"สังฆราช"*ปราชญ์วนา
.เกษตรศาสตร์ฯส่องหล้า หาปราชญ์
คุณเปี่ยมดุษฎีศาสตร์ ป่าไม้
ตระหนักค่าสังฆราช ลือเลื่อง เฟื่องไกล
ถวายท่านสรรค์พงให้ ไพร่ฟ้า นานา
.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เทิดเกียรติพระสังฆราชปราชญ์แห่งหล้า
น้อมถวายดุษฎีบัณฑิตปริญญา
สร้างสรรค์มาพาเลิศล้ำคุณความดี
.สามเณรราชบุรีก่อศรีศักดิ์
ด้วยใฝ่รักรสธรรมะมาเต็มที่
จวบเป็นพระศึกษาไปหลายด้านมี
เสริมชีวีปริญญาวิชาชาญ
.สร้างศรัทธามามากสุดจิตพุทธะ
อุตสาหะเผยแผ่ไปในทุกด้าน
จนเทศ-ไทยได้ซึ้งค่ามาเนิ่นนาน
งามตระการเกริกก้องครองใจคน
.ก่อชื่อเสียงเกรียงไกรในเหล่าสงฆ์
พ่อหลวงทรงตระหนักไปในมรรคผล
ธ โปรดเกล้าฯเป็นประมุขพาสุขล้น
ผองพุทธศาสนิกชนสนใจภักดิ์
.ด้วยสนใจจนเชี่ยวชาญการป่าไม้
ส่งเสริมให้คนเห็นจริงสิ่งประจักษ์
ป่าดงหนุนคุณค่าประโยชน์นัก
พาตระหนักรักษ์พงไพรหมายพึ่งพิง
.ทรงแนะนำ"คืนธรรมชาติสู่ธรรม"*ให้
เน้นป่าไม้สร้างคุณเกื้อหนุนยิ่ง
ผลพวงสู่การพัฒนาพาแอบอิง
พบความจริงตามวิถีที่ควรเป็น
.ทรงสรรค์"วัดเขาไกรลาศ"*พิลาสค่า
ศาสนาเคียงพงไพรให้พบเห็น
ความยั่งยืนด้วยนิเวศเขตร่มเย็น
สิ้นลำเค็ญพาพื้นที่ดีมากมาย
.ทรงนำพา"ธรรมจักรสีเขียว"*ศาสตร์
วัดร่วมราษฎร์รักษ์เขาพนผลเลิศหลาย
แหล่งศึกษาพาพำนักพักใจกาย
เป็นเป้าหมายไพร-ชุมชนคนประวิง
.ดุษฎีบัณฑิตวนศาสตร์
ถวายพระสังฆราชเปรื่องปราดยิ่ง
ซึ้งอาจารย์-เจ้าหน้าที่-นิสิตจริง
เป็นขวัญมิ่งอิงคณะค่าเลิศลอย
.สังฆราชเกียรติแกร่งกล้า
ขจรไกล
พาเหล่าเราชาวไพร ใหญ่น้อย
สุขสันต์ยั่งยืนไป เปรียบดั่ง เพชรพลอย
จิตพึ่งพึงงามพร้อย พี่น้อง วนศาสตร์
.คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(ครูนิด วน.43 ร้อยคำ)
หมายเหตุ
*สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อัมพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงมีพระดำริและส่งเสริมโครงการสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
จนบังเกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
แรงดลใจ:
ได้รับเกียรติและความไว้วางใจเป็นอย่างยิ่งจากคณะวนศาสตร์ให้ร้อยคำ
..."สังฆราช"ปราชญ์วนา"... ในการเทิดพระเกียรติ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อัมพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทูลถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(วนศาสตร์)
แด่พระองค์ท่าน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ได้รับการติดต่อจากผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์
ให้ดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566
เมื่อทราบว่าทางสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการประชุมครั้งที่ 6/2566 วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2566
ได้มีมติทูลถวายปริญญาแด่พระองค์ท่านดังกล่าว
ซึ่งได้ตระหนักว่าเป็นงานที่ตัวเองหนักใจและท้าทายมากเหลือเกิน
ได้พยายามศึกษาข้อมูลจากทั้งผลงานที่เกี่ยวข้องกับทางการป่าไม้ของพระองค์ท่านที่ทรงสร้างสรรค์มา
รวมทั้งผลงานประพันธ์ของท่านอื่นในโอกาสสำคัญทำนองเดียวกัน
เพื่อกำหนดกรอบการร้อยคำ ซึ่งได้ประสานงานกับท่านคณบดีคณะวนศาสตร์มาโดยตลอด
จนกระทั่งดำเนินการแล้วเสร็จซึ่งได้รับการตรวจสอบและเห็นชอบจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์
เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
จากการศึกษาข้อมูลสำคัญที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กล่าวถึงจุดเด่นของสมเด็จพระสังฆราชฯที่ทรงมีต่อการป่าไม้ที่ผ่านมาสรุปได้ดังนี้
"...ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญ
ทั้งทางด้านพระพุทธศาสนา การศึกษา สังคม รวมถึงทำนุบำรุงศาสตร์ด้านต่าง ๆ
โดยเฉพาะด้านวนศาสตร์
ซึ่งพระสังฆกรณียกิจจานุกิจเหล่านั้นล้วนเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า
ทั้งนี้
ทรงพระกรุณาประทานพระดำริและทรงประกอบพระกรณียกิจไว้เป็นอเนกปริยายในด้านวนศาสตร์
ได้แก่ ระบบนิเวศ (Ecosystem) ซึ่งเป็นแก่นของวิชานิเวศวิทยาป่าไม้
(Forest ecology) หนึ่งในหัวใจหลักของวิชาการทางด้านวนศาสตร์
(Forestry) กับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พระองค์ทรงมีปฏิปทาเป็นทั้ง
นักป่าไม้ และ ครูป่าไม้ ผู้มีคุณธรรมสูงยิ่ง
ดังจะเห็นได้จากวัตรปฏิบัติที่ทรงผูกพันกับวัดป่าและภูมิสถานป่ามาอย่างยาวนาน
เจ้าพระคุณ
สมเด็จพระสังฆราช ยังทรงสนพระทัยด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งน้ำ
พัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน อีกทั้งปลูกฝังค่านิยมและคุณธรรมจริยธรรมให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันดำเนินการตามแนวทาง
โครงการคืนธรรมชาติสู่ธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ หรือ Green Buddhism for Sustainable
Development ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนาน
สาธุชนจำนวนมากร่วมกันปลูกป่า ปลูกต้นไม้ คืนธรรมชาติสู่ความอุดมสมบูรณ์แนวคิดต่าง
ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าพระองค์มีความรู้ความใจในเรื่องการอนุรักษ์ (Conservation)
ไม่ว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ หรือ
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ
รวมทั้งทรงมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ (Forest restoration)
ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ให้ความสำคัญกับ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable
development) อันเป็นแนวคิดทางด้านวนศาสตร์ที่สำคัญมาก อาทิ
วัดเขาไกรลาศ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นกรณีศึกษาในการนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เป็นศาสนสถานที่อยู่คู่กับธรรมชาติและชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช
โปรดประทานพระดำริในการดำเนินโครงการโครงการธรรมจักรสีเขียว ไว้ให้กับกรมป่าไม้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมอบรางวัลให้แก่วัด ชุมชน และราษฎรในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในงานด้านป่าไม้
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกป่า การป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า
การบำรุงดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้อง..."
ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าคณะวนศาสตร์รู้สึกมีความภาคภูมิใจและปลื้มปิติต่อการทูลถวายปริญญาครั้งนี้
กับทั้งเชื่อมั่นว่าเป็นศิริมงคลต่อชาววนศาสตร์และวงการป่าไม้ของประเทศอย่างใหญ่หลวงนัก
Last updated: 2023-10-21 15:58:47