การส่งเสริมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว
การปลูกต้นไม้ในรูปแบบของการเกษตรกรจึงเป็นระบบที่นำเอาต้นไม้อเนกประสงค์นานาชนิด มาปลูกไว้ในบริเวณบ้านเรือน จัดเป็นระบบทรัพยากรธรรมชาติในระดับฟาร์มที่ทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวาและเข้มแข็งมากขึ้น
การปลูกป่าจัดว่าเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะต้องใช้เวลานานหลายปีจึงจะได้รับผลตอบแทนจากการปลูกไม้นั้น ๆ ถ้าการปลูกป่าที่มีการลงทุนค่อนข้างสูงจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและจะต้องวิเคราะห์การลงทุนว่าคุ้มทุนมากน้อยเพียงใด ตลอดจนค่าเสียโอกาสและดอกเบี้ยทั้งหมดตลอดระยะเวลาก่อนถึงเวลาตัดไม้มาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ถ้าผู้ปลูกเป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีพื้นที่จำกัดและต้องยังชีพจากผลผลิตพืชเกษตรรายปีจะได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในระยะแรกอย่างมาก เนื่องจากขาดรายได้ระหว่างปี ถ้าเกษตรกรใช้พื้นที่ทั้งหมดเพื่อการปลูกป่าเพียงอย่างเดียว หรือปลูกไม้เพียงชนิดเดียว
นั่นคือความเสี่ยงของเกษตรกรต่อการปลูกป่า นอกจากจะเสี่ยงต่อปัญหาเทคนิคต่าง ๆ ข้างต้น กล่าวคือ การเลือกชนิดไม้ปลูกไม่เหมาะสมกับพื้นที่ การใช้พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกป่า ปัญหาด้านโรคและแมลงทำลาย ปัญหาเกี่ยวกับไฟป่า และปัญหาด้านการปลูกและการบำรุงรักษาป่า ถึงแม้ว่าเกษตรกรหรือผู้ปลูกสามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าวได้หมดสิ้นแล้วก็ตาม แต่ยังคงต้องเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตในระหว่างที่รอจนกว่าจะตัดไม้ที่ปลูกนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี ถ้าเป็นไม้โตเร็ว หรือ 10-15 ปี ถ้าเป็นไม้โตเร็วปานกลาง และ 15-20 ปี ถ้าเป็นไม้ประเภทโตค่อนข้างช้า ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกป่าตามโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลจะให้การส่งเสริมจึงควรนำเทคนิค
ด้านวนเกษตรไปใช้ โดยประยุกต์วิธีการทางวนเกษตรที่หลากหลายมาใช้การปลูกต้นไม้ในพื้นที่เกษตรกรรมร่วมกับการปลูกพืชเกษตรนานาชนิด เป็นรูปแบบซึ่งชาวชนบทดั้งเดิมได้ปฏิบัติมาช้านานเพื่อการยังชีพ ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่จำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่เสื่อมโทรมลง อีกทั้งมีทางเลือกในการทำเกษตรน้อย จึงได้อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ต้นไม้ และใช้ประโยชน์จากต้นไม้มาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
การปลูกต้นไม้ในรูปแบบของการเกษตรกรจึงเป็นระบบที่นำเอาต้นไม้อเนกประสงค์นานาชนิด มาปลูกไว้ในบริเวณบ้านเรือน เปรียบเสมือนกับการสร้างป่าไว้ในบ้าน จัดเป็นระบบทรัพยากรธรรมชาติในระดับฟาร์มที่ทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวาและเข้มแข็งมากขึ้น จนสามารถที่จะสร้างผลผลิตหล่อเลี้ยงสังคมในท้องถิ่นได้ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในด้านการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาเป็นวนเกษตรนี้ จึงทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาระบบวนเกษตรที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่ขึ้นมากมาย จึงอาจจัดประเภทของการปลูกต้นไม้โดยเกษตรกรนี้ว่า รูปแบบวนเกษตรที่เน้นการพัฒนาฟาร์มเกษตรกรรม (farm-based agroforestry) เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี รัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของที่ดินป่าไม้โดยการปลูกสร้างสวนป่าซึ่งขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความอยู่รอดของเกษตรกรที่ยากจน ไร้ที่ดินทำกิน ให้เข้ามาร่วมกันปลูกป่าในรูปแบบวนเกษตรที่สามารถปลูกพืชเกษตรระยะสั้นควบในช่วงแรกของการเจริญเติบโตของต้นไม้ และปรับเปลี่ยนไปเป็นการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ หรือการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการปลูกป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในรูปแบบหมู่บ้านป่าไม้ หรือโครงการจัดที่ทำกินให้แก่ราษฏรในเขตป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ นอกจากนี้ การฟื้นฟูป่าของรัฐได้ดำเนินการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่เกษตรกรซึ่งมีที่ดินของตนเองเพื่อการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ ภายใต้ชื่อโครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม โครงการสามพันบาทต่อไร่ ที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปลูกไม้เศรษฐกิจแก่เกษตรกรไร่ละ 3,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 5 งวดในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายประสบผลสำเร็จในด้านการปลูกป่าในโครงการนี้ โดยการปลูกพืชเกษตรที่มีความหลากหลายทำให้เกิดรายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางอย่างต่อเนื่อง จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของวนเกษตรที่เน้นการป่าไม้ (forestry-based agroforestry) เป็นหลัก
วนเกษตรจึงเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของต้นไม้ในด้านการฟื้นฟูป่า และการสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร และส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน
Last updated: 2011-11-09 20:11:09
|
@ การส่งเสริมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ การส่งเสริมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว
|