาของชุมชนที่อาศัยในเขตป่าต้นน้ำและพื้นที่สูง

เนื่องจากกรอบการถกเถียงดังกล่าวมักมองชุมชนบนที่สูงแบบคู่ตรงข้าม กล่าวคือชุมชนที่รักษาป่าและชุมชนที่ทำลายป่า

ทั้งนี้ จากการศึกษาของนักวิชาการดังกล่าว สามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ว่ากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันป่าชุมชนในสังคมไทยมักจะมองชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นแบบหยุดนิ่ง ตายตัว และค่อนข้าง “โรแมนติก”

กล่าวคือ มักจะมองว่าระบบเศรษฐกิจและการผลิตของชาวบ้านเน้นเพื่อการยังชีพ มีองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมักจะมองว่าการผลิตเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ซึ่งมุมมองดังกล่าวมักไม่สะท้อนความเป็นจริงของชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตอยู่ตลอดเวลาขบวนการป่าชุมชนในสังคมไทยมาถึงจุดอวสานในเดือนพฤศจิกายน 2551 เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน

ซึ่งเนื้อหาขอพระราชบัญญัติที่ผ่านการอนุมัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้เฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เท่านั้น และไม่มีการอนุญาตให้มีการทำไม้ในเขตป่าชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ กลุ่มที่สนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์มองว่าพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับนี้ละเมิดสิทธิชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่า 20,000 ชุมชนทั่วประเทศ

เพราะแม้ว่าชุมชนเหล่านี้ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่พวกเขายังคงต้องพึ่งพาทรัพยากรในเขตป่าอนุรักษ์เพื่อการดำรงชีพ

ดังนั้น กลุ่มที่สนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ นำโดยเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา (ในขณะนั้น) จึงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชนหรือไม่

ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2552 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคสาม เนื่องจากการออกเสียงของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ครบองค์ประชุม

จะเห็นได้ว่า “ป่าชุมชน” เป็นวาทกรรมที่ถูกนำเสนอในฐานะทางเลือกในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เป็นวาทกรรมที่ยังมีการโต้แย้ง ถกเถียง และยังไม่ตกผลึก ป่าชุมชน ถูกตีความ นิยาม และให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งล้วนสะท้อนความเชื่อ ความรู้ และอุดมการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับทรัพยากรป่าไม้

ทั้งนี้ การช่วงชิงการนิยามและกำหนดความหมายป่าชุมชนของแต่ละฝ่ายนั้นก็เพื่อให้ชุดความเชื่อ ความรู้ และอุดมการณ์ของตนเองได้รับการยอมรับจากผู้กำหนดนโยบาย และแปลงชุดความเชื่อและความรู้เหล่านั้นออกมาในรูปของกฎหมายป่าชุมชน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยยังไม่มีกฎหมายป่าชุมชน แต่ในทางปฏิบัติ มีชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งได้ปรับใช้วาทกรรมป่าชุมชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองในการควบคุมและจัดสรรทรัพยากรในท้องถิ่น ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาจัดการป่าชุมชนมักได้รับการยอมรับจากสังคมและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในฐานะผู้ปกป้องและรักษาทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ดังกรณีป่าชุมชนห้วยแก้ว


Last updated: 2012-12-10 09:03:41


@ ขบวนการป่าชุมชนและการช่วงชิงการนิยามความหมายป่าชุมชน (พ.ศ. 2530-2553)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ขบวนการป่าชุมชนและการช่วงชิงการนิยามความหมายป่าชุมชน (พ.ศ. 2530-2553)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,405

Your IP-Address: 3.238.135.30/ Users: 
1,404